เปิดตำนาน 15 ปี “Easy Money” โรงรับจำนำเจ้าใหญ่ ทรานส์ฟอร์ม “โรงตึ๊ง” สู่สถาบันสินเชื่อ

โรงรับจำนำอยู่กับคนไทยมาหลายยุคหลายสมัยเศรษฐกิจจะดีหรือเเย่ ก็สามารถมองผ่านเลนส์ของธุรกิจโรงรับจำนำได้

จากภาพจำเดิมๆ ที่เคยน่ากลัวในวันวาน การไปโรงรับจำนำในวันนี้ ถูกดิสรัปชันให้ทันสมัย ผู้คนรู้สึกสบายใจเหมือนไปทำธุรกรรมที่ธนาคารมากขึ้น

เล่าถึงโรงรับจำนำแห่งแรกในไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2409 เป็นโรงรับจำนำของชาวจีน ที่มีชื่อว่าย่องเซี้ยงปัจจุบันคือโรงรับจำนำสำราญราษฎร์ ย่านประตูผี แต่มีอีกหลักฐานระบุว่าโรงรับจำนำ อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ช่วงเเรกที่ย่องเซี้ยงเปิดให้บริการนั้นได้รับความนิยมมาก ทำให้มีโรงรับจำนำเจ้าอื่นๆ ผุดขึ้นตามอีกมากมายหลายร้อยเเห่ง ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ต่อมาโรงรับจำนำของรัฐแห่งแรกก็ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2498

ในปัจจุบัน โรงรับจำนำทั่วประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 800 แห่ง แบ่งเป็นของรัฐประมาณ 300 แห่ง และของเอกชนราว 500 แห่ง มูลค่าตลาดรวมกว่า “เเสนล้านบาท” ซึ่งรวมถึงธุรกิจขายฝากที่ทำในร้านทองเเละร้านรับซื้อของเก่าต่างๆ ด้วย เติบโตราว 10% ต่อปี

ด้วยความที่ “รายได้” ของโรงรับจำนำมาจาก “ดอกเบี้ย” เป็นหลัก ดังนั้นการที่มีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ก็คือการเติบโตของธุรกิจนี้ ทำให้ต้องงัดกลยุทธ์ใหม่ๆ มาดึงใจลูกค้า ยิ่งในยุคเทคโนโลยีเเล้ว การปรับตัวของธุรกิจดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อต้องสู้กับตลาดที่มีการฟาดฟันเเละเเข่งขันสูง…ธุรกิจโรงรับจำนำ จึงไม่ใช่ “เสือนอนกิน” อีกต่อไป 

Positioning เจาะลึกธุรกิจโรงรับจำนำในหลายเเง่มุมใกล้ตัวเรา พร้อมเปิดตำนาน 15 ปี “Easy Money” (อีซี่ มันนี่) โรงรับจำนำเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย กับการเปลี่ยนผ่านสู่สถาบันสินเชื่อทางเลือก” ในศึกเงินด่วนยุคดิจิทัล

15 ปี “Easy Money” เเก้ Pain Point ขอกู้ยาก 

โรงรับจำนำ Easy Money ของบริษัท ตั้งธนสิน จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 โดย “สิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ” นายธนาคารผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อ จากการมองเห็น “ช่องว่างของตลาด” เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีโรงจำนำที่มีรูปแบบร้านที่ทันสมัยเเละเข้าถึงง่ายเลย อีกทั้งต้องการเเก้ Pain Point ของผู้ขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ในยุคนั้น ที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เอกสารเยอะ พิจารณานานเเละอาจจบที่ไม่ผ่านกู้ โดยที่มาของชื่อ Easy Money ก็เเปลความหมายตรงตัวว่าลูกค้าจะได้ “เงินเเบบง่ายๆ” นั่นเอง

โดยจุดเด่นของโรงรับจำนำ คือความน่าเชื่อถือ ดอกเบี้ยถูก ขั้นตอนน้อย ได้เงินง่าย (ถ้าของที่จำนำผ่าน) ถือเป็นการเเปลงทรัพย์สินเป็นทุนที่รวดเร็ว เมื่อเทียบกับสินเชื่อเเบบอื่นๆ เเละยังมีความใกล้ชิดชุมชนมากกว่า เช่น เเม่ค้าในละเเวกนั้นเอาของมาจำนำตอนเช้า นำเงินไปหมุน-แก้ปัญหา ตกเย็นขายของได้ก็มาไถ่คืน

“ตอนนั้นมองว่าธุรกิจโรงรับจำนำ ไม่จำเป็นต้องเจาะกลุ่มลูกค้าคนจน-รายได้ต่ำเสมอไป เป็นช่องว่างตลาดที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังพนักงานออฟฟิศ ที่ต้องการเสริมสภาพคล่อง เเละผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเงินหมุนในธุรกิจ”

โรงรับจำนำ Easy Money สาขาแรกเปิดตัวที่เมืองรังสิต จ.ปทุมธานี เมื่อปี 2548 ช่วงเเรกมีพนักงานเริ่มต้นเพียง 10-20 คน ขยายตัวมาเรื่อยๆ จนตอนนี้มีพนักงานกว่าพันคน พร้อมสาขาปัจจุบัน 54 แห่งใน 30 จังหวัดครบทุกภาค เเละยังมีร้านจำหน่ายสินค้าหลุดจำนำภายใต้ชื่อ Easy Money Shop อีก 2 แห่ง ที่เซ็นทรัลพระราม 3 และที่นครราชสีมา

การขยายสาขาของ Easy Money นั้นเน้นไปต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ เพราะมองว่าในกรุงเทพฯ มีโรงรับจำนำอยู่จำนวนมากแล้ว โดยมีการลงทุนประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าจะมีการขยายอีก 2 สาขาเป็น 56 สาขาใน 31 จังหวัด

Easy Money เป็นโรงรับจำนำที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย มีกระแสเงินหมุนเวียนเฉลี่ยเดือนละ 2,000-3,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี (ก่อนวิกฤต COVID-19) มีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ย รายได้รองคือ การขายสินทรัพย์หลุดจำนำ ผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่

  • ปี 2560 รายได้ 1,439.66 ล้านบาท กำไร 23.49 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 1,615.69 ล้านบาท กำไร 33.25 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 1,768.58 ล้านบาท กำไร 39.14 ล้านบาท

ใครคือลูกค้า “โรงรับจำนำ” ? 

กลุ่มลูกค้าของ Easy Money ปัจจุบันมีอยู่หลายแสนราย เเบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ พนักงานเงินเดือนเเละผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ล่าสุดมีสัดส่วนเป็นพนักงานเงินเดือน 75% เเละ SME 25% เติบโตจากปี 2561 ที่มีสัดส่วนพนักงานเงินเดือน 77% เเละ SMEs 23%

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็น “พนักงานเงินเดือน” เป็นกลุ่มที่เน้นนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ชอบเก็บออมทรัพย์สินในรูปแบบของเครื่องประดับเเละทองคำ โดยพฤติกรรมการไถ่ถอนทรัพย์จะเป็นไปตามฤดูกาล เช่นช่วงปลายเดือนธันวาคม ที่มีโบนัสออก ช่วงตรุษจีนเเละเทศกาลสงกรานต์ จะมีการมาไถ่ถอนมาก ขณะช่วงใกล้เปิดเทอมก็จะมีการนำมาจำนำมากเป็นพิเศษ เพื่อนำเงินไปใช้ในการศึกษาของบุตรหลาน

ส่วนกลุ่มลูกค้า “SME” จะเเตกต่างกับพนักงานเงินเดือน เพราะต้องการนำเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจ ต่อยอดการลงทุน เเละสต๊อกสินค้า หรือใช้เสริมสภาพคล่องในช่วงที่รายรับรายจ่ายไม่สมดุลกัน

ยอดเงินเฉลี่ยของกลุ่มพนักงานเงินเดือนที่นำของมาจำนำคือ 20,000 บาทต่อคน เเละกลุ่ม SME อยู่ที่ 1 เเสนบาทต่อคน ในจำนวนนี้มีลูกค้าจากภาคกลางมากที่สุด

“ถ้ามีพ่อค้าเเม่ค้านำทรัพย์สินมาจำนำมากๆ เเสดงว่าช่วงนั้นเป็นโอกาสการค้าขายที่คึกคัก เศรษฐกิจดี จึงต้องการเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น พอมีรายได้เข้ามาก็รีบมาไถ่ถอน อันนี้จึงเป็นอีกปัจจัยที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้ว่าดีหรือซบเซา” สิทธิวิชญ์ระบุ

ลบภาพจำ…คนไม่กล้าเข้า “โรงตึ๊ง” 

ความท้าทายของธุรกิจโรงรับจำนำ ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมาของ Easy Money หลักๆ คือ การเปลี่ยนภาพจำในทางลบของผู้คนที่มีต่อโรงจำนำ หรือโรงตึ๊ง

“เเต่ก่อนคนมองว่า โรงจำนำกลายเป็นเรื่องน่าอาย ต้องเเอบไป หลายคนถึงขั้นยอมไปใช้บริการสินเชื่อจากที่อื่น ยอมเป็นหนี้บัตรเครดิต ยอมกู้นอกระบบ ทั้งที่ดอกเบี้ยของโรงรับจำนำถูกกว่าเยอะ” 

ในสมัยก่อน บรรยากาศของโรงตึ๊งนั้น จะมีกระจกทึบปิดบังประตูเข้าออก มีกรงเหล็กกั้นเเน่นหนา ดูไม่ค่อยเป็นมิตรเเละไม่น่าเข้าไปเท่าไหร่นัก ยิ่งมีข่าวลือถึงการถูก “กดราคา” ความไม่ปลอดภัยของทรัพย์สินที่อาจเสียหาย รวมไปถึงการ “ปั๊มหัวเเม่มือ” ด้วยหมึกสีน้ำเงินเห็นได้ชัด ยิ่งทำให้คนอับอายเเละไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ

เหล่านี้ทำให้ Easy Money ตั้งใจ “พลิกโฉม” โรงจำนำใหม่ ด้วยคอนเซ็ปต์ “เหมือนธนาคาร” คือตกแต่งให้ดูทันสมัย เปลี่ยนจากลูกกรงเหล็กเป็นเคาน์เตอร์กระจก โล่งสบาย เน้นสีสันสดใส มีที่นั่งเป็นสัดส่วน มีโซนของหลุดจำนำให้เเวะชมได้ระหว่างรอ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออกตั๋ว คิดและคำนวณดอกเบี้ย

มีมาตรฐานในการเก็บรักษาทรัพย์เทียบเท่าสถาบันการเงินชั้นนำ ใช้เทคโนโลยี Finger Scan เพื่อยืนยันตัวตนและความเป็นเจ้าของทรัพย์ แทนการปั๊มหัวแม่มือ ซึ่งเริ่มทำมาได้ 10 ปีเเล้ว เเละล่าสุดก็มีเเอปพลิเคชัน Easy Smart ที่ให้ลูกค้าส่งดอกเบี้ยออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องมาที่สาขา

จากนั้น “การเทรนด์พนักงาน” ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ในการลบภาพจำเก่าๆ ที่เจ้าหน้าที่มักจะดูไม่เป็นมิตร โดยพนักงานทุกคนจะต้องยิ้มเเย้ม ให้บริการด้วยใจ ไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกกลัวหรือกังวล เเละพนักงานต้อง “เชี่ยวชาญ” สามารถแยกแยะและประเมินทรัพย์สินได้อย่างแม่นยำ โดยทองที่นำมาจำนำจะได้รับเงินภายใน 3-5 นาที ส่วนทรัพย์สินประเภทอื่นจะใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 20-30 นาที

โดยเกณฑ์ทั่วไปในการประเมินราคาทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาจำนำ ได้เเก่ 1) สภาพคล่องทรัพย์สินในการขายทรัพย์ ซื้อมาขายไปได้ง่ายหรือไม่ 2) ราคาตลาดของทรัพย์ ณ ขณะนั้น เเละ 3) สภาพความสมบูรณ์ของทรัพย์ที่นำมาจำนำ

ความยากของธุรกิจโรงรับจำนำอีกอย่าง คือเรื่องพนักงาน เพราะต้องหาคนไว้ใจไว้ ซื่อสัตย์ มีทักษะ เป็นงานที่ต้องใช้ไหวพริบเยอะ ไม่จำกัดว่าต้องเรียนจบสาขาไหนมา เพราะบริษัทจะมีการเทรนนิ่งเฉพาะให้อยู่เเล้ว เเต่จะเน้นว่ามีเเนวคิด ทัศนคติเเละมุมมองที่จะก้าวไปด้วยกันได้หรือไม่

“ความยากของธุรกิจโรงรับจำนำคือการประเมินความเสี่ยง ประเมินราคา เพื่อใม่ให้เกิดความผิดพลาด เเม้คนอื่นจะมองว่าเป็น “เสือนอนกิน” มีความเสี่ยงน้อย เเต่ก็เคยมีคนนำของปลอม ของเก๊มาจำนำ โดยคนกลุ่มนี้มักจะมาช่วงเที่ยง เพราะใช้โอกาสที่คนเยอะ พนักงานยุ่ง ซึ่งจะเร่งรีบกว่าปกติ คนเหล่านี้จะคอยพูดเร่งพนักงานด้วย จึงต้องตั้งข้อสังเกตว่ามีความผิดปกติ”

โรงรับจำนำ ต้องมี Brand Ambassador?

ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนของธุรกิจโรงรับจำนำเลยทีเดียว เมื่อ Easy Money เปิดตัว “เข้ม หัสวีร์ ภัคพงษ์ไพศาล” พระเอกรุ่นใหม่แห่งช่อง 7 มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ในโอกาสครบรอบ 15 ปีเป็นครั้งเเรก จึงเกิดคำถามที่ว่า โรงจำนำควรต้องมี “คนดัง” เป็นพรีเซ็นเตอร์หรือไม่

สิทธิวิชญ์ มองว่า ถึงเวลาเเล้วที่ธุรกิจโรงจำนำ จะมีความทันสมัยเเละมีพรีเซ็นเตอร์เหมือน “เเบรนด์” ในธุรกิจอื่นๆ สร้างภาพจำใหม่ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่” มากขึ้นด้วย 

“เราเลือกคุณเข้ม เพราะเขาเป็นคนหนุ่มไฟแรง เต็มไปด้วยพลังในการทำงาน พึ่งพาได้ ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ที่เข้ากับแบรนด์ของ Easy Money คือ มีความเป็นมิตร เข้าถึงได้ง่าย และไว้วางใจได้ จึงเป็นเหมือนสื่อกลางระหว่าง แบรนด์กับลูกค้าที่จะทำให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักและเข้าใจธุรกิจของโรงรับจำนำ ให้มีความสนใจ Easy Money มากขึ้น อีกทั้งถือเป็นเอกลักษณ์ทางการตลาด สร้างความโดดเด่น เพราะเป็นโรงรับจำนำเจ้าเเรกที่มี Brand Ambassador”

เข้ม หัสวีร์ ภัคพงษ์ไพศาล

เทียบดอกเบี้ยโรงรับจำนำรัฐ VS เอกชน 

ตามที่กล่าวมาข้างต้นว่า โรงรับจำนำทั่วประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 800 แห่ง แบ่งเป็นของรัฐประมาณ 300 แห่ง และของเอกชนราว 500 เเห่ง โดยสามารถแบ่งเป็น

  • สถานธนานุเคราะห์ เป็นโรงรับจำนำของรัฐ จำนวน 39 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 29 แห่ง
  • สถานธนานุบาล โรงรับจำนำในรูปแบบสถานธนานุบาล จะเป็นโรงรับจำนำที่มาจาก 2 หน่วยงานคือ โรงรับจำนำของกรุงเทพมหานคร 21 แห่ง เเละโรงรับจำนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ 240 แห่ง
  • โรงรับจำนำเอกชน จำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ

ตามกฎหมายกำหนดให้ตั๋วจำนำมีอายุ 4 เดือน บวกระยะเวลาไถ่ถอนอีก 30 วัน (รวม 5 เดือน) โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพดานอยู่ที่ 1.25% ต่อเดือน

สำนักงานสถานธนานุเคราะห์ (อ่านรายละเอียดที่ pawn.co.th)

เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อเดือน
เงินต้น 5,001 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน
เงินต้น 10,001 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.00% ต่อเดือน
เงินต้น 20,001 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน

สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (อ่านรายละเอียดที่ pawnshop.bangkok.go.th )

เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อเดือน
เงินต้น 5,001 – 15,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.00% ต่อเดือน
เงินต้นเกิน 15,000 บาท การคิดดอกเบี้ยแบ่งเป็น เงินต้น 2,000 บาทแรก 2%
ส่วนที่เกิน 2,000 บาท 1.25% ต่อเดือน

โรงรับจำนำเอกชน

คิดอัตราดอกเบี้ยของโรงรับจำนำเอกชนเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 โดยกำหนดว่า เงินต้น 2,000 บาทแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน ส่วนที่เกินจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน

คนไทยจำนำอะไรมากที่สุด? 

ผู้บริหาร Easy Money เปิดเผยว่า ทรัพย์สินที่คนไทยนำมาจำนำมากที่สุด ยังคงเป็น ทองคำ (ราว 70-80%) รองลงมาคือ เพชรเเละเครื่องประดับ ตามมาด้วย นาฬิกา สินค้าเเบรนด์เนมเเละอุปกรณ์ไอที เเม้จะเจอวิกฤต COVID-19 ก็ยังเรียงตามลำดับนี้

“ความเปลี่ยนเเปลงของยุคนี้ คือ คนรุ่นใหม่มีการนำสินค้าเเบรนด์เนมมาจำนำ เราจะได้เห็น กุชชี่ กระเป๋าเเอร์เมส หรือชาเเนลเยอะขึ้นมาก”

เเต่ถ้าผู้จำนำ ขาดส่งดอกเบี้ยเกินระยะเวลา 4 เดือน กับอีก 30 วัน จะถือว่าทรัพย์ที่นำมาจำนำนั้นกลายเป็นทรัพย์หลุด ตกเป็นสิทธิของโรงรับจำนำ ซึ่งถ้าเจ้าของทรัพย์อยากได้คืนจะต้องทำการประมูลหรือซื้อคืนจากโรงรับจำนำ

โดยทรัพย์ที่หลุดจำนำจะถูกขายผ่านสาขาทั้ง 54 สาขาของ Easy Money จะถูกนำไปวางขายที่ Easy Money Shop ซึ่งมีสาขาอยู่ที่เซ็นทรัลพระราม 3 และที่นครราชสีมา พร้อมกับการจำหน่ายผ่านเว็บไซต์เเละ Facebook ของร้าน ซึ่งสินค้าที่หลุดจำนำจากบริษัทจะมี “ใบรับประกัน” ให้ทุกชิ้น ส่วนเครื่องประดับเพชร จะรับประกันว่าสามารถนำกลับมาจำนำได้มูลค่าคืนถึง 80% ตลอดชีพ

“ยอดขาย Easy Money Shop เติบโตขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เพราะคนหันมาซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้น ด้วยการที่เรามีใบรับประกันให้ คนก็ยิ่งตัดสินใจซื้อง่าย เเม้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี คนระวังใช้จ่าย เเต่ก็ยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ ยังมีกำลังซื้อ ก็หันมาซื้อของเเบรนด์เนม เครื่องประดับที่ราคาปรับลงในช่วงนี้มากขึ้น” 

ทรัพย์หลุด “เพิ่มขึ้น” ชี้เศรษฐกิจตกต่ำ 

สิทธิวิชญ์ เล่าถึงธุรกิจโรงรับจำนำช่วง COVID-19 ว่า ยอดธุรกรรมการรับจำนำ ตั้งเเต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เริ่มส่งสัญญาณกลับมาเป็นปกติ หลังจากครึ่งปีเเรก ปริมาณธุรกรรมจำนำลดลง 20-30% สะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นภาวะปกติมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ราคาทองคำปรับสูงขึ้น ได้เห็นปรากฏการณ์คนเเห่มาไถ่ถอนทรัพย์เพื่อนำไปขายเพิ่มมากขึ้น ทำให้วงเงินที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจปีนี้ที่เตรียมไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท จึงยังไม่ได้ใช้มากนัก โดยทั้งปีคาดว่าธุรกิจจะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงปีก่อน

อัตราทรัพย์หลุดของ Easy Money เฉลี่ยอยู่ที่ 5% (ปี 2562 คือ 4.9% ส่วนปี 2561 คือ 5%) หมายความว่าถ้ามีคนนำของมาจำนำ 100 คน จะมีทรัพย์หลุด 5 คน เป็นต้น

ปีนี้ทรัพย์หลุดเพิ่มขึ้นจาก 5% มาเป็น 6% สะท้อนว่าเศรษฐกิจตกต่ำลง หลังได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอย่างหนัก เนื่องจากกลุ่มที่มีรายได้ประจำตกงาน เเละเจ้าของธุรกิจมีรายได้ลดลง 

โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมามีช่วงปีที่ธุรกิจโรงรับจำนำ Easy Money เจอปัญหาบ้าง เช่นปี 2555 ที่ราคาทองลงมาก ทำให้ลูกค้าหลายคนทิ้งตั๋วจำนำไป ซึ่งครั้งนั้นถือว่าหนักกว่าวิกฤต COVID-19 ที่สถานการณ์ในไทยยังไม่รุนเเรงเท่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป 

“ช่วงเดือนเมษายนราคาทองคำลดลง ทำให้ทรัพย์ทองคำหลุดเยอะ แต่หลังจากราคาทองคำพุ่งไปแตะ 3 หมื่นบาท คนก็มาไถ่ถอนไปขาย เราจึงเสนอให้ลูกค้าที่ต้องการเพิ่มเงินก็สามารถทำได้ เราปรับตามภาวะตลาดราคาทองคำ
เเบบเรียลไทม์เลย”

จากสถานการณ์ COVID-19 เมื่อช่วงต้นปี ทำให้บริษัททุ่มประมาณราว 20 ล้านบาท พัฒนา application Easy Smart เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า เชื่อมโรงจำนำกับบริการออนไลน์ ให้สามารถส่งดอกเบี้ยออนไลน์ เรียกดูรายละเอียดของตั๋วจำนำ กำหนดการเตือนก่อนถึงวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าดาวน์โหลดแอปฯ แล้วจำนวน 6 หมื่นรายจากลูกค้าทั้งหมดราวเเสนราย

“อยากเสนอให้ภาครัฐ ขอขยายวงเงินหน้าตั๋วจากเดิมที่กฎหมายกำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อใบ ซึ่งใช้มาหลายทศวรรษเเล้ว ขยับวงเงินเป็น 2-3 ล้านบาทต่อใบ เนื่องจากราคาสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปมากตามภาวะเศรษฐกิจ การขยายวงเงินจะช่วยเหลือผู้ประกอบการมีสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจมากขึ้น”

เราจะได้เห็นมูฟต่อไปของ Easy Money ที่มีกลุ่มทายาทรุ่นสองมาร่วมดูเเลกิจการ ในทิศทางสู่ “คนรุ่นใหม่” เเละเป็นโรงจำนำดิจิทัลมากขึ้นไปอีก ท่ามกลางการเเข่งขันดุเดือด หนทาง สถาบันสินเชื่อทางเลือก” ยังคงต้องไปต่ออีกไกล…