‘ป้อม ภาวุธ’ ฟัน 10 เทรนด์ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ปี 2021 ยุคของ ‘ออนไลน์’ กลายเป็นช่องทาง ‘หลัก’

ปี 2564 จะเป็นปีที่ออนไลน์จะมีบทบาทอย่างมากกับเศรษฐกิจของไทย เพราะ COVID-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของคนไทยทั้งประเทศไปอย่างสิ้นเชิง และในปี 2564 จะเกิดพฤติกรรมการช้อปรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งกูรูในวงการอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง ‘ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ ได้ฟันธง 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

shopping online

1. ออนไลน์ คือ ‘ช่องทางหลัก’

คนไทยจะซื้อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ด้วยโครงการของรัฐ (เราไม่ทิ้งกัน, คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ) กระตุ้นให้คนไทยกระโดดเข้าสู่ออนไลน์แบบไม่เคยมีมาก่อน และด้วยงบประมาณมหาศาลของกลุ่ม JSL (JD, Shopee, Lazada) ที่กระตุ้นคนไทยทั้งประเทศให้หันมาซื้อออนไลน์ ฐานคนซื้อออนไลน์ กลุ่มใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด มากกว่าคนในเมือง กลุ่มคนรุ่นใหม่จะคุ้นเคยกับการซื้อออนไลน์เป็นหลัก และใช้เป็นประจำ

2. 3 มาร์เก็ตเพลสหลักจะคุมตลาดแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’

JSL (JD, Shopee, Lazada) จะคุมตลาดค้าปลีกออนไลน์ ในหลายกลุ่มสินค้าแบบ ‘เบ็ดเสร็จ’ และจะคุมกำลังซื้อของคนไทยในช่วงวัน Double Day ได้ เช่น 11.11, 12.12 เม็ดเงินที่เคยสะพัดในท้องถิ่นจะถูกดึงเข้าสู่โลกออนไลน์ ร้านค้าตามชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะคนในชุมชน จะหันมาซื้อออนไลน์มากกว่าซื้อร้านใกล้ ๆ บ้าน เพราะด้วยราคาถูกกว่า และตัวเลือกมากกว่า

3. บริษัทขนส่งจะกระตุ้นให้โตแบบก้าวกระโดด

การแข่งขันของเหล่าบริษัทขนส่งจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดันให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยิ่งเติบโต โดยที่ผ่านมา ‘Kerry’ ก็เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์, Flash Express ระดมเงินได้หลายหมื่นล้าน ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันการขนส่งแบบดุเดือด ราคาค่าส่งสินค้าจะถูกลง แต่ส่งได้เร็วขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น

4. การชำระเงินค่าสินค้าจะง่ายขึ้น

การชำระเงินจากนี้จะยิ่งง่ายและมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น โอนเงินผ่าน Mobile Banking, บัตรเครดิต, พร้อมเพย์, เงินผ่อนทางออนไลน์, E-Wallet ซึ่งแต่ละช่องทางจะแตกต่างไปตามพฤติกรรมของผู้ซื้อแต่ละกลุ่ม มีช่องทางชำระเงินที่หลากหลายจะช่วยขายได้ง่ายมากขึ้น

5. โรงงานผลิตสินค้าและแบรนด์รุก ‘ขายตรง’

เข้าสู่ยุคที่ผู้ผลิตจะขายของตรงถึงผู้บริโภคผ่านทางออนไลน์ ‘D2C – Direct to Consumer’ ซึ่ง ‘ข้ามหัว’ ค้าปลีกแบบเดิม ๆ การรุกของ JSL ในการบุกตลาดสินค้าแบรนด์ มาสู่ Mall ของตัวเอง (Shopee Mall, Laz Mall) ทำให้หลาย ๆ สินค้าเห็นโอกาสการขายตรงสู่ผู้บริโภคมากขึ้น

6. Food Delivery กระจายทั่วประเทศ

การสั่งอาหารออนไลน์ หรือ Food Delivery จะโตแบบก้าวกระโดด และกระจายตัวไปทั่วประเทศ ระบบนิเวศของการขายอาหารออนไลน์ (Cloud Kitchen, Food Platform) จะขยายตัวโตมากขึ้น นำไปสู่การซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

7. Social รุก E-Commerce เต็มสูบ

Facebook, LINE, Google, JSL บุกการค้าออนไลน์เต็มรูปแบบทั้ง การสร้างร้านค้า (Shop), การจ่ายเงิน (Pay), การทำโฆษณา (Ads) แบบครบวงจรในระบบนิเวศของตัวเอง จะช่วยกระตุ้นให้พ่อค้าแม่ค้าหันมาใช้บริการมากขึ้น ดังนั้นการจะขายให้ดีขึ้น จะต้องไปทุก ๆ ช่องทาง การขาย (Multi-Channel Sale & Marketing)

8. โฆษณาออนไลน์เป็นสิ่งสามัญที่ใคร ๆ ก็ทำ

ราคาโฆษณาจะสูงมากขึ้น การแข่งขัน ทำให้การปรับแต่งโฆษณาให้เก่งขึ้น แม่นยำขึ้น ในราคาที่สมเหตุสมผล จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น จะมีเครื่องมือมากมายที่มาช่วยทำให้การทำโฆษณาสะดวกขึ้น แม่นยำขึ้น และการทำ Marketing Automation จะเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น

Computer screen showing the website for social networking site, Facebook (Photo by In Pictures Ltd./Corbis via Getty Images)

9. กลุ่มลูกค้าจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ

จากนี้ไปกลุ่มลูกค้าจะเป็น ‘Fragmented Market’ ตามพฤติกรรมและสินค้า จากนี้แต่ละประเภทการขายสินค้าจะไม่ได้แบ่งตามกลุ่มอายุ เพศ อีกต่อไป (Demographic) แต่จะถูกแบ่งด้วย พฤติกรรมและความชอบ (Behavior & Lifestyle) ไปตามเนื้อหา (Content) สินค้า (Product) ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนที่มีลักษณะและความชอบคล้าย ๆ กันอยู่รวมกัน (Community)

10. Influencer Commerce

จากนี้ผู้มีอิทธิพล หรือ Influencer จะมีผลต่อการซื้อสินค้ามากขึ้นอย่างมาก เจ้าของสินค้าต่าง ๆ จะเริ่มพึ่งพาผู้มีอิทธิพล (Influencer & KOL) มากขึ้น โลกของ Influencer จะแตกออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จนเจ้าของสินค้าต้องหาให้เจอ ว่าคนไหนที่เหมาะกับสินค้าของเรา และจะเกิดเอเจนซี่ที่มาช่วยบริหารจัดการ Influencer มากมาย

“บอกได้เลยว่าปี 2021 จะเป็นปีที่ธุรกิจไทย หากใครไม่ได้เข้าสู่ออนไลน์ คุณจะตกขบวน และพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งที่ลุยออนไลน์อย่างเต็มที่แน่นอน” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กล่าว