‘ฟู้ดดีฮับ’ อาหารเเช่เเข็งออนไลน์ การเเก้เกมของ ‘สยาม คานาเดี่ยน’ จากขายส่งสู่รายย่อย

อาหารเเช่เเข็งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตคนยุคใหม่ เเม้ว่าธุรกิจร้านอาหารเเละโรงแรม ต้องเจอวิกฤตหนักจากพิษโควิด เเต่ตลาดอาหารพร้อมปรุงพร้อมทานส่งตรงถึงบ้านกลับเติบโตได้ดี

พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ผู้คนมองหาวัตถุดิบที่สั่งได้ทันทีจากออนไลน์ ไม่ต้องไปซื้อของตามตลาดหรือห้างร้านที่แออัด

เป็นโอกาสธุรกิจที่สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ปบริษัทดำเนินธุรกิจอาหารแช่แข็งเเบบพรีเมียมมากว่า 34 ปี ที่เคยเน้นขายบิ๊กล็อต’ ส่งออกหลายพันตู้คอนเทนเนอร์ ตัดสินใจขยายสู่ตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค’ ในราคาหลักร้อย แก้โจทย์ยอดขายฝั่งลูกค้าฟู้ดเซอร์วิสที่หดหายไป

อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดอาหารแช่แข็งทั่วโลก ยังคงเติบโตสูงมีมูลค่าถึง 3.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา เเละมีการเติบโตเฉลี่ยราว 4.1% ในช่วงระหว่างปี 2015-2020 ขณะที่ตลาดอาหารแช่แข็งในไทย คาดว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ยราว 6% ในช่วงระหว่างปี 2017-2022 ซึ่งถือว่าโตสูงกว่าระดับตลาดโลก

พลิกเกมโควิด จาก B2B สู่ B2C 

สำหรับ ‘สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ปเป็นผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้แช่แข็ง มีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่สหรัฐฯ แคนาดา ยุโรปและเอเชีย มีการส่งออกสินค้าถึง 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปีไปยัง 70 ประเทศ

ส่วนในตลาดเมืองไทย จะเน้นเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งจากแหล่งผลิตทั่วโลก เพื่อส่งต่อให้คู่ค้าเเบบ B2B หลักๆ เป็นเชนค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล เเละสายการบิน

ชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทยของฟู้ดดีฮับในกลุ่มสยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด เล่าให้ฟังว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลต่อธุรกิจอาหารเเช่เเข็งเช่นกัน โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม ‘ฟู้ดเซอร์วิส’ ทั้งในเเละต่างประเทศที่ยอดขายลดลงกว่า 40% เเต่ก็มีได้รายได้จากส่วนอื่นมาทดเเทน อย่างกลุ่มค้าปลีกที่เจาะลูกค้ารายย่อย

ปีนี้คาดว่ารายได้ในไทย อาจจะลดลงประมาณ 10% มาอยู่ที่ราว 380 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าเราทำได้ดีแล้ว ท่ามกลางโควิดที่ยังระบาดหนัก ส่วนภาพรวมของทั้งกลุ่มนั้นมีรายได้ราว 300 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าค่อนข้างทรงตัว

เมื่อผู้คนต้องอยู่บ้าน ทำให้ความต้องการซื้ออาหารไปทานที่บ้านก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นจังหวะดี ที่จะปลุกปั้นฟู้ดดีฮับเพื่อมาขายอาหารแช่แข็งผ่านเเพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมุ่งเจาะผู้บริโภคทั่วไปโดยตรง ตอบสนองตลาดความต้องการในตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะทำรายได้ราว 3 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2022 และปี 2023 คาดว่าจะมีรายได้ 10-12 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2020 ระบุว่า กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและอาหารพร้อมปรุง มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 21,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 3-5% ต่อปี

เเต่สนามออนไลน์ก็ไม่ง่ายนัก ผู้บริหารฟู้ดดีฮับยอมรับว่าวงการนี้มีการเเข่งขันสูงทั้งจากรายย่อยเเละรายใหญ่ เพื่อสร้างความเเตกต่างในตลาด บริษัทตั้งใจจะชูจุดเด่นเรื่องความชำนาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมา เป็น ‘Core business’ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างประเทศ ทั้งเรื่องจัดหาวัตถุดิบ ควบคุมคุณภาพเเละระบบโลจิสติกส์ มาใช้ในการทำตลาด B2C ในประเทศไทย โดยสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ ฟู้ดดีฮับ มี 5 กลุ่ม ได้แก่

1.อาหารทะเลสดแช่แข็ง แบรนด์  Natural Coast

2.เบเกอรี่แช่แข็ง แบรนด์ Club Gourmet

3.อาหารทะเลและเนื้อสัตว์ทำจากพืช หรือ (Frozen plant-based food)

4.อาหารทานเล่น เช่น ซาลาเปา ขนมจีบ ฮะเก๋า ฯลฯ

5.เนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยม เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะนำเข้า ฯลฯ

เบื้องต้นตอนนี้เรามีสินค้า 50 รายการ (SKU) และใน 1 ปีครึ่งจะเพิ่มเป็น 100-120 รายการ ส่วนเบเกอรี่มีเเผนจะขยายไปจำหน่ายตามร้านค้าปลีกในเร็วๆ นี้

จับเทรนด์ Plant-Based พร้อมลุยส่งออก 

ยุคนี้ใครๆ ก็ลงสนามอาหารเเห่งอนาคตอย่าง Plant-Based ที่มีการเติบโตสูง คาดว่าในตลาดโลกมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 12-14% ไปจนถึงปี 2027 เป็นอย่างต่ำ

สำหรับในประเทศไทย พบว่ากลุ่มผู้บริโภคมีความตื่นตัวสูงเเละหันมาเลือกซื้ออาหาร Plant-Based มากขึ้นจากเทรนด์รักษ์โลก รักสุขภาพ โดยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าเเตะ 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตถึง 60% เลยทีเดียว

ตลาด Plant-Based กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เราอยากจะเป็นซัพพลายเออร์ของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนเอเชียเเละยุโรป โดยจะไม่เน้นตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว เเต่จะมุ่งส่งออกควบคู่กันไปด้วย

เบื้องต้นสินค้า Plant-Based ของฟู้ดดีฮับ ภายใต้แบรนด์ Meatoo เเบ่งเป็น 2 ประเภทคือ อาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) 5 รายการ ได้เเก่ หมูกรอบ (ไร้หมู) ซี่โครงหมู (ไร้หมู) ปลาเค็ม (ไร้ปลา) ทอดมันปลา (ไร้ปลา) ลูกชิ้นกุ้ง (ไร้กุ้ง) และสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) อาทิ เมนูข้าวกะเพราหมู (ไร้หมู) และ กะเพราไก่ (ไร้ไก่) ไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งมีแผนวางจำหน่ายในเดือนกรกฎาคมนี้

อัดโปรขยายฐาน ‘ออนไลน์’ ส่งทั่วไทย 

ด้านกลยุทธ์การตลาด ดุษฎีลักษณ์ อัครสกุลเกียรติ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการและผลิตภัณฑ์ ฟู้ดดีฮับ กล่าวว่า บริษัทมุ่งแผนการตลาดแบบ 360 องศา โดยตอนนี้เน้นไปที่ออนไลน์ถึง 85-90% ผสมด้วยออฟไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึง

โดยล่าสุดมีช่องทางขายผ่านช้อปปี้ ลาซาด้า ไลน์และเฟซบุ๊ก และเตรียมขยายไปยังเจดีเซ็นทรัล พร้อมมีแผนที่จะทำเเพลตฟอร์มของตัวเองด้วยการพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถซื้อขายได้

“สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน การทำตลาดแบบออนไลน์ช่วยกระจายและขยายสินค้าได้ครอบคลุมมากกว่า ส่วนช่องทางค้าปลีกออฟไลน์ก็ยังคงต้องมีอยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน 37 สาขา โดยฟู้ดดีฮับ ถือว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดอีคอมเมิร์ซ จึงต้องมีการอัดโปรโมชันเเจกเเถมเเละส่วนลดต่างๆ โปรโมตผ่านอินฟลูเอนเซอร์ สร้างเเบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สร้างคอนเทนต์ให้ความรู้เเละกระตุ้นยอดขายไปในตัว”

โดย 3 สินค้าขายดีที่สุดในช่วงโควิด-19 ของฟู้ดดีฮับ ได้เเก่ ปลาเเซลมอน หอยเชลล์เเละกลุ่มเบเกอรี่

สำหรับการสั่งซื้ออาหารเเช่เเข็ง ส่วนใหญ่ลูกค้าจะกังวลเรื่อง ‘ระยะทางเเละค่าจัดส่ง’ ฟู้ดดีฮับจึงเลือกใช้ระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิที่ได้มาตรฐานสำหรับสินค้าทุกตัว แม้ค่าบริการในการขนส่งจะสูงกว่าการขนส่งด้วยรถร้อน ซึ่งบริษัทก็ได้ออกโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า โดยการ ‘ออกค่าขนส่งให้มากกว่าครึ่ง’ คิดค่าขนส่งทั่วไทยเพียงแค่ 99 บาทต่อออเดอร์ในขณะนี้

นอกจากนี้ ยังเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ (Recyclable packaging) ออกแบบถุงให้มีผนึกซิปล็อก (Resealable zip-lock bags) ให้ลูกค้าสามารถนำถุงไปใช้ซ้ำภายในครัวเรือนได้

นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคยุค New Normal ที่ต้องติดตามต่อไปว่า ‘ฟู้ดดีฮับ’ จะคว้าโอกาสอาหารเเช่เเข็งออนไลน์นี้ไว้อยู่หมัดหรือไม่ …