COVID-19 ทำให้การเดินทางทางอากาศทั่วโลกแทบจะหยุดนิ่ง สายการบินมีปัญหาทางการเงินล้มละละลายไปหลายเจ้า ต้องปลดพนักงาน ลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึง “ชะลอ–ยกเลิก” คำสั่งซื้อเครื่องบินลำใหม่ด้วย
Boeing (โบอิ้ง) ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกของสหรัฐฯ เผยผลประกอบการ “ขาดทุน” ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 จากผลกระทบการเเพร่ระบาดของ COVID-19 เเละคำสั่งห้ามนำเครื่องรุ่น 737 Max ขึ้นบินที่ทำให้ยอดขายทรุดหนักต่อเนื่อง
ย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2020 ทาง Boeing ประกาศว่าจะปลดพนักงานล็อตใหญ่ 19,000 คน เเต่มาถึงตอนนี้ที่แนวโน้มยอดขายเครื่องบินยังไม่เเน่นอน ล่าสุดบริษัทต้องประกาศ “ปลดพนักงาน รอบ 2” เพิ่มอีก 7,000 คน รวมกับพนักงานที่ลดลงตามปกติ จะลดลงทั้งสิ้น 30,000 คน คิดเป็น 19% ของจำนวนพนักงานที่มีก่อน COVID-19 โดยภายในสิ้นปี 2021 Boeing จะเหลือพนักงานราว 1.3 เเสนคน จากจำนวน 1.6 เเสนคน
“เราจำเป็นที่จะต้องปรับให้เข้ากับความเป็นจริงของตลาดใหม่ และเปลี่ยนธุรกิจให้ยืดหยุ่นมากขึ้นในระยะยาว” Dave Calhoun ซีอีโอของ Boeing กล่าว เเละคาดว่า การเดินทางทางอากาศในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 30-35% เเละน่าจะกลับสู่ระดับก่อนโรคระบาด ในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า
Boeing ขาดทุนต่อเนื่องมา 4 ไตรมาสแล้ว โดยล่าสุดไตรมาส 3 ของปีนี้ บริษัทขาดทุน 466 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่กำไรถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนรายได้ใน 9 เดือนแรกของปี 2020 บริษัททำได้ 42,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงกว่า 30%
ซีอีโอ Boeing หวังว่า บริษัทจะได้รับการอนุมัติให้นำส่งเครื่องรุ่น 737 Max ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังเกิดอุบัติเหตุที่เครื่องรุ่นดังกล่าวตกที่เอธิโอเปียและอินโดนีเซีย และทำให้มีการระงับการบินเครื่องรุ่นนี้มาตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีที่แล้ว
เขาบอกกับนักวิเคราะห์ว่า ครึ่งหนึ่งของเครื่องบินในกลุ่ม MAX จำนวน 450 ลำที่ผลิตเสร็จแล้ว น่าจะมีการส่งมอบให้กับสายการบินที่เป็นลูกค้าได้ภายในสิ้นปีหน้า และส่วนที่เหลือราว 225 จะเริ่มทยอยนำส่งในปี 2022
- “จีน” ประกาศคว่ำบาตร “โบอิ้ง” ฉุนบริษัทสหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวัน
- ปิดฉาก “ราชินีแห่งท้องฟ้า” เลิกผลิต Boeing 747 ในปี 2022 จากพิษไวรัส-เทรนด์ประหยัดพลังงาน