ทนพิษกระเเส “บอยคอตญี่ปุ่น” ไม่ไหว Uniqlo จำใจปิดสาขา “เมียงดง” ใหญ่สุดในเกาหลีใต้

Uniqlo เเบรนด์เเฟชั่นยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ต้องจำใจปิดสาขาเมียงดงซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ เเม้จะเคยทำยอดขายสูงสุดมากถึง 2,000 ล้านวอนต่อวัน (ราว 55 ล้านบาท) ก็ตาม โดยสาเหตุหลัก ๆ จากพิษกระเเสบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นที่ยังลุกลามไม่หยุด เเละนักท่องเที่ยวที่ลดลงจาก COVID-19

Uniqlo (ยูนิโคล่) เปิดให้บริการสาขาในเมียงดง เเหล่งช้อปปิ้งสุดฮิตใจกลางกรุงโซลของเกาหลีใต้ มาตั้งเเต่ปี 2011 ตอนนี้ได้ขึ้นป้ายเเจ้งถึงการปิดร้านว่าขอบคุณที่อุดหนุนโดยมีกำหนดปิดอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนม.. ปีหน้านี้

การคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นของเกาหลีใต้ ปะทุขึ้นในช่วงฤดูร้อน 2019 เเม้ที่ผ่านมากระเเสดังกล่าวจะซาลงไปบ้าง เเต่ความเคลื่อนไหวยังไม่จางหายไป

เรื่องราวความบาดหมางของทั้งสองประเทศ ต้องย้อนกลับไปที่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเวลานั้นญี่ปุ่นเป็นฝ่ายบุกเข้าไปในดินแดนของเกาหลีใต้ มีการกดขี่เเละใช้ความรุนเเรงต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นเเผลในใจของคนเกาหลีเรื่อยมา

เกาหลีใต้ มีการเรียกร้องให้ทางการญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยเเละเเสดงความรับผิดชอบในหลายประเด็น เช่น ความรุนเเรงต่อผู้หญิงในช่วงสงคราม เเละการใช้เเรงงานท้องถิ่น โดยในส่วนค่าชดเชยให้เเรงงานนั้นญี่ปุ่นตกลงที่จะจ่ายให้ เเต่ทางเกาหลีใต้ต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มจากเดิม เพราะเงินก้อนแรกที่จ่ายคือของแรงงานไม่ใช่ของรัฐบาล

ในปี 2019 ญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการระงับการส่งออกวัตถุดิบของสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงต่อเกาหลีใต้ นี่เป็นจุดที่ทำให้เกิดกระเเส Boycotts of Japanese Products บอยคอตสินค้าญี่ปุ่นขึ้นอย่างจริงจังในเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อแบรนด์สินค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาทำตลาดในเเดนกิมจิหลายแบรนด์ ทั้งรถยนต์ เครื่องดื่ม เบียร์ เกมเเละเสื้อผ้าเเฟชั่น ฯลฯ

เเละการที่ Uniqlo นำเสนอภาพยนตร์โฆษณาชุดหนึ่งที่มีการตีความจนกระทบจิตใจคนเกาหลี เเละทางบริษัทต้องถอดโฆษณาดังกล่าวออกไปนั้น ก็ยิ่งทำให้  Uniqlo เป็นเเบรนด์ใหญ่ ๆ ที่ติดลิสต์บอยคอตลำดับต้น ๆ

(Photo by Asanka Ratnayake/Getty Images)

พิษจากการคว่ำบาตรเเละผลกระทบจาก COVID-19 ที่นักท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด ทำให้ Uniqlo ซึ่งมีบริษัทเเม่คือ Fast Retailing มีรายได้ในเกาหลีใต้ลดลงครึ่งหนึ่งสำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนสิงหาคม โดยขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 8.83 หมื่นล้านวอน (ราว 2.4 พันล้านบาท)

การปิดสาขาของ Uniqlo ในเมียงดง ไม่ได้เป็นสาขาแรกของเกาหลีใต้ที่ปิดสาขาลงจากพิษการบอยคอต โดยตั้งเเต่เดือน ส.ค. 2019 – ส.ค. 2020 บริษัทได้ปิดสาขาเกาหลีใต้ไปมากถึง 22 สาขา

Selective Boycotting : ไม่ได้แบนทุกอย่าง

เเม้สินค้าญี่ปุ่นหลายชนิดจะถูกเเบนจนได้รับผลกระทบ เเต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่ยังขายดี

Asia Nikkei Review วิเคราะห์ว่า ชาวเกาหลีบางส่วนมีการเลือกที่จะคว่ำบาตร” (Selective Boycotting) เป็นรายสินค้าไป เเละจะไม่เเบนสินค้าญี่ปุ่นที่หามาทดเเทนไม่ได้เช่น ทามาก็อตจิ (Tamagotchi) ของเล่นสุดฮิตจากยุค 90 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของญี่ปุ่น ซึ่งทำยอดขายถล่มทลายหลังนำมาเปิดตัวอีกครั้งเมื่อปีที่เเล้ว

อีกสินค้าที่รอดพ้นคือ PlayStation 5 เกมคอนโซลยอดนิยมของ Sony ที่วางจำหน่ายในเกาหลีใต้เพียงไม่นานก็ขาดตลาดเป็นสินค้าหายากแม้แต่ในช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงอุปกรณ์ตกปลาที่ผลิตโดย Daiwa และ Shimano ของญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมเช่นกัน

โดยกระเเสบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นของคนเกาหลีใต้ครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการ แบนเชิงสัญลักษณ์ ให้เห็นว่ามีความไม่พอใจต่อเเบรนด์หรือประเทศผู้ผลิตสินค้า ซึ่งไม่ได้ตั้งเป้าไปที่ยอดขายจริง ๆ เเต่เป็นไปเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมเเละธุรกิจนั่นเอง

 

ที่มา : Asia Nikkei Review , Yonhap