กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ปรับเป้าจีดีพีปีนี้ ติดลบ 6.6% เฝ้าระวัง COVID-19 รอบใหม่

Photo : Shutterstock

กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนสูง ปรับเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ -6.6% ภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ยังเปราะบาง เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ห่วงสถานการณ์เงินบาท “แข็งค่าขึ้นเร็ว” เฝ้าระวัง COVID-19 รอบใหม่

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2563 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น และกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 4.8 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะสั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

“ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 และพัฒนาการของตลาดแรงงาน ซึ่งยังมีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ในระดับสูง” 

นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่แตกต่างกันของแต่ละภาคเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีความ “เปราะบาง” ในภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ด้านสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ “ธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสภาพคล่องยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs” 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค ซึ่งทาง กนง. มีความกังวงกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้ม “แข็งค่าขึ้นเร็ว” จากสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุน (risk-on sentiment) และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ อาทิเช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง

ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

“ต้องติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น”

 

ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย