หลังจาก “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” อสังหาฯ ในมือตระกูลสิริวัฒนภักดี จัดทัพภายในเรียบร้อย ทำให้ “โกลเด้นแลนด์” ซึ่งเป็นหัวหอกในกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยเพื่อขาย ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” ให้สอดคล้องกับบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม จะยังใช้แบรนด์เดิมในการทำตลาดต่อไป วางเป้าขึ้น Top 3 ในตลาดภายในปี 2566 ปีหน้าเตรียมบุกกลุ่มใหม่ บ้านแพงกลางเมือง-คอนโดฯ ตลาดกลาง
หลังการจัดกลุ่มทางธุรกิจภายใน บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FPT) ทำให้ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) ซึ่งกลุ่มสิริวัฒนภักดีเข้าซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2556 ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในเครือ FPT ด้วย และล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อเป็น เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์เครือ
อย่างไรก็ตาม “แสนผิน สุขี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) ยืนยันว่า บริษัทจะยังใช้แบรนด์เดิมคือตระกูล “โกลเด้น” ในการทำตลาดต่อไป ยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับชื่อแบรนด์เป็นเฟรเซอร์สหรือชื่ออื่นๆ เพราะมองว่าเป็นชื่อแบรนด์ที่ดี เป็นที่รู้จักแล้ว แต่ชื่อบริษัทน่าจะช่วยเสริมเรื่องความน่าเชื่อถือได้ด้วยภาพของฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
หลังจัดทัพเรียบร้อย แสนผินวางเป้าให้ เฟรเซอร์สฯ โฮม ขึ้นเป็นผู้นำในหลายด้าน ที่สำคัญคือ วางเป้าเป็น Top 3 ของตลาดอสังหาฯ ในแง่รายได้ภายในปี 2566 จากปัจจุบันบริษัทอยู่ในอันดับ 5
Top 5 ของตลาดอสังหาฯ ปัจจุบันในแง่รายได้ ได้แก่ เอพี (ไทยแลนด์) , พฤกษา, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, แสนสิริ และเฟรเซอร์ส โฮม ซึ่งถ้าหากต้องการจะเบียดแย่งตำแหน่งอันดับ 3 บริษัทต้องทำรายได้ขึ้นไปแตะราวๆ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันคาดว่าปี 2563 น่าจะปิดรายได้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท
ปีหน้าลุยเปิดตัวเฉียด 3 หมื่นล้าน
แสนผินกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกตั้งแต่เข้ามาอยู่ในเครือสิริวัฒนภักดีที่บริษัทเกิดอาการ “ติดลบ” ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด แต่ยังถือว่าลบไม่มาก คาดว่าบริษัทจะหดตัว -5% ในปีนี้ เทียบกับทั้งตลาดอสังหาฯ ที่หนักถึง -40%
ขณะที่ปี 2564 เชื่อว่าตลาดจะกลับมาโตได้ โดยตั้งเป้าหมายของบริษัท รายได้เติบโต 10% หรือเท่ากับ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 24 โครงการ มูลค่ารวม 29,800 ล้านบาท
“สภาพัฒน์มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะกลับมาโต 3-5% ดังนั้นกำลังซื้อของคนไทยน่าจะดีขึ้น แต่การแข่งขันก็แรงขึ้นด้วยเพราะปกติเราทำแนวราบเป็นหลัก ตั้งแต่ปีนี้ก็มีคู่แข่งหันมาทำแนวราบแข่งกับเรามากแล้ว ไปทำเลไหนเจอไม่ต่ำกว่า 10 ราย ทำให้การทำโปรโมชันลดราคาจะดุเดือดมาก” แสนผินกล่าว
เน้นตลาดคนทำงานประจำ ทำสินค้ากลุ่ม “บ้านแฝด”
ส่วนทิศทางสินค้าที่จะมุ่งไป จะเป็นกลุ่มตลาดกลางมากขึ้น กล่าวคือ ทาวน์เฮาส์ราคา 2.5 ล้านบาทขึ้นไป, บ้านแฝดราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป และบ้านเดี่ยวราคา 8 ล้านบาทขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้เป็นลูกค้าคนทำงานประจำ
“ปีหน้าเราจะเพิ่มสัดส่วนบ้านแฝดมากขึ้น เพราะทาวน์เฮาส์จะอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่กู้ยาก ยอดขายยังดีอยู่แต่โอนยากขึ้นเพราะรีเจกต์เรตสูงจากเดิม 30% ขยับขึ้นเป็น 32% แล้ว ดังนั้น เราจะไปเซ็กเมนต์ที่แพงขึ้นดีกว่า” แสนผินกล่าว ทั้งนี้ ปกติแบรนด์โกลเด้นแลนด์เป็นแบรนด์ที่เน้นตลาดแนวราบ โดยเฉพาะ “ทาวน์เฮาส์” นั้นเป็นเรือธงในการบุกตลาดและทำให้ผู้บริโภครู้จัก ด้วยการทำราคาถูกเรียกลูกค้า
บ้านแฝดยังเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญของเฟรเซอร์สฯ โฮม โดยมีเป้าจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดกลุ่มนี้ให้ได้ภายในปี 2566
เสริมด้วย “ซิตี้โฮม” และ “คอนโดฯ”
ในแผน 24 โครงการนั้น ยังไม่รวมโครงการเซ็กเมนต์ใหม่ที่เฟรเซอร์สฯ โฮมกำลังหาที่ดินเพื่อทดลองโครงการนำร่อง
กลุ่มแรกคือกลุ่ม “ซิตี้โฮม” หมายถึงโครงการแนวราบระดับลักชัวรีราคา 15-40 ล้านบาท แต่เป็นทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด หรือบ้านเดี่ยว 3 ชั้น ทำเลใกล้เมือง เช่น วิภาวดี พระราม 9 สาธุประดิษฐ์
โดยแสนผินมองว่าสินค้าประเภทนี้เริ่มเป็นที่ต้องการสูงขึ้นหลัง COVID-19 เพราะตลาดระดับบนที่เคยเลือกซื้อคอนโดฯ ลักชัวรีกลางเมืองในราคาเดียวกัน เริ่มเห็นว่าการมี “พื้นที่” ภายในบ้านเป็นสิ่งสำคัญ และพิจารณาเลือกบ้านมีที่ดินแทน แม้จะขยับออกมาจากใจกลางเมืองบ้าง แต่ยังเดินทางสะดวก
ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างหาซื้อที่ดินที่เหมาะสม โดยมองว่าควรเป็นที่ดินขนาดประมาณ 20 ไร่ เพื่อขึ้นโครงการขนาด 60-70 หลัง ในราคาที่ดินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตร.ว.
ส่วน “คอนโดมิเนียม” นั้น มองว่าจะเน้นคอนโดฯ ราคาไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตร.ม. ปัจจุบันตั้งงบซื้อที่ดินแล้ว 2 พันล้านบาท คาดว่าจะพัฒนาเปิดตัวได้เร็วที่สุดคือปลายปี 2564
“เราดูในตลาดได้เลยว่ายุคนี้คอนโดฯ ที่ขายดีคือกลุ่มราคาไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตร.ม. ลูกค้ามีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน” แสนผินกล่าว “ตอนนี้ยังไม่เคาะชื่อแบรนด์ อาจจะใช้ ‘โกลเด้น’ นำหน้าหรือไม่ก็ได้”
ทั้งนี้ แสนผินย้ำว่าคอนโดฯ ไม่ใช่จุดเน้นของบริษัท คาดว่าจะมีสัดส่วนไม่เกิน 20% ของทั้งพอร์ต เพราะมองว่าคอนโดฯ เป็นสินค้าที่มีวงจรแบบขึ้นสุดลงสุด มียุคที่พีคขายดีมากและยุคที่ขายไม่ได้ ต่างจากแนวราบซึ่งเสถียรกว่า