ความไม่เเน่นอนของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางโรคระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ‘ความเชื่อมั่น’ ของนักลงทุน
โดยนักลงทุนจากประเทศจีน ถือเป็นกลุ่มใหญ่ลำดับต้นๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ มาดูกันว่า…ทิศทางของเม็ดเงินการลงทุนของจีนจะเป็นอย่างไร ธุรกิจที่น่าสนใจ ผู้ประกอบการชาวไทยต้องเตรียมตัว เเละมี ‘ข้อควรระวัง’ อย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมรับโอกาสการลงทุนในปี 2021 นี้
คาดจีน ‘ขนเงิน’ ลงทุนไทย หลัง COVID-19
สำหรับภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจ SMEs ที่ปรับกลยุทธ์หันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อขยายตลาดในอาเซียน
หากย้อนไปในช่วง 5 ปีก่อน จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนของจีนในไทยไม่ได้อยู่ในอันดับ 5 แต่ในปี 2561 ประเทศจีนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 เเทนที่ประเทศญี่ปุ่นที่เคยเป็นอันดับ 1 ในการลงทุนในตลาดไทย
มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในปี 2562 มีมูลค่าการลงทุนสะสมรวมอยู่ที่
1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในอาเซียนสัดส่วนประมาณ 11% และไทยมีสัดส่วนประมาณ 1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2558 ที่มีสัดส่วนการลงทุนสะสมเพียง 0.3% เท่านั้น
“แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังค่อนข้างน้อย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น CLMV ที่มีสัดส่วนการลงทุนถึง 4% โดยเฉพาะการลงทุนในเวียดนามที่ค่อนข้างโดดเด่น สะท้อนว่าการลงทุนในไทยยังค่อนต่ำเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน เเต่ก็มองว่าส่วนนี้ยังสามารถขยายเพิ่มได้อีก”
โดย SCB ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 170 รายที่มีการลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับไทย พบว่า นักลงทุนกว่า 2 ใน 3 ให้ความสนใจที่จะขยายการลงทุนมายังไทยในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ราว 60% ยังเป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญ
เหตุผลหลักๆ คือ มองว่าไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีความพร้อมและตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถก้าวเป็น ‘ศูนย์กลางอาเซียน’ เพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่นักลงทุนจีนเคยมองว่า ประเทศไทยเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น
อีกทั้ง ยังมีปัจจัยที่เอื้อให้การลงทุนไทยยังเติบโต จากนโยบายการลงทุนต่างประเทศของจีนที่น่าจะเปลี่ยนไปเพราะภัยโรคระบาด จากเดิมที่เคยมองการลงทุนในสหรัฐฯ เเละยุโรป ก็มีเเนวโน้มจะนำเงินทุนเหล่านั้นมาลงในประเทศ
เเถบอาเซียนเเละไทย ที่มีความรุนเเรงในการเเพร่ระบาดน้อยกว่า
จีนลุยเจาะธุรกิจ ‘บริการ’ ในไทย
อุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจเริ่ม “กระจายตัว” มากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมหนัก อย่าง การลงทุนในระบบรางขนส่ง รถไฟ ฯลฯ
แต่ในระยะหลังนักธุรกิจจีนเริ่มหันมาบุกตลาดไทยมากขึ้น ทั้งในภาคบริการ เทคโนโลยี สาธาณูปโภค โลจิสติกส์ ร้านอาหาร รวมไปถึงการตั้งสำนักงานทนายความรองรับนักธุรกิจจีนในไทย
“จากเดิมเม็ดเงินลงทุนจากจีนจะมีขนาดใหญ่ราว 1,000 ล้านบาท เเละจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมหลัก อย่าง ยางรถยนต์ ต่างจากตอนนี้ที่มีการกระจายการลงทุนมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนมีขนาดเล็กลง อาจเหลือเพียง 500 ล้านบาท แต่เราจะได้เห็นปริมาณโครงการลงทุนว่ามีมากขึ้นเกินความคาดหมาย”
โดยพฤติกรรมของนักลงทุนจีน โดยเฉพาะ SMEs (ที่มีขนาดใหญ่กว่าในไทย) ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า จะใช้เงินลงทุนในช่วงแรกน้อยลง เพื่อเรียนรู้ตลาดก่อนขยายธุรกิจในอนาคตตามโอกาสและทิศทางการเติบโต โดยธุรกิจ “บริการและเทคโนโลยี” จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป
เเซงญี่ปุ่น จีนขึ้นเบอร์ 1 ดันเม็ดเงิน FDI ในไทย 5 หมื่นล้าน
ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า ในปี 2564 GDP ทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ 5.4% ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ติดลบ 4.1%
โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เเละยุโรปจะฟื้นตัว แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ขณะที่จีนยังเป็นมหาอำนาจใหญ่ชาติเดียวที่ยังเติบโตได้ แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าก็ตาม
คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 8.3% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ 5.4% ถือว่าเป็นโอกาสดีในการทำธุรกิจกับจีน
หากดูข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของโลก จากการประเมินของ UNCTAD ในปี 2564 พบว่า ยังมีแนวโน้มหดตัว -10% จากปี 2563 ที่หดตัวสูงถึง -30-40% หรือคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีเม็ดเงินลงทุน 2.04 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจาก COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์
“เเต่จะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบน้อยสุด โดยเม็ดเงิน FDI หดตัว -12% เมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรปที่หดตัว -100% สะท้อนการควบคุม COVID-19 ได้ค่อนข้างดี”
เมื่อเจาะลึกถึงการลงทุนในไทยของนักลงทุนจากจีน พบว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน เเม้การยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีอัตราการหดตัว -19% แต่จะเห็นว่าการอนุมัติโครงการมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการยื่นขอในช่วง 2-3 ปีก่อนทำให้มีเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาในไทยต่อเนื่อง
ปัจจุบันการขอส่งเสริมการลงทุนของจีน ขึ้นแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 แล้ว โดยมูลค่าเงินทุนที่ได้รับอนุมัติของจีนอยู่ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านบาท
“ในปี 2563 จะเห็นว่าญี่ปุ่นยื่นขอส่งเสริมการลงทุน BOI มากที่สุด แต่จีนได้รับการอนุมัติการลงทุนมากที่สุด”
โดยต่อไป ไทยต้องเร่งในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ไปพร้อมๆ กับปัจจัยสนับสนุน อย่าง การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และต้องจับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยการที่สหรัฐฯ มีผู้นำคนใหม่เป็น “โจ ไบเดน” ก็จะเห็นทั้งนโยบายส่งเสริมและกีดกันทางการค้ามากขึ้น เเละโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้วอำนาจได้แก่ จีน สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา
โอกาสเเละความเสี่ยงที่ควรระวัง
มาณพ ระบุว่า การที่โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ CLMV นั้นต้องพึ่งพาจีนมากกว่าไทย เเละมีชายเเดนใกล้กัน ทำให้มีความสัมพันธ์กับนักลงทุนจีนมากกว่า เเต่ไทยก็ยังสามารถวาง ‘จุดเเข็ง’ ของตัวเองได้ ด้วยการเป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเเละเทคโนโลยีที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงความพร้อมเรื่องของบุคลากร ที่จะเป็นตัวต่อยอดกับนักธุรกิจจีนต่อไปได้
“เหตุผลนักลงทุนจีนเลือกมาที่ประเทศไทย เขาไม่ได้มองไปที่การประหยัดต้นทุนเป็นอันดับเเรก ซึ่งต่างกับการไปลงทุนที่ใน CLMV ที่มักจะพิจารณาถึงต้นทุนที่ต่ำกว่า”
สำหรับข้อดีที่เป็นโอกาสต่อไป คือ นักธุรกิจจีนกำลังจะเข้ามาในลงทุนในไทยมากกว่าทุกวันนี้ เเละกระจายตัวไปในหลายภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อตีตลาดไทย หาช่องทางการตลาดโดยตรงเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจไทย
เหล่านี้เป็นโอกาสของนักธุรกิจไทย ที่จะเข้าไปเป็น “พันธมิตรร่วมทุน” หรือจับมือการค้าต่างๆ รวมไปถึงการให้บริการหรือขายบริการให้กับนักธุรกิจจีนที่มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
ดังนั้น จึงต้องเตรียมการทำเข้าใจนักธุรกิจจีนมากขึ้น เพราะคนจีนจากเเต่ละภูมิภาค เเต่ละมณฑลก็มีลักษณะการทำธุรกิจที่เเตกต่างกัน นักธุรกิจจากบริษัทขนาดใหญ่เเละขนาดเล็กก็เเตกต่างกัน เป็นช่องทางที่เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านกฎระเบียบของไทย ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของตลาดไทยมากขึ้น
ด้าน “ความเสี่ยง” ที่ต้องระมัดระวังนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าเเต่เดิมจีนวางว่าไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จึงไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจบ้านเราเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อดีมานด์-ซัพพลาย เเต่ปัจจุบันเมื่อนักธุรกิจจีนเลือกที่จะเข้ามาตีตลาดไทยเอง ก็ทำให้ “สมการการเเข่งขัน” เปลี่ยนเเปลงไป
อีกทั้งนักธุรกิจจีนยังมาพร้อมกับเงินทุน ต้นทุนที่ต่ำกว่า เเละเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า ตลอดจนวิธีการทำงานของนักธุรกิจจีนบางรายก็มีความก้าวร้าวมากกว่านักธุรกิจชาติอื่นๆ เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องทำความเข้าใจให้รอบคอบ
“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเเบรนด์จีนขยับขึ้นมามีชื่อเสียงระดับโลกเพิ่มขึ้นมาก สินค้ามีคุณภาพ มีการดีไซน์สินค้า นำไปสู่การเเข่งขันในตลาดที่ดุเดือดมากขึ้น ดังนั้นนักธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงการหาแนวทางเป็นคู่ค้ากับนักธุรกิจจีนเพื่อรับกระเเสเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนต่อไป”
- ทำไม “จีน” ต้องตัดเงินอุดหนุน “ยานยนต์พลังงานใหม่”
- ส่องปัจจัย “เวียดนาม” เตรียมครองที่ 1 อาเซียน เศรษฐกิจโตแรงสุดยุค COVID-19