โน้ส – ตัน เรื่องมันส์ๆ ของแบรนด์บิวท์แบรนด์

ปรากฏการณ์ “เดี่ยวกับตัน” ซึ่งกำหนดการแสดงในวันที่ 3-7 พฤศจิกายน 2553 ที่สกาลา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นไปป์ไลน์ของกลยุทธ์ “แบรนด์สร้างแบรนด์” ระหว่าง ตัน ภาสกรนที กับ โน้ส อุดม แต้พานิช ที่วางไว้แล้วตั้งแต่ต้น เป็นกระแสที่จะทำให้แบรนด์ตันไม่จางหายไปหลังก้าวลงจากตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของโออิชิ กรุ๊ป โดยทิ้งระยะเพียง 2 เดือนเท่านั้น

เดี่ยวไมโครโฟนในรูปแบบ Stand up Comedy คือ ชื่อทอล์กโชว์อันเป็นเอกลักษณ์ของโน้ส อุดม ขณะที่ “กับตัน” เลียนเสียงกับคำว่า “กัปตัน” เป็นลูกเล่นซึ่งเป็นที่มาของการแต่งชุดเป็นกัปตันและสวมหมวกสไตล์กัปตันของตันในระยะหลังในฐานะพรีเซ็นเตอร์คนสำคัญของแคมเปญไปแต่ตัว ทัวร์ยกแก๊ง กับโออิชิ

ตัน และ โน้ส เป็นการผสมระหว่าง Personal Brand ที่เป็นที่รู้จักไม่กี่แบรนด์ของเมืองไทย

โน้ส คือศิลปินที่มีกลุ่มแฟนคลับระดับแมส เป็นต้นแบบของเด็กแนวยุคแรกของเมืองไทย ทุกวันนี้มีฐานะเป็นหนึ่งใน Influencer ของสังคมไทย ถือเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มกลุ่มชนชั้น มีมุกที่โดนใจเพราะเป็นเรื่องราว Insight ของสังคมไทยที่แสดงออกผ่านทอล์กโชว์ในแนวสาไถย หรือเสียดสีประชดประชัน บ้างถึงขั้นทะลึ่งตึงตังและใช้คำหยาบไม่ต่างจากตลกคาเฟ่ มีงานเขียนที่อาจจะไม่เด่นเท่างานพูด แต่ก็มีผลงานพ็อกเกตบุ๊กออกมากว่า 20 เล่ม หลายเล่มติดอันดับหนังสือขายดี เช่น โทษฐานที่รู้จักกัน หนังสือโป๊ เป็นต้น

มีภาพยนตร์ที่อยู่ในสายตานักวิจารณ์แม้ไม่ได้ทำเงินมากมาย และมีงานศิลปะแนวๆ ที่จัดแสดงมาแล้ว 16 ครั้ง

ส่วน ตัน คือ CEO ที่คนรู้จักทั่วประเทศ คนส่วนใหญ่รู้จักผ่านสื่อทั้งข่าวและในฐานะพรีเซ็นเตอร์โฆษณาโออิชิ และอีกจำนวนหนึ่งมีโอกาสได้สัมผัสและรู้จักโดยตรงจากการเข้าฟังบรรยายในองค์กร มหาวิทยาลัย และสมาคมต่างๆ มีฐานะเป็น Influencer ของคนรุ่นใหม่เช่นกัน แต่ในมุมของคนที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิต หรือเคยล้มเลวแล้วอยากกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง

แต่สำหรับสังคมไทย ธุรกิจก็คือธุรกิจ บทบาทจำกัด สู้อย่างไรก็แมสได้ไม่เท่าดารา เพราะฉะนั้นการจะสร้างแบรนด์ให้แมส โดยเฉพาะหลังไม่มี “โออิชิ” เป็นนามสกุลหลัก การทำBrand Collaboration กับโน้สจึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและมีสารเคมีตรงกันที่สุด และเป็น Win-Win Situation อย่างไม่ต้องสงสัย

“เรา 2 คนนึกสนุกเหมือนกัน” ตันบอก และนี่คือจุดเริ่มต้นที่จะมีเดี่ยวกับตัน

ทั้งคู่มีสไตล์การพูดที่สนุกสนานและกล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่เหมือนๆ กัน คิดและทำอะไรเร็วเหมือนกัน รวมถึงทัศนคติที่ว่า ความสำเร็จคือความสุข ทั้ง 2 คนจึงถูกจริตกันเป็นอย่างมาก

แม้เวลานี้ทั้งคู่อยู่ในช่วงเรียนรู้เพื่อเข้าถึงสไตล์ของกันและกันให้มากขึ้น แต่ตันก็สนิทกับโน้สถึงขั้นใช้สรรพนามมึงกูอย่างกันเอง

จุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพระหว่างตันกับโน้สผ่านมาทางวริษา ภาสกรนที ลูกสาวคนโตของเขาซึ่งเป็นกลุ่มก๊วนเดียวกันกับโน้สและปลา อัจฉรา บุรารักษ์ แห่งไอเบอร์รี่ ดังที่ปรากฏความสนิทของคนกลุ่มนี้สู่สายตาสาธารณชน จากคำบอกเล่าของโน้สบนเวทีเดี่ยว 8 และอีกครั้งเมื่อโน้สได้รับเชิญมาเป็นโฆษก ศอช. (ศูนย์อำนวยความสะดวกพื้นที่ในการช้อปปิ้ง) ที่อารีน่า 10 หลังเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงป่วนเมืองที่แยกราชประสงค์

ศอช. เป็นต้นแบบของการ Co-branding ของตันและโน้สชิ้นแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม สำหรับโน้สเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า เดี่ยว 8.5

โน้สจัดทอล์กโชว์ “เดี่ยว” มาแล้ว 9 ครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี 2538 และกลายเป็นทอล์กโชว์ต้นแบบของวงการบันเทิงไทย ทั้งในแง่รูปแบบและความสำเร็จที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างหนาหูทุกครั้ง ทั้งยังมีรอบพิเศษตามแต่จะมีการว่าจ้าง และต่อยอดเดินสายแสดงในต่างประเทศด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น สร้างรายได้ให้กับโน้สอย่างเป็นกอบเป็นกำตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

โน้สคนเดียวกันนี้ที่ไปยืนเดี่ยวบนเวที Manhattan Center กลางมหานครนิวยอร์ก เวทีเดียวกับที่เคยจัดแสดงโชว์ของศิลปินดังระดับโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Bon Jovi, Aerosmith, Coldplay, Ricky Martin และ Shakira มาแล้ว

ดังนั้น Brand Image ของโน้สจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทอล์กโชว์ชนิดที่หาตัวจับยาก และเมื่อใครสักคนอยากขึ้นมาเดี่ยว ถ้าได้โน้ส มาโค้ชชิ่ง ก็น่าสนใจแล้ว แต่เมื่อคนนั้นเป็นคนดังระดังตัน ผลลัพธ์ยิ่งเพิ่มทวีคูณ

แม้จะมีดีกรีทั้งคู่ แต่ตันยอมรับว่ากังวลไม่น้อยเกี่ยวกับการทอล์กโชว์ครั้งแรกของเขา แม้จะผ่านการบรรยายมาอย่างโชกโชน แต่เขาบอกว่าความรู้สึกไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจที่ได้ผู้เชี่ยวชาญอย่างโน้สมาเป็นโปรดิวเซอร์

“โน้สบอกว่าผมทำได้ แต่ผมมองตัวเองไม่ออก (หัวเราะ) ตอนนี้โน้สเอาเทปบรรยายในที่ต่างๆ ของผมไปดูอยู่ ในฐานะโปรดิวเซอร์ผมเชื่อว่าเขาจะทำให้การบรรยายบนเวทีของผมไม่เหมือนเดิม มีเสน่ห์ของเขาเข้ามาทำให้มีสีสันน่าติดตามมากขึ้น แต่อย่าคาดหวังมากนะ (หัวเราะ)”

โน้สรับผิดชอบเรื่องรูปปั้น “เหมาเจ๋อตัน” ขนาดเท่าตัวจริงที่จะใช้โปรโมตทอล์กโชว์นี้ เขาได้ไอเดียจากรูปร่างและบุคลิกของเหมาเจ๋อตุง เมื่อเรียบร้อยแล้วตันบินไปถ่ายรูปกับรูปปั้นนี้ถึงเชียงใหม่ และอัพโหลดลง Facebook ของเขาทันที ส่วนขนาดเล็กปั้นเป็นกระปุกออมสินสูง 30 ซม. จะเป็นของที่ระลึกแจกจ่ายให้กับพนักงานโออิชิ

“ส่วนตัวชื่นชอบโน้สอยู่แล้ว เคยไปดูเดี่ยวก็หลายครั้ง บางครั้งก็หลายรอบ ชอบที่เขาหยิบเอาเรื่องเล็กๆ เอาเรื่องราวที่คนอื่นมองว่าไร้สาระมานำเสนอได้สนุก ได้ข้อคิด” ตันเปิดใจ

ดังนั้นในทางกลับกัน เมื่อโน้สโค้ชชิ่งตันเรื่องเดี่ยว ตันตอบแทนโน้สด้วยการโค้ชชิ่งเรื่องการลงทุน
ในฐานะนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เก่งกาจในเรื่องของ Strategic Location เขายพาโน้สไปดูที่ดินตอนตี 1 ตี 2 ก็เคยมาแล้ว นอกจากนี้ยังคอยให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุน การวางแผนการเงินกับโน้สอยู่เสมอ

“ผมบอกโน้สว่าอนาคตโน้สก็ทำเดี่ยวไปตลอดชีวิตไม่ได้ เราต้องมีรายได้จากการที่เราไม่ต้องทำงาน 2 เท่าของรายจ่าย เราถึงจะอยู่ได้ เลี้ยงลูกน้องได้ เขาก็สนใจในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่เป็นทุนเดิมด้วย”

งานนี้ตันไม่ได้คาดหวังว่าจะขายตั๋วได้หมดทุกรอบ หรือได้ยอดเงินถึง 75 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับงบที่ตันมีแผนจะนำไปสร้างโรงเรียน เพราะทุกวันนี้ เงินเป็นเรื่องเล็กสำหรับตัน แต่การปูทางเพื่อสร้างแบรนด์ในอนาคตด้วยการกุศลเช่นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเขา ไม่ใช่ความสำเร็จที่ปูทางไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดี่ยวไมโครโฟนแบบโน้สแต่อย่างใด

“หาเงินได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่หักค่าใช้จ่าย ขาดอีกเท่าไหร่ก็เหมา ขอเงินภรรยา (หัวเราะ) เพราะเป็นความตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนเองตั้งแต่แรก แต่อยากให้คนอื่นๆ ได้ร่วมทำบุญด้วย”

หากการ Co-branding ครั้งนี้ของผู้ชาย 2 คนที่อายุต่างกันกว่า 10 ปีนี้ประสบความสำเร็จ ทั้งตันและโน้สอาจจะจับคู่กันสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ อีกก็เป็นได้