บาร์บี้เก่าก็ช่วยโลกได้นะ! บริษัทของเล่นเปิดให้นำ ‘ของเล่นเก่า’ มารีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติก

ภาพจาก shutterstock
ข่าวดีสำหรับเด็กยุค 90 ที่มีใจอยากช่วยโลกและมีของเล่นพัง ๆ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่มี ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ เพราะบริษัท ‘Mattel’ (แมทเทล) บริษัทของเล่นอายุ 76 ปีที่เป็นผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ จะรับซากของเล่นเพื่อนำไปรีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติกให้กับโลกนี้

การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เกิดความต้องการของเล่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากเด็ก ๆ ใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทของเล่นขนาดใหญ่หลายแห่งพยายามที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังจากหลายทศวรรษที่ต้องพึ่งพาพลาสติกในการผลิตสินค้า ทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น บริษัท Mattel จึงริเริ่มทำโครงการ ‘Mattel PlayBack’ ที่ออกแบบมาเพื่อนำวัสดุในของเล่นเก่า กลับมาใช้ใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Mattel ในอนาคต โดยผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมโปรแกรมได้โดยไปที่เว็บไซต์ของ Mattel เพื่อพิมพ์ฉลากการจัดส่งฟรี และรับบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งของเล่นของพวกเขากลับไปที่บริษัท

จากนั้นของเล่นจะถูกจัดเรียงและแยกตามประเภทวัสดุและแปรรูปและรีไซเคิลตามที่บริษัทกำหนด สำหรับวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตของเล่นใหม่ จะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ หรือเปลี่ยนจากขยะเป็นพลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัท สู่อนาคตที่มุ่งเน้นความยั่งยืน เพื่อจะใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิล 100% สำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2573

“เราต้องเก็บวัสดุที่มีค่าเหล่านี้ออกจากหลุมฝังกลบ” Pamela Gill-Alabaster หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของ Mattel กล่าว

ภาพจาก shutterstock

เบื้องต้น บริษัทจะเปิดรับของเล่นจาก 3 แบรนด์ ได้แก่ ตุ๊กตาบาร์บี้, ของเล่น Matchbox และ MEGA และมีแผนจะเพิ่มแบรนด์อื่น ๆ ในอนาคต ขณะที่โครงการดังกล่าวจะเริ่มในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร โดยที่ผ่านมา Mattel ได้ทดลองใช้โปรแกรมที่คล้ายกันในแคนาดาโดยรับของเล่นเก่าจาดแบรนด์ MEGA ในปี 2020 โดยร่วมมือกับ TerraCycle ซึ่งเป็นบริษัทรีไซเคิลที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์

ไม่ใช่แค่ฝั่งยุโรป แต่ในฝั่งเอเชียก็มีโคงการที่คล้าย ๆ กัน อย่าง ‘Bandai’ (บันได) บริษัทของเล่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นและของโลกได้เปิดตัวโครงการ ‘Gunpla Recycling Project’ ซึ่งให้ลูกค้านำแผง Runner ที่เหลือจากการต่อ ‘Gundam’ มาบริจาคเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ โดยตอนนี้บริษัทกำลังติดตั้ง drop boxes ในร้านค้าทั่วประเทศญี่ปุ่น

การหาทางเลือกอื่นแทนพลาสติกมีความสำคัญต่อการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้การตลาดที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทต่าง ๆ เช่นกันในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ซื้อเริ่มใส่ใจมากขึ้นว่าการเลือกของพวกเขามีผลต่อโลกใบนี้อย่างไร เพราะทั้งการผลิตและการทิ้งพลาสติกมีผลกระทบร้ายแรงต่อโลก ตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงอุดตันทางน้ำและพลาสติกที่สะสมในมหาสมุทร

Source