Uniqlo ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เติบโตได้สวยในการตีตลาดจีน มองอนาคตสามารถขยายสาขาได้ถึง 3,000 แห่ง สวนทางเเบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ ที่ทยอยใช้นโยบายปิดสาขา
ย้อนกลับไป Uniqlo เริ่มขยายสาขาไปต่างประเทศครั้งเเรก หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 โดยเปิดสาขาเเรกนอกญี่ปุ่นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากนั้นเพียง 1 ปีก็บุกไปจีนเเละมีสาขาแรกอยู่ที่เซี่ยงไฮ้
วันนี้ Uniqlo ในประเทศจีน ขยายตัว “เร็วมาก” มีจำนวนแซงหน้าญี่ปุ่นไปเรียบร้อย โดยมีอยู่ทั้งสิ้น 767 สาขา มากกว่าประเทศบ้านเกิดที่มีอยู่ 764 สาขา โดยจำนวนร้านค้าในเเดนมังกรเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับจำนวนร้าน 387 สาขาที่มีในเดือนสิงหาคม 2015
การที่ Uniqlo มีการขยายหน้าร้านไปถึง 7 แห่งตามภูมิภาคต่างๆ ในจีน ตั้งเเต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทกำลัง “พึ่งพา” ตลาดจีนมากขึ้นในยามวิกฤต COVID-19 ซึ่งจีนเป็นประเทศเเรกที่มีการเเพร่ระบาดเเละมีการควบคุมโรคได้ดี
Fast Retailing บริษัทเเม่ของ Uniqlo กำลังเร่งกลยุทธ์สร้าง “โมเดลธุรกิจใหม่” ในจีนด้วยการรวมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเข้ากับการขายที่สาขา ให้สามารถส่งออกสินค้ากลับไปยังญี่ปุ่นได้
เเม้จีนจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของ Uniqlo เเต่บางครั้งปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้ก็สร้างความเสี่ยงให้ธุรกิจไม่น้อย
“ด้วยตลาดที่มีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน เราคิดว่า Uniqlo สามารถขยายสาขาได้ถึง 3,000 แห่ง” Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้งเเละประธานของ Fast Retailing กล่าวกับ Nikkei Asian Review
Uniqlo ให้ความสำคัญในการตีตลาดจีนมากขึ้น ดูจากยอดขายในจีนเมื่อรวมกับฮ่องกงและไต้หวันที่สร้างรายได้กว่า 5.025 แสนล้านเยน (ราว 1.48 แสนล้านบาท) สำหรับปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2019 คิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึง 20% แม้ยอดขายจะน้อยกว่าในญี่ปุ่นที่ทำได้ 8.729 แสนล้านเยน หรือ 2.56 แสนล้านบาท เเต่ก็เป็นการเติบโตที่มีนัยสำคัญ
โดยกลุ่มประเทศที่ “พูดภาษาจีน” มีการขยายตัวที่รวดเร็ว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงเดือนสิงหาคม 2019 มีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 15% มากกว่าญี่ปุ่นถึง 3% ดังนั้นจึงมีการประเมินว่ายอดขายในจีนจะเเซงยอดขายในญี่ปุ่นได้ ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2024
นักช้อปชาวจีนยังรับสินค้าราคาสูงได้ค่อนข้างดี และยังตอบรับ “อีคอมเมิร์ซ” ได้ดีอีกด้วย โดยชาวจีนนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ประมาณ 20% ของยอดขายในจีนของ Fast Retailing ในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2019 เติบโตขึ้นเป็น “สองเท่า” เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น
Tadashi Yanai มองว่า หากบริษัทใช้กลยุทธ์เชื่อมอีคอมเมิร์ซกับหน้าร้านที่มีอยู่ได้ทั้งหมด จะทำให้ยอดขายพุ่งสู่ 2 ล้านล้านเยน (ราว 5.86 แสนล้านบาท) ได้ภายในหนึ่งปี จากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทเคยประเมินว่ายอดขายจะมากถึง 1.99 ล้านล้านเยน ภายในสิ้นสิงหาคม 2020
รูปแบบการเชื่อมธุรกิจออฟไลน์–ออนไลน์เเบบไร้รอยต่อของ Fast Retailing ในจีน เรียกว่าเป็นกลยุทธ์ Information-driven manufacturer-retailer (ข้อมูลข่าวสารขับเคลื่อนการผลิตและค้าปลีก) ซึ่งตลาดจีนน่าจะเป็น “กุญเเจสำคัญ” เพราะจีนเป็นผู้นำในด้านอีคอมเมิร์ซและระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นไปมาก
โดยสาขาในจีนนั้นมีการสั่งออเดอร์ออนไลน์มากขึ้น รวมถึงลูกค้ามีส่วนร่วมในเเคมเปญโซเชียลมีเดีย ขณะที่ในบ้านเกิดอย่างญี่ปุ่น ยังประสบปัญหาแพลตฟอร์มออนไลน์–ออฟไลน์ของ Uniqlo ยังไม่เชื่อมโยงกันได้ดีเท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ตาม การ “พึ่งพาจีน” เกินไปของ Uniqlo ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก หลังในปี 2012 บริษัทต้องปิดชั่วคราวเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเกิดเหตุพิพาทพรมแดนรวมถึงเรื่องโลโก้ที่ไม่สามารถนำมาใช้ในจีนได้จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่เเน่นอนนี้
เเม่ทัพของ Fast Retailing ก็ยอมรับว่าบริษัทต้อง “สร้างสมดุลและไม่พึ่งพาจีนมากเกินไป”
ที่มา : Nikkei Asian Review (1) (2) , WSJ