ความนิยมของ ‘โยชิฮิเดะ ซูงะ’ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ลดลง ‘ต่ำที่สุด’ นับตั้งเเต่เข้ารับตำแหน่งได้ 8 เดือน หลังประชาชน ‘ไม่พอใจ’ กับการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล สั่งขยายภาวะฉุกเฉิน กระจายวัคซีนล่าช้า เเละยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เสี่ยงเกิดภาวะถดถอยซ้ำซ้อน
ผลสำรวจของสำนักข่าว JNN ระบุว่า คะแนนความนิยมของนายกฯ ซูงะ เหลือ 40% ลดลงจากระดับจาก 44.4% ในเดือนเม.ย.
ขณะที่คะเเนนความพึงพอใจในการจัดการกับโควิด-19 ของรัฐบาลนั้น พบว่าประชาชนกว่า 63% รู้สึก ‘ไม่พอใจ’ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากถึง 13% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งล่าสุด
โดยประชาชนส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ‘มาตรการของรัฐ ไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการรับมือกับการระบาด’
สามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามของ JNN คิดว่า รัฐบาลจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้สูงอายุให้ทันในสิ้นเดือนก.ค.นี้ได้
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับความท้าทายกับการเดินหน้าเป็นเจ้าภาพการเเข่งขัน ‘โอลิมปิก 2021’ ในเดือนก.ค. นี้ ท่ามกลางความกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาเป็นวงกว้างหรือ ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super spreader) ได้
ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 60% จากผลสำรวจของหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน เห็นว่าควร ‘ยกเลิก’ การจัดงานเพื่อความปลอดภัย
โดยรัฐบาลจะหารือเพื่อหาข้อสรุปกับทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งซูงะยืนยันว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการปกป้องชีวิตและสุขภาพของชาวญี่ปุ่นไม่ใช่การแข่งขันโอลิมปิก
ทั้งนี้ ซูงะกำลังเตรียมตัวเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในเดือนก.ย. และต้องดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปให้ได้ภายในสิ้นเดือนต.ค.
ญี่ปุ่นไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน หลังจากมีการสั่งซื้อวัคซีนแล้วจำนวนมากเกิน ’ร้อยล้านโดส’ เเต่กำลังเจอปัญหาการกระจายวัคซีนล่าช้า เเละเพิ่งจะเริ่มฉีดอย่างจริงจังได้ในสัปดาห์นี้ ตามหลังประเทศที่ร่ำรวยอื่นๆ หลายเดือน
ปัจจุบันญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เเต่กระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ใน ‘อัตราใกล้เคียงกับเมียนมา’ ที่กำลังมีความรุนเเรงกลางเมือง
ตามรายงานของ Bloomberg ระบุว่า มีชาวญี่ปุ่นเพียง 3 ล้านรายหรือราว 2.4% ของประชากรทั้งหมดกว่า 126 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส
สำหรับโครงการการกระจายวัคซีนของญี่ปุ่นนั้น จะมีการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 จากหลายผู้ผลิต เเต่ขณะนี้วัคซีน Pfizer เป็นยี่ห้อเดียวที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ได้ ซึ่งอีกสองยี่ห้ออย่าง Moderna เเละ Astrazeneca กำลังรอการอนุมัติในช่วงปลายเดือนนี้
โดยยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นล่าสุดนั้นอยู่ที่ 633,027 ราย ขณะที่ยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 10,823 ราย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกฯ ซูงะ ประกาศขยายภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. ครอบคลุมพื้นที่กรุงโตเกียว, โอซาก้า, เฮียวโงะ และเกียวโต รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดไอจิและฟุกุโอกะด้วย
การขยายประกาศภาวะฉุกเฉินของญี่ปุ่นครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญในเขตเมืองราว 40% เพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน (double-dip recession)