“ญี่ปุ่น” อาจต้องทิ้งวัคซีนนับหมื่นโดส เหตุฉีดล่าช้าไม่ทันก่อนหมดอายุสิ้นมิ.ย.

(Photo by Carl Court/Getty Images)
หลายประเทศขาดแคลนวัคซีน COVID-19 ญี่ปุ่นมีวัคซีนเต็มมือแต่บริหารจัดการฉีดได้เชื่องช้า จนอาจต้องทิ้งวัคซีนนับหมื่นโดสที่จะหมดอายุในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

วัคซีนจากไฟเซอร์มากกว่า 28 ล้านโดสได้เดินทางมาถึงญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายน แต่วัคซีนเหล่านี้ได้ถูกใช้ไปเพียงแค่ 15% โดยวัคซีนอีกเกือบ 24 ล้านโดสยังถูกอยู่ในตู้แช่แข็งอุณหภูมิ -70 องศา และจนถึงขณะนี้ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงแค่ 2% ของประชากรเท่านั้น

ญี่ปุ่นอาจจะต้องทิ้งวัคซีนนับหมื่นโดสซึ่งเตรียมไว้ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และจะหมดอายุในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ วัคซีนเหล่านี้ถูกส่งไปให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่า 180 แห่ง แต่สามารถฉีดวัคซีนได้เพียงวันละ 1,000 คน ขณะนี้กำลังปรับแผนเพื่อกระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กกว่า 2,600 แห่ง มิเช่นนั้นอาจต้องทิ้งไปอย่างสูญเปล่า

ญี่ปุ่นสั่งจองวัคซีนโควิดมากกว่า 344 ล้านโดส เหลือเฟือสำหรับประชาชนทุกคน และเป็นประเทศที่มีวัคซีนมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย แต่กลับบริหารจัดการฉีดวัคซีนได้ล่าช้าอย่างยิ่ง ถึงแม้จะรัฐบาลได้แต่งตั้งให้นายทาโร โคโนะ เป็นรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องวัคซีนเป็นการเฉพาะ

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 36 ล้านคนได้ทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม แต่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้มากถึง 800,000 คนต่อวัน หรือทำความเร็วมากกว่า 2 เท่าของที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในญี่ปุ่น ก่อนที่จะจัดงาน “โตเกียวโอลิมปิก” ในอีกไม่ถึง 100 วันข้างหน้า

ทำไมญี่ปุ่นฉีดวัคซีนล่าช้า ?

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ช้ากว่าในสหรัฐฯ และหลายประเทศ ในช่วงแรกรัฐบาลโทษว่าเป็นเพราะบริษัทไฟเซอร์ ที่ใช้ฐานการผลิตในยุโรปส่งมอบวัคซีนได้ช้า ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศว่าจะ “ไม่ปล่อยวัคซีนแม้แต่หยดเดียวออกนอกประเทศ ก่อนที่ชาวอเมริกันจะได้รับวัคซีน”

แต่ขณะนี้บริษัทเร่งผลิตวัคซีนได้จำนวนมาก และการขนส่งก็คล่องตัว แต่ญี่ปุ่นกลับบริหารจัดการฉีดได้ช้าเองจากสาเหตุคือ

1. ญี่ปุ่นทดสอบวัคซีนซ้ำภายในประเทศ โดยอ้างว่าผลการทดสอบของไฟเซอร์ไม่ได้ครอบคลุมประชากรของญี่ปุ่น ไฟเซอร์ทำการทดสอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ในกลุ่มอาสาสมัครราว 44,000 คนใน 6 ประเทศ และมีชาวเอเชียราว 2,000 คน แต่ญี่ปุ่นใช้เวลาอีกหลายเดือนทำการทดสอบซ้ำกับชาวญี่ปุ่น 160 คน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าการทดสอบในกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยแค่นี้ไม่ได้พิสูจน์ถึงความปลอดภัยของวัคซีนได้จริง รังแต่จะเสียเวลาเท่านั้น

2. อนุมัติใช้วัคซีนล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะเปิด “ทางด่วน” เพื่ออนุมัติการใช้วัคซีนได้ภายใน 2 เดือน จากปกติที่ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี แต่ขณะนี้ญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนของไฟเซอร์เท่านั้น ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา ได้ยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินมาหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา

3. ขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ กฎหมายของญี่ปุ่นกำหนดให้การฉีดวัคซีนต้องทำโดยแพทย์ และพยาบาลเท่านั้น ท่ามกลางการระบาด แพทย์ และพยาบาลก็มีงานล้นมือ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลอยู่แล้ว และยังต้องรับภารกิจฉีดวัคซีนอีก

ล่าสุดรัฐบาลได้อนุญาตให้ทันตแพทย์ และอดีตพยาบาลที่เกษียณอายุหรือออกจากงานไปแล้วมาช่วยฉีดวัคซีนได้ แต่ก็ยังไม่ได้เรียกร้องกลุ่มคนเหล่านี้

ในสหรัฐฯ และหลายประเทศเปิดทางให้เภสัชกรตามร้านขายยา อาสาสมัครสาธารณสุข หรือผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางการแพทย์เข้ารับการฝึกฝนให้ฉีดวัคซีนได้ แต่เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ในญี่ปุ่น

4. ไม่มีวัคซีนของตัวเอง ญี่ปุ่นพึ่งพาวัคซีนต่างชาติ และยังตั้งกฎเกณฑ์มากมายในการอนุมัติใช้งานทั้งที่เป็นช่วงเวลาฉุกเฉิน ถึงแม้ญี่ปุ่นจะทุ่มเงินสั่งจองวัคซีนจำนวนมาก แต่การยืมจมูกคนอื่นหายใจก็ไม่เท่ากับพึ่งพาตัวเอง

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่ามีแผนรับมือภัยพิบัติได้อย่างดีเยี่ยม แต่เมื่อเผชิญกับภัยโรคระบาด แดนอาทิตย์อุทัยถึงกับ “ไปไม่เป็น” ระบบสาธารณสุขและรัฐสวัสดิการที่หลายคนเคยชื่นชมญี่ปุ่น วันนี้กลับไม่สามารถช่วยชีวิตประชาชนของตัวเองได้

Source