สัญญาณบวก! ยอดจอง “เที่ยวในประเทศ” ของ Traveloka ฟื้นตัวเกือบเท่าก่อนเกิด COVID-19

เมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม (Photo : Photo by Văn Long Bùi from Pexels)
Traveloka สตาร์ตอัพสัญชาติอินโดนีเซีย เปิดข้อมูลการจองที่พักและการเดินทางของประเทศสำคัญในพอร์ต คือ ไทยและเวียดนาม ยอดจอง “เที่ยวในประเทศ” ฟื้นตัวเกือบเท่ากับก่อนเกิด COVID-19 ส่วนอินโดนีเซียฟื้นแล้ว 75% รอดพ้นจากช่วงวิกฤตหนักในเดือนพฤษภาคมซึ่งยอดจองใหม่เกือบเป็นศูนย์ และมีลูกค้าขอคืนเงินมากกว่า 1.5 แสนราย มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

Henry Hendrawan ประธานบริษัท Traveloka บริษัทสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย เปิดเผยถึง
สถานการณ์บริษัทว่า กลับมาฟื้นตัวขึ้นแล้วจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยโฟกัสไปยัง 3 ตลาดสำคัญของบริษัท คือ เวียดนาม ฟื้นตัว 100% เทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ประเทศไทยฟื้นตัวเกือบแตะ 100% ส่วนประเทศอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับ 70-75%

ทั้งนี้ ปกติ Traveloka ทำยอดขายในกลุ่มการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ดีกว่าการท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว ทำให้ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้มากกว่า “เรารู้สึกว่าเราได้ประโยชน์มากกว่าจากการฟื้นตัวของธุรกิจ หากเทียบกับแพลตฟอร์มเอเย่นต์ท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) อื่นๆ” Hendrawan กล่าว

สำหรับ OTA รายใหญ่อื่นที่แข่งขันอยู่ในตลาดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ Agoda ในเครือ Priceline Group, Tiket, Airasia.com และ Fliggy ของบริษัท Alibaba

หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่คนไทยนิยมมากที่สุดหลังเกิดสถานการณ์ COVID-19

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นการนับจากจำนวนการจอง ทำให้ Hendrawan ยังไม่มั่นใจว่ารายได้จะกลับไปแตะระดับเดียวกับปีที่แล้วหรือไม่ เพราะพบว่าการจองของปีนี้มีมูลค่าต่อครั้งน้อยลง จำนวนวันการเที่ยวสั้นลง เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของภูมิภาค

ประธาน Traveloka กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขาได้รีดไขมันส่วนเกินออกไปแล้วจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในศักยภาพ จากการระดมทุนรอบล่าสุด Bloomberg รายงานว่าบริษัทถูกลดมูลค่าการประเมินลง 17% เหลือเพียง 2.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

ลูกค้าแห่ขอคืนเงิน 1.5 แสนคน

Hendrawan ยังฉายภาพย้อนกลับไปถึงช่วงวิกฤตหนักของบริษัท คือช่วงเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งการจองต่างๆ แทบจะเป็นศูนย์ เนื่องจากภาครัฐสั่งงดเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหมด รวมถึงอินโดนีเซียที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัท

“ท่ามกลางห้วงเวลาที่ยอดขายเราตกลงแทบจะเหลือศูนย์ เรายังต้องเผชิญความท้าทายเชิงปฏิบัติการอีก เพราะการยกเลิกแผนท่องเที่ยวช่วง COVID-19 ทำให้ ณ ขณะหนึ่ง เราเคยมีคำร้องขอคืนตั๋วพร้อมกันสูงถึง 1.5 แสนราย นี่นับเฉพาะตั๋วเครื่องบิน เป็นการขอคืนเงินที่มากที่สุดที่เคยเจอ และมากกว่าครั้งก่อนหน้า 10 เท่า รวมมูลค่าแล้วมากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ” Hendrawan กล่าว

บรรยากาศสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ยังคงมีผู้โดยสารบางตา

โชคดีที่บริษัทยังระดมทุนต่อชีวิตให้บริษัทได้ โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Traveloka ระดมทุนรอบใหม่และได้รับเงินลงทุนเพิ่มอีก 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้บริษัทมียอดระดมทุนสะสม 750 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีนักลงทุนจากธุรกิจท่องเที่ยวอย่าง Expedia Group ที่ร่วมทุนด้วยตั้งแต่ปี 2012

ทิศทางบริษัทที่ผ่านมานั้น พยายามจะสยายปีกไปให้ไกลกว่าธุรกิจท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม “เรากำลังขยายไปสู่บริการด้านไลฟ์สไตล์และการเงิน” Hendrawan กล่าว โดยแพลตฟอร์มนี้เริ่มเสริมบริการอื่นแล้ว เช่น จองตั๋วหนัง จองสปา ขายคูปองร้านอาหาร เป็นต้น และปีที่แล้วก็เพิ่งมีการออกบัตรเครดิตของตนเองด้วย

Source