Huawei เครียด “ชิป” ผลิตอุปกรณ์ในโครงข่ายโทรคมนาคมยังมีพอ แต่ที่ใช้สำหรับผลิตสมาร์ทโฟนส่อแววไม่พอ หลังจากสิ้นปีนี้ไป อาจไม่ได้ใช้ชิประดับสูงอย่าง Kirin อีกแล้ว หลังสหรัฐฯ กีดกันไม่ให้ Qualcomm ผู้ผลิตชิปทำการค้าด้วย นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบ Harmony OS แทนในมือถือ Huawei ทุกรุ่น
Huawei Technologies ยักษ์เทคโนโลยีจีน และเหยื่อรายใหญ่รายแรกในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เปิดเผยว่าบริษัทมีซัพพลายชิปเพียงพอสำหรับธุรกิจอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคม แต่ไม่เพียงพอสำหรับผลิตโทรศัพท์มือถือ และต้องการจะซื้อซัพพลายใหม่จากบริษัทสหรัฐฯ ทั้งนี้ จะต้องได้รับ “ใบอนุญาต” จากเจ้าหน้าที่รัฐสหรัฐฯ ก่อน ตามกฎหมายใหม่ที่ออกมาเมื่อปี 2019
ความเดิมตอนที่แล้วคือเมื่อปี 2019 สหรัฐฯ มีการออกบัญชีดำที่เรียกว่า Entity List ห้ามมิให้บริษัทอเมริกันทำการค้ากับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อ และ Huawei เป็นหนึ่งในบริษัทเหล่านั้น โดยที่ Huawei ยังต้องพึ่งพาส่วนประกอบและซอฟต์แวร์จากสหรัฐฯ อยู่ ที่สำคัญที่สุดคือ “ชิป” จากบริษัท Qualcomm กับ TSMC และระบบปฏิบัติการ Android
บริษัทกล่าวว่า ยังคงมีการประเมินอยู่ว่าผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะส่งผลแค่ไหน หลังจากได้รับซัพพลายชิปลอตสุดท้ายเข้ามาเติมสต็อกในเดือนกันยายน
“สต็อกชิปเซ็ตสำหรับใช้กับธุรกิจเอนเตอร์ไพรซ์ (หมวดสินค้าที่เกี่ยวกับโครงข่ายโทรคมนาคม) นั้นมีเพียงพอ แต่บริษัทยังมองหาทางแก้ปัญหาชิปเซ็ตสำหรับใช้กับสมาร์ทโฟนอยู่ เนื่องจาก Huawei มีดีมานด์การใช้ชิปเซ็ตในสมาร์ทโฟนหลายร้อยล้านชิ้นทุกปี” Guo Ping กล่าวบนเวที Huawei Connect 2020 งานอีเวนต์ประจำปีของบริษัท
“ชิปเซ็ตของ Qualcomm จะยังใช้กับสมาร์ทโฟนของเรา ถ้าหากพวกเขาได้ใบอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ Qualcomm เป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่ส่งซัพพลายชิปเซ็ตให้เรามานานมากกว่า 1 ทศวรรษ” Ping กล่าว
การบังคับใช้กฎหมาย “แบน” Huawei ออกจากสารบบการค้าของบริษัทเทคฯ อเมริกันเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้บริษัท Qualcomm และ TSMC ผลิตและส่งชิปให้ไม่ได้ นอกเสียจากจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ และการรับรองอนุญาตก็ดูเหมือนจะไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ แถลงการณ์ของ Huawei จะย้ำเสมอว่าบริษัทมีการสต็อกซัพพลายชิปเซ็ตเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม Richard Yu ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ (หมวดสินค้าที่เกี่ยวกับผู้บริโภครายย่อย) ของ Huawei กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เป็น “ความสูญเสียครั้งใหญ่” และบริษัทอาจจะไม่สามารถออกจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยีชิประดับไฮเอนด์ Kirin ได้หลังจากหมดสิ้นปีนี้
ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะยอมอนุญาตให้ Qualcomm กลับมาส่งชิปให้ Huawei ได้ก็ริบหรี่ “จากความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่พยายามกีดกันไม่ให้ Huawei พัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีระดับสูง เช่น 5G ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการแบนเรื่องชิปโทรศัพท์มือถือในระยะเวลาอันสั้นก็มีน้อยมาก” Arisa Liu นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมผลิตชิปจาก Taiwan Institute of Economic Research กล่าว
ด้านปัญหาซอฟต์แวร์ Huawei กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า บริษัทกำลังเตรียมตัวปรับระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนทั้งหมดของค่ายมาใช้ Harmony OS ซึ่งเป็นระบบของบริษัทเอง แทนที่ระบบ Android ที่บริษัทเคยใช้มาตลอด
ธุรกิจสมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจกลุ่มคอนซูเมอร์ของ Huawei ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสัดส่วนใหญ่ที่สุดในบริษัท ธุรกิจกลุ่มนี้สร้างรายได้ 3.65 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกปี 2020 และสมาร์ทโฟน Huawei สามารถเอาชนะ Samsung แซงขึ้นเป็นเบอร์ 1 ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลกเรียบร้อยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยคว้าส่วนแบ่งตลาดไป 19% ส่วน Samsung มีส่วนแบ่งตลาด 17%
หลังจาก Huawei เป็นเหยื่อรายแรกในสงครามเทคโนโลยีของจีน-สหรัฐฯ บริษัทอื่นๆ ก็ถูกโจมตีตามมาอีกเป็นพรวน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท AI อย่าง Megvii และ SenseTime หรือกลุ่มแอปพลิเคชันดัง เช่น TikTok, WeChat ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันคือ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” เพราะมีการส่งข้อมูลชาวอเมริกันกลับไปให้รัฐบาลจีน โดยที่บริษัทเทคโนโลยีจีนทั้งหมดในลิสต์ถูกแบนต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นเสียงเดียวกัน