อินโดนีเซีย บุกอวกาศ ชวน “อีลอน มัสก์” มาตั้งฐานยิงจรวด SpaceX ชูจุดเด่นใกล้เส้นศูนย์สูตร

Photo : Thom Baur / Reuters

รัฐบาลอินโดนีเซีย ออกตัวเชิญชวนเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่างอีลอน มัสก์ซีอีโอ Tesla เเละผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ให้มาสร้าง “ฐานปล่อยจรวด” ไปยังอวกาศบนพื้นที่ของเกาะอินโดฯ

Jodi Mahardi โฆษกกระทรวงการประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุนอินโดนีเซีย กล่าวกับ AFP ว่า อินโดนีเซียมีพื้นที่หลายแห่งตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเหมาะกับการใช้เป็นฐานปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศ โดยจะทำให้จรวดเดินทางเข้าสู่วงโคจรได้ง่ายกว่าการปล่อยจรวดจากพื้นที่อื่น อีกทั้งยังลดต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการปล่อยจรวดเเต่ละครั้งลดลงไปด้วย

SpaceX เพิ่งทดลองปล่อยจรวด Starship หรือ SN8 ที่ฐานปล่อยจรวดในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน เเม้การทดลองดังกล่าวจะล้มเหลว เเต่มัสก์บอกว่า การทดลองที่เกิดขึ้นเป็นความสำเร็จ เพราะทีมพัฒนาได้เรียนรู้จุดอ่อนและมีข้อมูลเพียงพอในการพัฒนาจรวดรุ่นต่อไปแล้ว

ความร่วมมือของอีลอน มัสก์ กับรัฐบาลอินโดนีเซีย เริ่มเเน่นเเฟ้นขึ้น หลัง Tesla กำลังตามหาเเหล่งขุมทรัพย์
เเบตเตอรี่” ซึ่งอินโดนีเซีย เป็นประเทศผู้ผลิต “แร่นิกเกิล” มากที่สุดในโลกนั่นเอง

ดังนั้น การร่วมลงทุนกับรัฐบาลอินโดนีเซีย จึงเป็นเหมือนการ “จองวัตถุดิบ” เพื่อผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมหาศาลที่จะเป็นยานยนต์แห่งอนาคต

เเละเมื่อวันที่ 11 .. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้พูดคุยกับอีลอน มัสก์ ถึงความเป็นไปได้ที่ SpaceX จะเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับการตั้งฐานยิงจรวดในอินโดนีเซีย

โดยสถาบันอากาศและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ LAPAN ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า มีแผนที่จะสร้างศูนย์อวกาศแห่งแรกของประเทศบนเกาะ Biak นอกชายฝั่งทางเหนือของเกาะนิวกินี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ

สำหรับศูนย์อวกาศเเห่งนี้ ตั้งเป้าจะพัฒนาจรวดและฐานปล่อยจรวดขึ้นสู่วงโคจรโลก มีกำหนดทดสอบจรวดครั้งแรกในปี 2024

ย้อนกลับไป เมื่อปี 2007 อินโดนีเซียเคยทดสอบปล่อยจรวดขนาดเล็ก RX-250 ซึ่งสามารถทะยานขึ้นไปที่ระดับความสูง 53 กิโลเมตร เรียกได้ว่ามาถึงครึ่งทางจากระดับความสูงที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพรมแดนอวกาศ (Karman Line) ซึ่งอยู่ที่ 100 กิโลเมตร

ด้านกระเเสข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาด้านอวกาศในไทย ตอนนี้ก็คึกคักไม่น้อย หลัง “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศว่า เร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่สามารถผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ เเละคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 7 ปี ซึ่งจุดประเด็นให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ส่วนจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเเค่ไหน ก็ต้องติดตามกันต่อไป

 

ที่มา : AFP