Facebook จีบ “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” ร่วมเปิดขายระบบสมาชิก “จดหมายข่าว”

Facebook เทสต์ฟีเจอร์หารายได้แบบใหม่อีกแล้ว! รอบนี้เป็นฟีเจอร์ในรูปแบบ “จดหมายข่าว” ให้กับสมาชิกที่สมัครรับข่าวสาร โดยมีการเก็บค่าสมาชิกและแบ่งรายได้ให้กับ “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” ที่มาร่วมงาน

เว็บไซต์ Axios รายงานข้อมูลจากแหล่งข่าววงในว่า Facebook กำลังจะทดลองฟีเจอร์ใหม่ในลักษณะ “จดหมายข่าว” โดยฟีเจอร์ใหม่นี้ยังไม่ได้ตั้งชื่อ แต่จะเป็นการควบรวมกับ Facebook Pages หรือก็คือ “เพจ” ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันมานาน และแพลตฟอร์มจะสนับสนุนการสร้างเว็บไซต์แยกต่างหากจาก Facebook โดยให้ครีเอเตอร์ตั้ง “กลุ่ม” ใน Facebook ไว้ใช้สานสัมพันธ์กับผู้ติดตาม และเป็นฐานเพื่อวิเคราะห์ลักษณะชุมชนผู้ติดตามได้

รายงานข่าวระบุว่า Facebook จะเริ่มทดลองฟีเจอร์จดหมายข่าวเร็วๆ นี้ โดยคอนเทนต์ ครีเอเตอร์กลุ่มแรกๆ ที่ได้รับเชิญมาร่วมทดลอง ทางบริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้ด้วยเพื่อจูงใจให้เข้ามาใช้งาน

ฟีเจอร์จดหมายข่าวที่เราคุ้นเคยมักจะเป็นการสมัครรับข่าวทางอีเมล ซึ่งมักจะใช้ “ข้อความ” สื่อสารเป็นหลัก แต่จดหมายข่าวของ Facebook ต้องการให้เป็นมัลติมีเดียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สตรีมมิ่ง หรือผสมผสานฟีเจอร์ “Stories” เข้าไปด้วย

Facebook หันมาสนใจฟีเจอร์ “จดหมายข่าว” เพราะช่องทางสื่อสารวิธีนี้กำลังกลับมาฮิตในโลกตะวันตก นำโดยสตาร์ทอัพมาแรง “Substack” ซึ่งมองการรับข่าวสารในมุมใหม่ว่าไม่ควรจะฝากไว้กับอัลกอริธึม แต่ควรจะสมัครรับข่าวกับช่องทางที่คุณไว้วางใจ

ความฮิตนี้ทำให้ Twitter เทกโอเวอร์บริษัทแพลตฟอร์มจดหมายข่าว Revue ไปเมื่อเดือนมกราคม 2021 และ LinkedIn ก็กำลังซุ่มพัฒนาโครงการรวมตัวครีเอเตอร์สำหรับพัฒนาคอนเทนต์ให้องค์กรอยู่เช่นกัน

การเปิดฟีเจอร์เกี่ยวกับ “ข่าวสาร” ที่จะสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์หรือ “นักข่าว” โดยตรงจาก Facebook เกิดขึ้นในห้วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ Facebook กำลังทำศึกกับสื่อออสเตรเลีย โดยประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายบังคับให้ทั้ง Facebook และ Google ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์แก่บริษัทสื่อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 (อ่านเพิ่มเติม : “ออสเตรเลีย” ผ่านกฎหมาย บีบ Google/Facebook จ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวแก่สื่อท้องถิ่น)

น่าสนใจว่านี่อาจจะเป็นโครงการรองรับอนาคตของ Facebook ที่จะมีครีเอเตอร์ข่าวในลักษณะเอาต์ซอร์สหรือพาร์ตเนอร์ของตนเอง แทนที่จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทสื่อดั้งเดิม และยังสอดคล้องกับกระแสการแยกตัวของนักข่าวดังที่มีฐานผู้ติดตาม เริ่มลาออกมาเปิดเว็บไซต์ข่าวส่วนตัวกันมากขึ้น

ที่มา: The Verge, Axios