แม้ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ทว่าสินค้าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต ทำให้ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีแม้ในช่วงที่มีการปิดล็อกน์ดาวน์ (Lockdown) ส่งผลให้สินค้าบางรายการกลับมีความต้องการที่สูงขึ้น อาทิ สินค้ากลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ก สินค้ากลุ่ม Tablet/iPad เพื่อใช้สำหรับ Work from home อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้าน ‘ซัพพลายเชน’ กลับเป็นตัวฉุดการเติบโตของตลาด
ไตรมาส 2 ปีหน้า ซัพพลายถึงฟื้น
สุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SYNEX) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอที ระบุว่า ภาพรวมธุรกิจไอทีปี 2563 มองว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากสินค้าไอทียังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่ช่วงสิ้นปีที่มีโครงการของภาครัฐอย่าง ช้อปดีมีคืนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดกลับยังเติบโตไม่เต็มที่เพราะซัพพลายที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ภาพรวมจึงเติบโตไม่ได้เท่าที่ควรจะเป็น
“กำลังซื้อก็มีผลกระทบบ้าง จะเห็นได้จากตลาดล่าง-กลาง แต่กลุ่มบนไม่ได้รับผลกระทบเลย อย่าง iPhone 12 ก็ขายดีมาก โดยเฉพาะตัว Pro และ Pro Max ที่ขาดตลาด”
ขณะที่ปีหน้าคาดว่าซัพพลายจะฟื้นช่วงไตรมาส 2 อีกทั้งกระแส 5G ในปี 63 ยังแค่เริ่มต้น เชื่อว่าผู้บริโภคจะเริ่มตื่นตัวในปีหน้า สินค้าอย่างสมาร์ทโฟนและแกดเจ็ตอื่น ๆ จะยิ่งได้รับความนิยม ดังนั้น ตลาดไอที 64 มองว่าจะบวกกว่าปี 63
ดึง Nintendo ร่วมพอร์ตปีหน้า
ตลาดเกมมิ่งเป็นอีกตลาดที่เห็นการเติบโตอย่างมากรับกระแสการเติบโตของ e-sport ที่ยังคงความร้อนแรง โดยปัจจุบันซินเน็คฯ ครองมาร์เก็ตแชร์ในพอร์ตเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรวมกับเกมมิ่งเกียร์อันดับหนึ่งสูงสุดในประเทศไทย โดยในปี 63 ก็ได้แบรนด์อย่าง ‘Razer’ แบรนด์เกมมิ่งเกียร์ระดับโลกและพร้อมที่จะขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นในปีหน้าโดยได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของ ‘Nintendo’ นอกจากนี้ อีกกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองคือ กลุ่ม ‘สุขภาพ’ ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน ซึ่งซินเน็คฯ เตรียมจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่เป็นไฮเอนด์เทคโนโลยีในเร็ว ๆ นี้
“สินค้ากลุ่มเกมมิ่งยังเติบโตต่อเนื่อง ด้วยระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมที่ถูกพัฒนาขึ้น สามารถเล่นเกมร่วมกันจากเครื่องเล่น Console และ PC ทำให้การตอบรับของผู้เล่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีความต้องการอุปกรณ์เกมมิ่งเกียร์ที่มีความทันสมัย โดยเรายังคงเดินหน้ารุกตลาดนี้ โดยจะได้เห็นการจับมือกับพันธมิตรแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมพอร์ต ควบคู่ไปกับแผนขยายแพลตฟอร์มด้านการบริการทั้งก่อนและหลังการขายอย่างต่อเนื่อง”
ภาครัฐยังลงทุน
ในปี 64 ซินเน็คฯ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงการอัพเกรดระบบ และอุปกรณ์เทคโนโลยีของภาคเอกชน สนับสนุนการเติบโตของสินค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียล (Commercial) และคลาวด์ & ซิเคียวริตี้ (Cloud & Security) ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูง
ล่าสุด ซินเน็คฯ เข้ามาดูแลบริการหลังการขายให้ Xiaomi ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีสมาร์ทโฟนและสินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลายประเภท ซึ่งก็จะมีโอกาสขยายความร่วมมืออื่น ๆ อีกในอนาคต สะท้อนภาพรวมของซินเน็คฯ อยู่ในธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์การเติบโต ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยบวกต่อยอดขายและอัตรากำไรของซินเน็คฯ ในปี 2564
มั่นใจปี 64 โต 15%
เนื่องจากปี 63 ที่สินค้าขาดตลาดทำให้ไม่มีการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงเกินไป อีกทั้ง บริษัทฯ เน้นเจาะสินค้ากลุ่มที่มีมาร์จิ้นสูง และการบริหาร Product Mix อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คาดว่ารายได้ของบริษัทในปีนี้รายได้อาจจะไม่ได้เติบโตจากปีก่อน แต่ในส่วนของกำไรสามารถเติบโตได้มากกว่าเดิม โดยช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมากำไรสามารถเติบโตถึง 18% และในปี 64 ซินเน็คฯ ตั้งเป้าเติบโตทั้งรายได้ และกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15% ปัจจุบัน ซินเน็คฯ มีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสมาร์ทโฟนอยู่ราว 40% ตามด้วยสินค้าไอทีในกลุ่มคอนซูเมอร์ราว 40% และกลุ่มธุรกิจองค์กรอีกราว 20%
“จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นช่วงที่ให้บริษัทจำหน่ายสินค้าไอทีหลายแห่งได้ปรับตัว จากการที่สินค้าขาดตลาดส่งผลให้มีการเคลียร์สต๊อกสินค้า และสามารถทำกำไรได้ ส่วนการแข่งขันในปีนี้ถ้าบริหารจัดการสินค้าได้ดี เชื่อว่าทั้งอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตได้อย่างแน่นอน”