กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ประชาชนทั่วประเทศแบบฟรีทั้งหมด โดยจะจัดสรรตามลำดับความสำคัญ คาดว่าจะเริ่มต้นฉีดได้ราวเดือนมีนาคม 2564
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้นำเสนอร่างแผนการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ เพื่อให้ทางการจังหวัดและเทศบาลต่างๆ เตรียมความพร้อม ตามแผนการนี้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
- แพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ราว 10,000 คนจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม 2564
- เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3 ล้านคน จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มที่ 2 ประมาณกลางเดือนมีนาคม
- ผู้สูงอายุสูงอายุ 30-40 ล้านคน จะได้รับบัตรให้ไปฉีดวัคซีนในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน
- ประชาชนทั่วไปน่าจะสามารถเข้ารับวัคซีนได้ในช่วงเดือนเมษายนหรือหลังจากนั้น โดยจะให้กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวได้รับวัคซีนก่อน
กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นมุ่งหวังที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า การฉีดวัคซีนจะไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่บังคับให้ต้องฉีด แต่จะพยายามรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนให้ได้จำนวนมากที่สุด
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามในสัญญากับบริษัทยาของต่างประเทศ 3 บริษัท บริษัทเหล่านี้จะส่งมอบวัคซีนให้แก่ญี่ปุ่นหลังจากที่พัฒนาวัคซีนสำเร็จ วัคซีนทุกชนิดจะต้องผ่านการทดสอบทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีกรณีประชาชนได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนไวรัสตับอักเสบ จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าชดเชยจนถึงทุกวันนี้
บริษัทไฟเซอร์ ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นรายแรกที่ได้ยื่นคำร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นรับรองวัคซีนโรค COVID-19 ของตนสำหรับใช้ในญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค. โดยได้ร้องขอให้มีการรับรองด้วยกระบวนการทางลัด ซึ่งมีขั้นตอนน้อยกว่าการพิจารณาคัดกรองโดยทั่วไป
วัคซีนนี้พัฒนาโดยไฟเซอร์ร่วมกับไบออนเทค บริษัทของเยอรมนี ได้เริ่มใช้ในสหรัฐฯ และอังกฤษแล้ว ไฟเซอร์กล่าวว่าวัคซีนของตนมีอัตราประสิทธิภาพถึง 95% โดยอ้างอิงการวิเคราะห์ผลการทดสอบทางคลินิกในหลายที่ทั่วโลก
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงกับไฟเซอร์ว่าจะจัดหาวัคซีนที่เพียงพอสำหรับผู้คน 60 ล้านคนภายในสิ้นเดือนมิถุนายนปีหน้า ทั้งนี้ วัคซีนนี้ได้ดำเนินการทดสอบทางคลินิกในญี่ปุ่นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม
กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นมีแผนจะพิจารณาโดยใช้ผลการประเมินของทางกระทรวง ทั้งในด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีน คาดว่าหากพิจารณาเร่งด่วนอาจจะอนุมัติวัคซีนได้ได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564