กลุ่มบริษัทจีเอเบิลเปิดตัว Blendata แพลตฟอร์มจัดการ Big Data ฝีมือคนไทย แก้ปัญหาความซับซ้อนและลดต้นทุนให้บริษัท มุ่งเป้าหมายลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และกลางในประเทศจนถึงกลุ่ม APEC หวังโต 100% ต่อเนื่อง 3 ปี
“ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ “Blendata” (เบลนดาต้า) ที่ก่อตั้งโดยพนักงานในองค์กรของจีเอเบิลเอง และบริษัทให้การสนับสนุน ระบบนี้จะเป็นระบบรับบริหารจัดการ Big Data ให้กับองค์กรแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล ประมวลผล และจัดการปลายทางให้นำมาใช้งานได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันเทคโนโลยี Big Data เป็นสิ่งที่หลายองค์กรมีความสนใจและต้องการนำมาใช้ แต่ดร.ชัยยุทธชี้ให้เห็นว่า ยังมีปัญหาใหญ่ 2 ข้อที่ทำให้องค์กรยังใช้งานไม่ได้หรือใช้ได้ไม่เต็มที่ และ Blendata ต้องการจะเข้ามาแก้ปัญหา คือ
- ความซับซ้อน – Big Data คือการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลและหลากหลายอย่างมาก ข้อมูลที่ได้จะมาจากทุกช่องทางและมีทั้งข้อความ ภาพ เสียง ฯลฯ ทั้งยังเป็นข้อมูลทั้งที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ การเก็บข้อมูลและนำมาประมวลจนถึงขั้นกลั่นกรองให้นำไปใช้ได้จริงยุ่งยากและซับซ้อนมาก
- ต้นทุน – ด้วยความซับซ้อนดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องลงทุนทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของตัวเอง ซึ่งจะมีค่าบำรุงรักษาตามมา รวมถึงบุคลากรคือกลุ่ม Data Engineer ที่หาตัวได้ยากในไทยและมีค่าตัวสูงถึงหกหลัก ต้นทุนจึงสูงมากต่อโครงการหนึ่งๆ จนบริษัทอาจเห็นว่าไม่คุ้มค่า
ดังนั้น Blendata ที่เป็นระบบแพลตฟอร์มจะมาช่วยบริหารจัดการแทนได้ แทนที่บริษัทจะต้องลงทุนเองทั้งหมด โดยเป็น Simplified Platform สามารถปรับเข้ากับระบบใดๆ ที่บริษัทใช้งานอยู่ได้ และมีวิธีการใช้งานที่ง่ายขึ้น ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือ Data Engineer ก็ทำงานได้
ลดต้นทุน บริษัทขนาดกลางเอื้อมถึง
“ณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบลนเดต้า จำกัด เปิดเผยว่า จากความซับซ้อนและต้นทุนดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมา Big Data เป็นเทคโนโลยีที่มีแต่บริษัทขนาดใหญ่เอื้อมถึง แต่ Blendata จะเข้ามาลดต้นทุนได้ 160% จากเดิม และยังทำให้ลดเวลาการทำงานลง 270%
ดังนั้น จะมีประโยชน์ทั้งกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการลดต้นทุนหรือพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้น และบริษัทขนาดกลางเข้าถึงง่ายขึ้น อนาคตยังอาจจะลดต้นทุนจนทำให้ธุรกิจขนาดย่อมสามารถเข้ามาใช้ได้ด้วย
ปัจจุบัน Blendata เปิดบริการมาแล้ว 5 ปี มีบริษัทใช้งานแล้ว 15 รายจาก 11 อุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร โทรคมนาคม รัฐบาล รีเทล บริการสุขภาพ ฯลฯ และทำให้รายได้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 50% YoY ทุกปี
เคสธุรกิจที่น่าสนใจที่ Blendata เข้าไปร่วมงานและพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เช่น
- บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ต้องการส่ง SMS แจ้งโปรโมชันร่วมกับร้านค้าในศูนย์การค้าให้กับลูกค้าได้เรียลไทม์ ตามตำแหน่งสัญญาณของลูกค้า แต่ปกติสัญญาณเหล่านี้แจ้งข้อมูลมากถึง 330,000 รายการต่อวินาที การประมวลผลจึงไม่ง่าย กว่าที่จะส่ง SMS ไปต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง ลูกค้าอาจออกจากสถานที่นั้นไปแล้ว แต่เมื่อใช้ Big Data ด้วยระบบของบริษัท ทำให้ลดเวลาการส่งเหลือเป็นหลักนาทีหรือบางกรณีเป็นหลักวินาที
- ธนาคารแห่งหนึ่ง ต้องการวางระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ บริษัทจึงเข้าไปวาง Data Lake ให้ หากมีคอมพิวเตอร์ของธนาคารติดไวรัส สามารถสืบค้นกลับไปได้ทันทีว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เคยเข้าระบบส่วนไหนบ้างของธนาคารย้อนหลัง 1 ปี ภายในเวลาหลักวินาที จากเดิมต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที
ณัฐนภัสระบุว่า ระบบของบริษัทมีความยืดหยุ่น และทำงานกับลูกค้าได้ทั้ง On Premise และระบบคลาวด์ ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานได้ทั้งคลาวด์ในประเทศหรือต่างประเทศ
ในแง่ราคาเชื่อว่าเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงใช้ระบบ “ใช้เท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น” ซึ่งทำให้บริษัทขนาดกลางจนถึงย่อมเริ่มต้นทำ Big Data ง่ายขึ้น และบริษัทสามารถโตไปพร้อมกับลูกค้าได้
วางเป้าโต 100% ต่อเนื่อง 3 ปี
ด้านเป้าหมายของบริษัท ดร.ชัยยุทธมองว่าบริษัทสามารถโต 100% ต่อเนื่อง 3 ปี (2564-66) แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันขนาดบริษัทยังเล็กมาก เป้าหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะจีเอเบิลเองมีประสบการณ์ในวงการไอทีมา 32 ปี มีฐานลูกค้าทั้งไทยและ APEC ซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไปที่จะผลักดันให้ Blendata เข้าถึงลูกค้ากลุ่ม APEC ภายใน 5 ปี
“คู่แข่งตอนนี้ ถ้าวัดกันแบบตรงตัวหนึ่งต่อหนึ่งเลยยังไม่มี ทั้งบริษัทไทยและที่มาจากต่างประเทศ แต่ทราบว่ามีหลายบริษัทกำลังพัฒนาอยู่เหมือนกัน ก็ถือว่าเราได้ออกตัวก่อนคนอื่น” ดร.ชัยยุทธกล่าว
ดร.ชัยยุทธยังระบุด้วยว่า ดีมานด์ต่อการทำ Big Data มีสูงมาก มีการประเมินว่า มูลค่าตลาด Big Data ทั่วโลกจะไปแตะ 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7 ล้านล้านบาทภายในปี 2568 ซึ่งมากยิ่งกว่าจีดีพีของนิวซีแลนด์ทั้งประเทศ
ทำไม Big Data จึงน่าสนใจ? ดร.ชัยยุทธกล่าวว่า การทำธุรกิจก็เหมือนการขับรถ ที่ผู้ขับอาจจะมีทั้งประสบการณ์และทักษะ แต่เท่านั้นก็ยังไม่เพียงพอ
“ท่านอาจจะมองว่าท่านมีประสบการณ์และมีทักษะในการขับรถ แต่ถ้าสมมติท่านลองหลับตาขับรถดูก็คงทำไม่ได้ เพราะการขับรถยังต้องรับรู้รอบตัวว่ามีอะไรบ้างจึงจะไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย ก็เหมือนการมีดาต้าที่ทำให้ทราบสภาวะรอบตัวเพื่อตัดสินใจในการทำธุรกิจและทิศทางที่จะไป” ดร.ชัยยุทธกล่าว