ราคาหุ้นบริษัท “แบรนด์เนม” พุ่งทะยาน นักลงทุนมองเทียบชั้นหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ

(Photo : Shutterstock)
LVMH, Hermes, Kering ราคาหุ้นบริษัทเหล่านี้ต่างพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เทียบได้กับหุ้นกลุ่มยักษ์เทคโนโลยีสหรัฐฯ สาเหตุจากรายได้ที่ดีขึ้นช่วงปิดประเทศ ทำให้เศรษฐีลงทุนกับเสื้อผ้า-กระเป๋าแบรนด์เนมแทนการท่องเที่ยว นักวิเคราะห์มองระมัดระวังช่วงเปิดประเทศ แรงซื้ออาจจะตกลง

แรงส่งหลักจากการประกาศผลประกอบการที่ดีร่วมกับการเติบโตของกำลังซื้อในจีน ทำให้หุ้นบริษัท “แบรนด์เนม” หลักๆ อย่าง LVMH, Hermes International และ Kering SA ต่างทำสถิติราคาหุ้นพุ่งเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จนทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มมองหุ้นกลุ่มแฟชั่นเหล่านี้เทียบกับหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ

“เรามองบริษัทลักชัวรีจากยุโรปเหล่านี้เทียบกับหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในแง่ที่ว่าธุรกิจกลุ่มนี้ต่างไม่มีคู่แข่งในเชิงอิทธิพลต่อการค้าระดับโลกจิลส์ รอธบาร์ธ ผู้จัดการบริษัทจัดการกองทุน Blackrock European Dynamic Fund กล่าว โดยเขาเห็นว่าบริษัทกลุ่มธุรกิจนี้บางแห่งยังมีอนาคตที่สดใสและน่าดึงดูดใจรออยู่ แม้ว่าราคาจะปรับขึ้นไปแล้วก็ตาม

 

เศรษฐีช้อปแทนท่องเที่ยว-ลูกค้าจีนคือขุมทอง

Richemont เจ้าของแบรนด์ Cartier คือบริษัทลักชัวรียักษ์ใหญ่รายแรกที่รายงานผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 โดยรายได้ของเจ้าของแบรนด์เครื่องเพชรเจ้านี้สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์มาก ระบุเติบโต 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เจาะลึกในรายได้ของ Richemont พบว่าตลาดที่เติบโตสูงนั้นมาจากเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะ “จีน” ซึ่งเติบโตถึง 80% และตลาดตะวันออกกลางที่เริ่มฟื้น ขณะที่ยุโรปยังติดลบ -20%

Louis Vuitton เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ภาพเมื่อเดือนมี.ค. 2019 (Photo : Shutterstock)

สำหรับยักษ์ใหญ่ของตลาดหุ้นยุโรปอย่าง LVMH จะรายงานผลประกอบการพรุ่งนี้ (26 ม.ค. 2021) โดยบริษัทจัดการกองทุน GAM’s Luxury Brands Equity Fund ประเมินว่า LVMH จะทำรายได้ได้ดีมาก เนื่องจากโมเมนตัมการขายของแบรนด์หลักคือ Louis Vuitton และ Dior เป็นไปด้วยดี

สาเหตุที่ขายดีเพราะนักช้อปกระเป๋าหนักต่างไม่สามารถใช้เงินไปกับการท่องเที่ยวและร้านอาหารหรูได้ ผลจากการล็อกดาวน์ ทั้งปิดประเทศและบางประเทศมีการปิดร้านอาหารด้วย ดังนั้น เศรษฐีเหล่านี้จะใช้เงินกับสินค้าลักชัวรีทดแทน และผู้ที่ได้รับอานิสงส์สูงสุดก็คือแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด

“แบรนด์ดังดูเหมือนจะหยุดไม่อยู่แล้ว” ลูก้า โซลก้า นักวิเคราะห์ที่ Sanford C.Bernstein & Co. กล่าว ที่ผ่านมา การเติบโตหลักของกลุ่มแบรนด์เนมมาจากลูกค้าจีนที่ยอมช้อปภายในประเทศแม้ราคาจะสูงกว่าไปซื้อต่างประเทศ “ของแบรนด์เนมกลายเป็นสิ่งที่ ‘ขาดไม่ได้’ มากกว่าสิ่งที่ ‘ถ้ามีก็ดี’ ไปแล้ว” เขากล่าว

ลูกค้าจีนคือตลาดที่ทุกคนหมายปอง และไม่ใช่แค่กลุ่มเศรษฐียอดพีระมิดเท่านั้น LVMH ที่เพิ่งจบดีลควบรวม Tiffany & Co. สะท้อนให้เห็นเห็นว่าบริษัทกำลังปรับพอร์ต เก็บแบรนด์ที่แข็งแรงที่สุดในกลุ่มลูกค้าระดับกลางไว้กับตัวด้วย เนื่องจากเทรนด์การยกระดับฐานะของชาวจีนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ชาวจีนที่ปรับฐานะขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางจะทำให้แบรนด์ได้ประโยชน์ส่วนนี้

 

ราคาสูงเกินจริง-จับตาเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงทำให้นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่าควรระวัง เช่น RBC Capital Markets ชี้ว่าราคาหุ้นลักชัวรีขึ้นไปสูงกว่า 40 เท่าของกำไรต่อหุ้นที่คาดการณ์ปีนี้ และเทียบกับ P/E เฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 23 เท่า เห็นได้ว่าสูงเกินไปมาก

แม้แต่การเปรียบเทียบกับหุ้นยักษ์เทคโนโลยี ราคาหุ้นลักชัวรีก็ยังแพงกว่ามาก เช่น Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google P/E อยู่ที่ 27 เท่า Apple Inc. P/E 33 เท่า หรือ Facebook Inc. P/E 24 เท่า

ขณะที่นักวิเคราะห์ Deutsch Bank AG ก็ระมัดระวังกับหุ้นลักชัวรีเหมือนกัน จากหุ้นกลุ่มนี้ 13 ตัวที่ติดตามในพอร์ต มีแนะนำซื้อเพียงตัวเดียวคือ Richemont เนื่องจากเห็นว่าการปรับราคาขึ้นสูงมาจาก “การซื้อตามความพึงพอใจโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงร่วมด้วย”

นักวิเคราะห์บางรายมีมุมมองว่า ปีนี้บางประเทศอาจจะเริ่มเปิดการท่องเที่ยว หรือสามารถนั่งทานอาหารในร้านได้ตามปกติแล้ว ดังนั้น ผู้บริโภคจะใช้เงินกับการท่องเที่ยวและทานอาหารนอกบ้านมากกว่าการซื้อกระเป๋ารุ่นล่าสุด

ลูกค้าจีนคือแรงผลักสำคัญต่อรายได้-กำไรกลุ่มธุรกิจ “แบรนด์เนม” อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ราคาหุ้นสูงเกินไปหรือไม่และจะขึ้นได้อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์พิจารณา

Source