ปิ๊งไอเดีย Amusement Workation เมื่อพนักงานญี่ปุ่นใช้ “สวนสนุก” เป็นที่ทำงานในยุค COVID-19

Photo : Reuters / Kim Kyung-Hoon

การเเพร่ระบาดของ COVID-19 เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของคนทั่วโลก ตอนนี้เริ่มขยับจาก Work from home ทำงานจากที่บ้าน มาเป็น Work from anywhere ทำงานจากทุกที่กันมากขึ้น เป็นโอกาสในวิกฤตของผู้ประกอบการที่จะนำเสนอบริการต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการใหม่นี้

ล่าสุด โยมิอุริแลนด์ (Yomiuriland) สวนสนุกแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ปิ๊งไอเดียเสนอเเพ็กเกจ “Amusement Workation” นั่งทำงานในสวนสนุก หลังเริ่มมีกระเเสพนักงานในญี่ปุ่น หันมาใช้สวนสนุกเป็นออฟฟิศเเนวใหม่มากขึ้น

โดยทางโยมิอุริแลนด์ มีจะการเปิดพื้นที่ให้พนักงานออฟฟิศหรือฟรีเเลนซ์ต่างๆ มาเปลี่ยนบรรยากาศทำงานนอกสถานที่ สามารถนั่งทำงานติดกับสระน้ำ คุยงานในบ้านผีสิง ทำงานที่สนามกอล์ฟหรือนั่งชิงช้าสวรรค์ ก็มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต Wi-Fi แบบพกพาคอยให้บริการอย่างทั่วถึง

จากการสำรวจของ Reuters เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า เเม้ปกติเเล้วโครงสร้างของบริษัทญี่ปุ่นมักจะให้พนักงานเดินทางมาทำงานในออฟฟิศทั่วไป เเต่หลังจากเกิดโรคระบาด มีเพียง 1 ใน 3 ของบริษัทในญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังคงให้พนักงานไปทำงานที่สำนักงาน ส่วนอีก 65% เสนอให้ทำงานจากบ้านได้ 

Tatsuki Yamamoto ประธานบริษัทไอที FLEQ วัย 47 ปี กล่าวระหว่างนั่งทำงานบนเก้าอี้ข้างสระน้ำในสวนสนุกว่า เขาชอบทำงานนอกสถานที่มาก เเละมองว่าแผนการที่ดีที่ทำให้รู้สึกสนุกในการทำงานมากขึ้น ส่วนพนักงานในบริษัทของเขาก็ชอบทำงานนอกสถานที่เช่นกัน

Photo : Reuters / Kim Kyung-Hoon

Yamamoto เล่าอีกว่า เขาได้ลองทำงานบนชิงช้าสวรรค์ที่เคลื่อนไปช้าๆ เวลามีประชุมทางวิดีโอ เพื่อให้เพื่อนร่วมงานได้ชมบรรยากาศด้านบนไปกับเขาระหว่างประชุมด้วย เเต่บางครั้งก็รู้สึกว่ามันก็ยากอยู่เหมือนกันที่จะตั้งใจโฟกัสกับงานเมื่อได้เห็นวิวทิวทัศน์สวยๆ ด้านบนนั้น “ผมไม่รู้ว่าจะเพลิดเพลินไปกับวิวสวยๆ หรือสนุกกับทำงานดี”

สำหรับเเพ็กเกจ Amusement Workation ของสวนสนุกโยมิอุริแลนด์ สนนราคาอยู่ที่ 1,900 เยน หรือราว 560 บาท ต่อวันต่อคนในวันธรรมดา และ 2,000 เยน หรือราว 600 บาท ในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สามารถเลือกพิกัดทำงานได้ทั้งริมสระ นั่งชิงช้าสวรรค์ ในบ้านผีสิง และสนามไดรฟ์กอล์ฟก็เปิดให้ซ้อมตีได้อีกด้วย

โดยทางสวนสนุกบอกว่า ตอนนี้มีลูกค้าชาวญี่ปุ่นนับสิบคน ตั้งใจมาเพื่อเข้าไปทำงานบนรถไฟเหาะตีลังกา หรือไปเปลี่ยนสร้างความตื่นเต้นในบ้านผีสิง

จากสถานการณ์ COVID-19 ระบาดทั่วโลก ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง ซึ่งทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบด้วย โดยตอนนี้บรรดา “สวนสนุก” หลายแห่งเลือกที่จะหาลู่ทางใหม่เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการในสวนสนุกเเทนการมาท่องเที่ยวปกติที่ลดลง

(Photo : Shutterstock)

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีโจทย์ใหญ่ไม่แพ้ไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว แต่เมื่อคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมรักงานสูง ทำให้รัฐพยายามกระตุ้นเทรนด์ “Workation” ให้พนักงานทำงานไปด้วยระหว่างท่องเที่ยว เพื่อยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว พนักงานยังได้ทำงานอยู่ ขณะที่โรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวมีรายได้พยุงตัว

วิถีการ “Workation” ก็คือการนำงานไปทำระหว่างท่องเที่ยว อาจจะแบ่งเวลาทำงานสัก 4 ชั่วโมงต่อวัน เวลาที่เหลือออกไปท่องเที่ยวใช้จ่ายในพื้นที่ ทำให้พนักงานได้พักผ่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดน้อยลงที่ออกมาอยู่นอกออฟฟิศ เพราะยังรับผิดชอบงานของตัวเองอยู่

กลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่งที่รัฐมุ่งเน้นคือ “รีสอร์ตบ่อน้ำพุร้อน” หรือ “ออนเซ็น” นั่นเอง โดยรัฐมีแพ็กเกจ ช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มออนเซ็นให้นำไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ จากปกติโรงแรมประเภทนี้มักจะรักษาความเก่าแก่โบราณไว้ ทำให้ไม่มีเทคโนโลยีรองรับมากนัก แนวความคิดการเปลี่ยนออนเซ็นให้ทันสมัยขึ้นเพื่อให้เมืองออนเซ็นเป็นออฟฟิศย่อยแก่พนักงานตลอดปีนี้ ช่วยรักษาเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยวไม่ให้ย่ำแย่ลง

อ่านต่อ : “Workation” เที่ยวไปทำงานไป กลยุทธ์ใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นหวังช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยว

 

ที่มา : Reuters