Loop ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นระบบแบบเดียวกับ “คนส่งนม” ในสหรัฐฯ ยุค 1950-60s บริษัทนี้ใช้ไอเดียแบบเดียวกันแต่นำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น เช่น แชมพู ไอศกรีม ผงซักฟอก ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ลดใช้พลาสติก” ผ่านการ “รียูส” บรรจุภัณฑ์ และลูกค้ายังรู้สึกสะดวกเหมือนเดิม
สารพัดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ที่เราใช้ในครัวเรือน เมื่อใช้จนเกลี้ยงเราก็มักจะโยนแพ็กเกจจิ้งทิ้ง เพราะนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อได้ยาก
แต่เมื่อโลกเราเริ่มตระหนักถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมจากของใช้แล้วทิ้งมากขึ้น ทำให้มีธุรกิจพยายามจะสร้างโมเดลใหม่มาแก้ปัญหา เช่น ร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่ให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มากดสบู่-แชมพูเอง แต่ก็ยังติดปัญหา “ความสะดวก” และ “ความมั่นใจในแบรนด์” ของสินค้านั้นๆ ทำให้โมเดลธุรกิจแบบนี้ยังไม่นิยมเป็นวงกว้าง
ด้วยเหตุนี้ Loop จึงเป็นบริษัทที่คิดการใหญ่ จับมือแบรนด์เครื่องอุปโภคบริโภคชื่อดังเป็นพาร์ตเนอร์เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์แบบ ‘รียูส’ ได้ โดยอาจจะทำมาจากอะลูมิเนียม สเตนเลส หรือแก้ว และสร้างระบบจัดส่ง-เก็บคืนที่สะดวก ทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกยุ่งยาก แถมยังได้เลือกใช้สินค้ายี่ห้อเดิมที่ตัวเองพอใจ
วิธีใช้งาน Loop ก็เหมือนกับการใช้คนส่งนมในอดีต ยุคที่นมยังบรรจุในขวดแก้วและมีบริการเดลิเวอรี่ส่งถึงหน้าบ้านพร้อมกับเก็บขวดเก่ากลับ นั่นคือ
1) ลูกค้าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้แพ็กเกจของ Loop อาจเป็นการสั่งซื้อออนไลน์ หรือบางเมืองอาจจับมือกับไฮเปอร์มาร์เก็ตมีวางขายแบบออฟไลน์ด้วย โดยจะมี “ค่ามัดจำ” บรรจุภัณฑ์เมื่อซื้อ
2) เมื่อลูกค้าใช้สินค้าจนหมด สามารถจองนัดให้ระบบจัดส่ง-รับคืนของ Loop มารับบรรจุภัณฑ์คืนถึงบ้าน พร้อมรับค่ามัดจำคืนแบบ 100% และไม่มีค่าใช้จ่ายในการคืนขวด หรือในบางเมืองอาจมีจุดให้ส่งบรรจุภัณฑ์คืนที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือไปรษณีย์ หรือพาร์ตเนอร์อื่นๆ ของบริษัท
3) Loop จะนำบรรจุภัณฑ์ไปทำความสะอาดในโรงงาน พร้อมนำไปบรรจุสินค้าล็อตใหม่วางจำหน่ายอีกครั้ง
เห็นได้ว่า โมเดลของ Loop มีความเป็นไปได้ที่จะชวนคนมาร่วมรักษ์โลกกับบริษัทมากขึ้น เพราะสำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการลดใช้พลาสติกอย่างแรงกล้า การอำนวยความสะดวกให้ใกล้เคียงกับการใช้แพ็กเกจจิ้งพลาสติกใช้แล้วทิ้งมากที่สุดจะเป็นปัจจัยสำคัญ
2 ปีขยายไปกว่า 30 แบรนด์
บริษัท Loop ก่อตั้งขึ้นโดย Tom Szaky ในนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 นี้เอง ปัจจุบัน Loop มีบริการแล้วใน 4 ประเทศคือ สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และฝรั่งเศส
ขณะนี้มีสินค้าที่ใช้แพ็กเกจจิ้งและระบบของ Loop ถึง 111 SKUs จากทั้งหมดกว่า 30 แบรนด์ ครอบคลุมสารพัดผลิตภัณฑ์ เช่น แชมพูแพนทีน, มีดโกนหนวดยิลเลตต์, ไอศกรีมฮาเก้นดาส เป็นต้น
บนหน้าเว็บไซต์ของ Loop ยังระบุถึงแบรนด์ใหญ่อื่นๆ ที่จะมาในอนาคต เช่น คอลเกต, โดฟ และมีแผนจะขยายไปอีก 3 ประเทศ คือ เยอรมนี, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
คอนเนกชันและดีไซน์เพื่อแบรนด์
โมเดลของบริษัทจัดว่าน่าสนใจ แต่สาเหตุหนึ่งที่บริษัทได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก Szaky ผู้ก่อตั้ง ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ เขาคือผู้ก่อตั้งบริษัทแม่ของ Loop คือ TerraCycle ซึ่งทำธุรกิจรีไซเคิลขยะมาตั้งแต่ 17 ปีก่อน เขาจึงมีเครือข่ายพันธมิตรแบรนด์ใหญ่ๆ ให้เริ่มธุรกิจได้เร็ว
อีกส่วนหนึ่งคือ Loop เข้าใจการเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ว่า แต่ละแบรนด์ล้วนมีอัตลักษณ์งานดีไซน์ของแบรนด์ ดังนั้น แต่ละบรรจุภัณฑ์จะดีไซน์ใหม่เพื่อให้สะท้อนตัวตนแบรนด์โดยเฉพาะ ทำให้การจูงใจแบรนด์เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทำได้ดีขึ้น
รียูส vs ลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์
ประเด็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นใหญ่ที่บริษัททั่วโลกต่างกำลังตามหาโมเดลที่ดีที่สุด โดย Loop นำเสนอว่า การรียูสบรรจุภัณฑ์ที่ทนทานเหล่านี้มากกว่า 10 ครั้ง จะทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลงจากปกติ 35%
- “Burger King” ตามเทรนด์รักษ์โลก! นำร่องใช้แก้ว-กล่องรียูสในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
- McDonald’s อังกฤษทดลองระบบ “แก้วใช้ซ้ำ” คืนแก้วได้คืนเงินมัดจำ แก้ปัญหาขยะล้นโลก
อย่างไรก็ตาม หากมองในฝั่งของผู้ผลิตสินค้า การเลือกบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแบบไหนย่อมเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคำนวณรอบด้าน ทั้งเรื่องต้นทุน ความสะดวก ความพอใจของผู้บริโภค ฯลฯ ทำให้ Loop ต้องแข่งขันกับอีกโมเดลที่มาแรงในกลุ่มผู้ผลิตขณะนี้ คือการเลือก “ลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์” ทำขวดให้บางลง เพื่อลดทั้งต้นทุนและการใช้พลาสติก
ขึ้นอยู่กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้วว่า มองว่าหนทางไหนที่จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้จริง และยังสะดวกพอที่คนจะพร้อมปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่
Source: Forbes, The Rising, Loop