คนไทยชอบดูไลฟ์ขายของ! Shoplus โตพรวด 18 เท่า เตรียมดึง SMEs ใช้ AI ขายบนโซเชียล

อานิสงส์ COVID-19 และการล็อกดาวน์ ทำให้อีคอมเมิร์ซพุ่งทะยาน มูลค่าการขายผ่าน Shoplus ประเทศไทย เติบโตถึง 18 เท่าเมื่อปี 2563 บริษัทคาดว่าภายในปี 2568 อีคอมเมิร์ซไทยทั้งตลาดจะเติบโตแตะ 3.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.37 แสนล้านบาท) โดยการขายแบบโซเชียลคอมเมิร์ซจะคิดเป็น 40% ของมูลค่า ไฮไลต์สำคัญ “ไลฟ์ขายของ” ยิ่งฮิตจัด คนซื้อมองเป็นช่องทางความบันเทิง

“คิมมี เฉิน” ผู้จัดการทั่วไป Shoplus เปิดภาพธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) รวมถึงประเทศไทย พบว่าปี 2563 ที่ผ่านมา ภูมิภาค SEA มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคน รวมทั้งหมดมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ 400 ล้านคน โดย 1 ใน 3 ของจำนวนนี้เริ่มใช้บริการดิจิทัลเป็นครั้งแรก และ 95% น่าจะยังใช้บริการดิจิทัลต่อไปแม้สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายก็ตาม

เจาะลึกเฉพาะประเทศไทย พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยเข้าถึงโซเชียลมีเดียสูงมาก โดยคิดเป็นสัดส่วน 75% ที่มีการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญให้ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” ได้รับความนิยม

 

ปี 2568 คาดอีคอมเมิร์ซไทยมูลค่าเฉียด 1 ล้านล้านบาท

สำหรับ “เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต” ของประเทศไทย Shoplus อ้างอิงข้อมูลจาก Temasek และ Google คาดการณ์ว่าจะเติบโตรวม 25% ภายใน 5 ปี หรือมูลค่าขึ้นไปแตะ 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.59 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2568 เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซียในภูมิภาคนี้ (เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตมาจากธุรกิจหลายส่วน เช่น อีคอมเมิร์ซ จองท่องเที่ยวออนไลน์ ขนส่งและอาหาร และสื่อออนไลน์)

เฉพาะธุรกิจ “อี-คอมเมิร์ซ” ในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.37 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้จะเป็นการขายผ่านโซเชียลมีเดียหรือ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” ราว 40% หรือเท่ากับ 1.28 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.85 แสนล้านบาท)

ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ประเทศไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9.37 แสนล้านบาท) (Photo : Shutterstock)

 

COVID-19 เป็นตัวเร่ง แบรนด์ใหญ่ทำโซเชียลคอมเมิร์ซ

จุดโฟกัสของ Shoplus คือ โซเชียล คอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นตลาดที่แข็งแรงมากในภูมิภาค SEA ผู้บริโภคพื้นที่นี้มีจุดร่วมคือธรรมชาติของการช้อปผ่านโซเชียล โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียมากดังกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่งของโซเชียล คอมเมิร์ซคือ COVID-19 ทำให้ “แบรนด์ใหญ่” ต่างต้องหันมาโหมการขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเปิดประตูมาใช้โซเชียลมีเดียขายของด้วย ไม่ใช่แค่การขายผ่านมาร์เก็ตเพลซเท่านั้น ยกตัวอย่างปีก่อนมีแบรนด์ที่หันมาขายทางโซเชียลในภูมิภาค เช่น M150, Maybelline เวียดนาม, L’Oreal มาเลเซีย, Tesco มาเลเซีย, OPPO ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

นารายา ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่หันมาใช้การไลฟ์ขายของแล้วได้ผล (Photo : Shutterstock)

กรณีประเทศไทย ยกตัวอย่างลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้บริการ Shoplus และได้ผลดี เช่น นารายา แบรนด์กระเป๋าที่ต้องสู้ศึกนักท่องเที่ยวหายจากตลาด เริ่มใช้ระบบอัตโนมัติของบริษัทเชื่อมโยงกับการจัด Facebook Live ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทันที 50% ตั้งแต่ครั้งแรกที่ขาย และระบบออโต้นี้ทำให้ลดพนักงานแอดมินได้ 3 ใน 4 พร้อมกับลดเวลาการจัดการคำสั่งซื้อลง 90%

หรือกรณีของ บาร์บีคิว พลาซ่า ก็เริ่มใช้ AI แชตบอต เพื่อขายอาหารพร้อมทานบน Facebook โดยตรง ช่วยกระตุ้นยอดขายอีกช่องทางหนึ่ง

 

“ไลฟ์ขายของ” ฮิตจัด ลูกค้าชอบความบันเทิง

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของโซเชียล คอมเมิร์ซในภูมิภาค SEA คือ ความนิยมการ “ไลฟ์ขายของ” ซึ่งยิ่งฮิตมากขึ้นในปีที่ผ่านมา เพราะการล็อกดาวน์ช่วง COVID-19 ทำให้ผู้ซื้อต้องการปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ผ่านโลกออนไลน์มากกว่าที่เคย และผู้ซื้อเห็นว่าช่องทางนี้เป็นการรับความบันเทิงอย่างหนึ่ง แบบที่เรียกว่า Live Shoppertainment

โดยจะเห็นว่าแม้แต่แบรนด์ใหญ่ก็มีการไลฟ์ขายของแล้ว ดังเช่นตัวอย่างแบรนด์ “นารายา” ที่เริ่มจากการไลฟ์ในสตูดิโอและขยับมาไลฟ์ในร้านหลังจากภาครัฐอนุญาตเปิดศูนย์การค้า ซึ่งทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้ไปช้อปเองที่ร้าน

เครื่องมือยอดนิยมของ Shoplus ในประเทศต่างๆ

เจาะที่ประเทศไทย Shoplus บริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยี AI ช่วยซื้อขายสินค้าออนไลน์ จัดอันดับ “เครื่องมือการขาย” ที่นิยมในหมู่ลูกค้าแต่ละประเทศ พบว่าเครื่องมือที่นิยม 5 อันดับแรกในไทย คือ 1) ระบบจัดการคำสั่งซื้อ 2) Buy Link (คลิกเพื่อเข้าหน้าคำสั่งซื้อได้เลย) 3) Auto-Detection หรือระบบตรวจจับคำสั่งซื้อที่เข้ามาระหว่างการไลฟ์ 4) AI แชตบอต 5) ระบบบรอดคาสต์ข้อความใน Messenger

เห็นได้ว่าเครื่องมือ AI ที่ใช้คู่กับการไลฟ์นั้นอยู่ในอันดับ 3 ของลิสต์ที่พ่อค้าแม่ค้าไทยต้องการ ทำให้ปีนี้ Shoplus จะเน้นนำเสนอเครื่องมือช่วยไลฟ์ขายของใน Instagram เพิ่มเติม จากปีก่อนๆ มีเครื่องมือสำหรับไลฟ์ใน Facebook แล้ว

“ตอบยากว่าไลฟ์ขายของจะโตไปถึงแค่ไหน แต่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลง ถ้ายังมีการใช้โซเชียลมีเดียก็น่าจะยังโตได้เรื่อยๆ และอนาคตน่าจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยให้ความบันเทิงเพิ่มอีกด้วย เช่น ระบบ AR (Augmented Reality)” คิมมีกล่าว

 

Shoplus โตพรวด 18 เท่า ปีนี้เน้นกลุ่ม SMEs

สำหรับบริษัท Shoplus ประเทศไทย ปี 2563 มียอดออร์เดอร์ผ่านระบบมูลค่ารวม 2,230 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 18 เท่า เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีการสั่งซื้อรวม 3.64 ล้านครั้ง

จากกราฟการเติบโตจะเห็นว่า ยอดคำสั่งซื้อเติบโตขึ้นเพราะสถานการณ์ COVID-19 อย่างชัดเจน ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเพิ่งเริ่มมีการระบาด มีคำสั่งซื้อราว 28,000 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ตัวเลขนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการล็อกดาวน์ ขึ้นไปสูงช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ก่อนจะตกลงเล็กน้อย และมาแตะจุดพีคอีกครั้งช่วงเดือนธันวาคม 2563 ยอดสั่งซื้อ 87,000 ครั้งต่อสัปดาห์

กราฟการเติบโตของ Shoplus เห็นได้ชัดว่า COVID-19 มีผลบวกกับโซเชียล คอมเมิร์ซมาก

คิมมีกล่าวว่า สำหรับแผนงานของ Shoplus ที่ผ่านมามีลูกค้าเป็นแบรนด์ใหญ่ เช่น Unilever, นารายา, บาร์บีคิว พลาซ่า รวมถึงแม่ค้าออนไลน์ “พิมรี่พาย” ด้วย แต่ปีนี้จะหันมาเน้นตลาดธุรกิจ SMEs มากขึ้น โดยเน้นไปที่ SMEs ที่มีรายได้เกิน 10 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจแข็งแรงแล้ว และ Shoplus จะช่วยต่อยอดการขายบนโซเชียลให้ได้

บริการของ Shoplus จะเป็นระบบออโต้ในการทำงานบนโซเชียล คอมเมิร์ซ ทำให้การขายคล่องตัว ใช้คนน้อยลง แต่คิมมีระบุว่า เป้าหมายของระบบไม่ใช่การแทนที่คน 100% เพราะจากประสบการณ์พบว่า ไม่เพียงแต่ผู้ซื้อที่ไม่ต้องการเช่นนั้น ผู้ขายเองก็ต้องการสร้าง ‘human touch’ พูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกค้าเช่นกัน ทำให้ระบบออโต้ของ Shoplus มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับพฤติกรรมใช้งานแบบนี้มากขึ้น

เกี่ยวกับ Shoplus : เป็นบริษัทบริการ AI เพื่อบริหารจัดการร้านค้าบนโซเชียล ในเครือบริษัท iKala (ไอคาล่า) จากไต้หวัน ทั้งเครือบริษัทมีบริการอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย มีฐานลูกค้ารวมกว่า 400 องค์กร