เปิดเทอมแรก “คิงส์คอลเลจ” รร. นานาชาติที่ “สหพัฒน์” ร่วมหุ้น ผู้ปกครองดีมานด์สูงเกินคาด

  • ชมบรรยากาศโรงเรียนนานาชาติ “คิงส์คอลเลจ” กรุงเทพฯ เปิดเทอมแรก ผู้ปกครองพาบุตรหลานสมัครเรียนสูงเกินคาด ปัจจุบันรับนักเรียนแล้วกว่า 300 คน จากเป้าหมาย 100 คน
  • โรงเรียนแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นจาก ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ เล็งเห็นถึงระบบโรงเรียนนานาชาติในไทยยังสามารถพัฒนาให้ตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น และสุดท้ายสามารถดึงเครือสหพัฒน์ร่วมถือหุ้นกว่า 10% รวมถึงเป็นผู้ให้เช่าที่ดินกลางเมืองย่านพระราม 3 ทำเลที่ตั้งของโรงเรียน
  • มองกระแสผู้ปกครองไทยมีดีมานด์ต่อโรงเรียนนานาชาติสูงมาก โดยปัจจัยสถานการณ์ COVID-19 ระบาดมีส่วนทำให้ผู้ปกครองที่เตรียมส่งลูกเรียนมัธยมในต่างประเทศ กลับมาพิจารณาการเรียนในไทย โดยโรงเรียนหลักสูตรอังกฤษเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงหลัง

โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ หรือ King’s College International School Bangkok เปิดเทอมแรกแล้ว! โดยโรงเรียนแห่งนี้เป็นสาขาของ King’s College School, Wimbledon ประเทศอังกฤษ โรงเรียนชั้นนำที่สามารถส่งนักเรียนถึง 25% เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย Oxford และ Cambridge ได้

สาขาที่ประเทศไทยนั้นเป็นสาขานอกประเทศอังกฤษสาขาที่ 3 ของโลก (2 สาขาก่อนหน้านี้อยู่ในเมืองอู๋ซีและหางโจว ประเทศจีน) เริ่มต้นโครงการโดย ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ประธานบริหาร โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ ซึ่งพบประสบการณ์ตรงหลังจากลูกชายย้ายโรงเรียนจากโรงเรียนนานาชาติในไทยไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ทำให้เล็งเห็นว่าโรงเรียนนานาชาติในไทยยังสามารถยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้นอีก เพื่อเทียบเคียงกับในอังกฤษได้

โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ

ในที่สุด ดร.สาคร สามารถติดต่อขอนำแบรนด์และระบบจาก King’s College School, Wimbledon มาเปิดการเรียนการสอนในไทยได้สำเร็จ พร้อมประสานเช่าที่ดินขนาด 22.5 ไร่ ย่านพระราม 3 ของ “เครือสหพัฒน์” เป็นทำเลก่อสร้างโรงเรียน และสหพัฒน์ได้เข้าร่วมถือหุ้นด้วยประมาณกว่า 10% โครงการนี้ใช้งบลงทุนทั้งหมด 4,000 ล้านบาท ก่อนจะเปิดเรียนวันแรกไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563

 

ดีมานด์สูงเกินคาด รับนักเรียนปีแรกกว่า 300 คน

ดร.สาครกล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้น Pre-nursery ถึง Year 10 ก่อนจะทยอยเปิดเพิ่มจนถึง Year 13 ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าในปีการศึกษา 2565 จะสามารถเปิดเพิ่มถึง Year 12 ได้หรือไม่ และจะมีการลงทุนก่อสร้างตึกเรียนเพิ่มเติมรองรับนักเรียน

ออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการใช้ชีวิตนอกห้องเรียน

สำหรับปีการศึกษาแรกนี้ มีนักเรียนเข้าเรียนแล้วมากกว่า 300 คน ถือว่าเหนือความคาดหมาย เพราะเดิมมองว่าปีแรกน่าจะมีนักเรียนราว 100 คนเท่านั้น และกว่า 300 คนที่ได้เข้าเรียนนี้ยังต้องผ่านการสอบแข่งขันและสอบสัมภาษณ์ด้วย ไม่สามารถรับได้ทุกคน ทำให้เห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองยุคนี้มีความต้องการการศึกษาในระบบนานาชาติสูงมาก

“ดีมานด์โรงเรียนนานาชาติสูงกว่าซัพพลายมาตลอด ระยะหลังมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่เยอะมากก็จริง แต่ดีมานด์ก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีซัพพลายไม่เพียงพอ” ดร.สาครกล่าว

 

ทัศนคติใหม่ สอนให้เด็กมีเป้าหมายชีวิตและดีรอบด้าน

การมีโรงเรียนนานาชาติใหม่ๆ นั้นมักจะมาตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างออกไปของผู้ปกครอง และวิธีคิดใหม่ในการให้การศึกษายุคนี้

ดร.สาครเล่าย้อนให้ฟังว่า ในอดีตยุคแรกของการตั้งโรงเรียนนานาชาติที่ประเทศไทย จุดแข็งสำคัญคือเรื่อง “ภาษา”
ที่ทำให้ใครๆ ต้องการส่งลูกหลานเข้าเรียน ต่อมาพัฒนามาเป็นเรื่องของ “โอกาสทางการศึกษา” เพราะโรงเรียนจะปูทางให้เด็กมีโอกาสมากกว่าเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ห้องแล็บวิทยาศาสตร์ของ “คิงส์คอลเลจ” กรุงเทพฯ ก่อสร้างตามมาตรฐานความปลอดภัยของอังกฤษ

แต่ยุคนี้ ดร.สาครมองว่า สังคมโลกรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองไทยมองการศึกษาอีกแบบหนึ่ง โรงเรียนนานาชาติไม่ได้ตอบโจทย์แค่เรื่องภาษากับโอกาส แต่ต้องสร้างให้เด็ก “มีเป้าหมายชีวิตของตัวเองและดีรอบด้าน” คือไม่ใช่แค่เรียนเก่ง แต่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร มีทักษะอื่นในชีวิต และมีจิตใจที่ดี

โดยดร.สาครมองว่าปรัชญาการให้การศึกษาของ King’s College School ซึ่งโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ ถอดแบบมาใช้ด้วยนั้น สามารถตอบโจทย์นี้ได้ เพราะโรงเรียนจะให้คุณค่า 3 เสาหลัก ทั้งด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ หลักสูตรร่วมผสมส่งเสริมกิจกรรมอื่น และดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด พร้อมกับส่งเสริมให้เป็นคนที่ดีผ่านคุณค่าเรื่องกิริยามารยาท จิตใจเมตตา และใฝ่ปัญญา

สระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก เป็นสระในร่มที่ยังมีช่องแสงเพิ่มความอุ่นให้น้ำในสระ

“โรงเรียนมีเรื่องความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ไม่ได้ต้องการเป็นโรงเรียนที่กลายเป็นโรงงานฝึกทำข้อสอบ แต่ต้องการส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมอื่นด้วยเพื่อให้เป็นคนที่เติบโตมาแบบรอบด้าน รวมถึงฝึกด้านจิตใจ ทำให้เรามี House System เพื่อสร้างสัมพันธ์พี่น้อง และอบรมเรื่องมารยาทนอบน้อม เคารพผู้ใหญ่ ยังมีความเป็นไทย ที่นี่เด็กยังรู้จักการไหว้ทุกคน” ดร.สาครกล่าว

 

COVID-19 มีส่วนทำให้พ่อแม่เลือกโรงเรียนในไทยมากขึ้น

ด้านผลกระทบจาก COVID-19 ต่อโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ ดร.สาครกล่าวว่า มีผลกับการนำครูและบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาในไทย มีความท้าทายสูงขึ้น แต่สุดท้ายสามารถนำคุณครูเข้ามาได้ตามเป้า ปัจจุบัน โรงเรียนทำการสอนด้วยครูต่างชาติทั้งหมด (ยกเว้นคุณครูภาษาไทย) โดยครูหลายท่านเป็นครูระดับ Tier 1 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซึ่งโรงเรียนทุ่มทุนจ้างในอัตรารายได้เดียวกับที่ประเทศอังกฤษ เพราะครูคือหัวใจสำคัญที่สุดของระบบการศึกษา

ส่วนผลต่อดีมานด์ของผู้ปกครอง ในเชิงเศรษฐกิจนั้นมีผลกระทบกับรายได้ของผู้ปกครองกลุ่มนี้น้อยมาก และยิ่งส่งให้ดีมานด์สูงขึ้นด้วย เพราะในระดับมัธยม ปกติผู้ปกครองมักจะส่งลูกหลานเข้าเรียนในต่างประเทศโดยตรง แต่เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ระบาดหนักในต่างประเทศ ทำให้บางส่วนหันกลับมาพิจารณาทางเลือกในไทยมากขึ้น

ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ประธานบริหาร โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ

ขณะที่ตัวเลือกโรงเรียนนานาชาติในไทยที่มักจะแบ่งการศึกษาออกเป็นระบบอังกฤษกับอเมริกัน ดร.สาครมองว่า ในแง่หลักสูตรเชิงวิชาการไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่ต่างกลับเป็นคุณค่าและทักษะประเภท soft skills ซึ่งกระแสระบบอังกฤษจะเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะยังปลูกฝังเรื่องกิริยามารยาท จะเห็นได้ว่าโรงเรียนนานาชาติที่เปิดใหม่เป็นระบบอังกฤษเกือบทั้งหมด

ดร.สาครยังมองภาพระบบการศึกษาไทยว่าสามารถพัฒนาได้ โดยควรจะหันมายึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ มีกฎระเบียบที่ยืดหยุ่นให้ครูแต่ละโรงเรียนปรับวิธีการเรียนการสอนให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ

“เรายังติดกับดักระบบการศึกษาในอดีต คือต้องมีหลักสูตรตายตัวและครูเป็นคนถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก แต่วันนี้เทคโนโลยีทำให้ความรู้สามารถหาได้จากทุกที่ ครูจึงกลายเป็น facilitator มากกว่า เป็นผู้ชี้แนะช่องทางการไปค้นคว้าหาความรู้ สร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กหาเป้าหมายของตัวเองเจอ และนำการอภิปรายในชั้นเรียน ช่วยให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นในชีวิต เช่น การคิด การพูด” ดร.สาครกล่าว “ครูต้องผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเติบโตด้วยความสุข”