โควิดระลอก 3 ฉุดยอดบริโภคเอกชนวูบ ใช้จ่ายในประเทศลดลง หวัง ‘ส่งออก’ พยุงเศรษฐกิจ

Photo : Shutterstock
BAY ประเมินโควิดระลอก 3 กระทบเป็นวงกว้าง ฉุดยอดใช้จ่ายในประเทศ การบริโภคเอกชน ‘หดตัว’ ในไตรมาส 2 นักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำมาก ได้อานิสงส์ส่งออกโต 19.1% ช่วยพยุงเศรษฐกิจ จับตาสัญญาณการผลิตโลกปรับดีขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยถึงผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามว่า ได้ฉุดการใช้จ่ายในประเทศเดือนเมษายนให้อ่อนแอลง แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงทรงตัว โดยมีแรงหนุนจากภาคส่งออก

โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนเมษายนกลับมาหดตัว จากเดือนก่อน (-4.3% MoM sa) ตามการลดลงในทุกหมวดการใช้จ่าย

มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บ้าง

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวลงจากเดือนก่อนเช่นกัน (-3.1%) ตามการลดลงในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์สอดคล้องกับความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับลดลงในทุกหมวด

ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำมากจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่และการท่องเที่ยวในประเทศยังถูกกดดันจากการระบาดรอบใหม่

อย่างไรก็ดี มูลค่าภาคส่งออกยังขยายตัวดีต่อเนื่อง (19.1% YoY) และเมื่อหักการส่งออกทองคำ มูลค่าส่งออกจะยิ่งเติบโตสูงถึง 37% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า และช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน

ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ กิจกรรมเศรษฐกิจของไทย ได้รับผลกระทบที่ ‘กระจายเป็นวงกว้าง’ ไปทั่วประเทศและมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเกินแสนคน ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอลง

“ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอาจไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดรอบแรก เพราะภาคส่งออกในปีนี้ยังมีทิศทางขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก” 

Photo : Shutterstock

ส่งออก ‘เติบโตดี’ ประคองเศรษฐกิจไทย

ล่าสุด สัญญาณภาคการผลิตของโลกเดือนพฤษภาคม ปรับดีขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยการส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นกระจายในหลายสาขา นับเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

สำหรับข้อมูลสินค้าส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรกของไทย (คิดเป็นสัดส่วน 64.5% ของมูลค่าส่งออกรวม) มีสินค้า 14 รายการ (สัดส่วน 42.3%) ที่มีมูลค่าส่งออกในเดือนล่าสุดอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาด (ไตรมาส 4/2562) เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ผลิตภัณฑ์เคมี เม็ดพลาสติก ฯลฯ

เช่นเดียวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกมีการปรับดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดอย่างชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

คาดครึ่งปีหลัง อัตราเงินเฟ้อ ‘ลดลง’ 

ด้านมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล มีส่วนช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม คาดว่าครึ่งปีหลังมีแนวโน้มทยอยชะลอตัวลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 2.44% YoY ชะลอลงจาก 3.41% ในเดือนเมษายน

อันเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐในการปรับลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี รวมทั้งการลดลงของราคาในกลุ่มอาหารสด เนื่องจากการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้มีการปิดตลาดและสถานประกอบการหลายแห่ง ทำให้กำลังซื้อและปริมาณการบริโภคชะลอตัว

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (+36.49%) ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก เเละอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เดือนพฤษภาคมสะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง โดยลดลงอยู่ที่ -0.11% MoM จากเดือนเมษายนที่ +0.14% ปัจจัยชั่วคราวจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนและพฤษภาคมค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

อย่างไรก็ตาม ผลของมาตรการภาครัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพชั่วคราว (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปค่อยๆ ทยอยลดลง

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อผลของฐานต่ำในปีก่อนหมดลง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะไม่ติดลบหรือต่ำมากเท่าช่วงต้นปี เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ จากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ผนวกกับได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 1.1%

กระจายวัคซีนเร็ว ดันเศรษฐกิจโลก 

สำหรับสถานการณ์ ‘เศรษฐกิจโลก’ คาดว่าจะ ‘ฟื้นตัวดีขึ้น’ จากปัจจัยหนุนในการกระจายวัคซีนของจีนและสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณบวกต่อเนื่อง
ส่วนเฟดจะยังไม่ปรับมาตรการ QE ในปีนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลก แม้ความเร็วในการฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
โดยล่าสุดปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกในปี 2564 และปี 2565 เป็นขยายตัว 5.8% และ 4.4% (เดิมคาด 5.6% และ 4.0% ตามลำดับ) เเละมีการปรับเพิ่มประมาณการ GDP สหรัฐฯ ยูโรโซน และจีนที่ 6.9% 4.3% และ 8.5 ตามลำดับ ส่วนญี่ปุ่นนั้นคาดว่าขยายตัวที่ 2.6%
จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจทยอยกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง รวมถึงความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐในประเทศหลัก ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


เศรษฐกิจสหรัฐฯ
มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ที่ปรับตัวดีขึ้นตามการทยอยเปิดดำเนินกิจกรรมการผลิต โดยประธานสาขาเฟดบางท่านเรียกร้องให้เฟดเริ่มหารือเกี่ยวกับแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE Tapering) ว่าจะดำเนินการอย่างไรและเมื่อใด วิจัยกรุงศรีมองว่า เฟดจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไป

เศรษฐกิจจีน มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี โดยคาดว่าจะกระจายไปยังฐานที่กว้างขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเดือนพฤษภาคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแตะระดับ 54.2 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 53.8 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ นอกภาคการผลิตที่แตะระดับ 55.2 สูงสุดในรอบ 2 เดือน แม้ว่าดัชนีฯ ภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ระดับ 51.0 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

เศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวต่อไปสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมฯ ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 (ค่าดัชนี > 50) แม้ดัชนีฯ ภาคการผลิตจะปรับตัวลงเนื่องจากปัจจัยชั่วคราวจากการขาดแคลนวัตถุดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีฯ นอกภาคการผลิตฟื้นตัวตามการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ การปรับตัวดีขึ้นของภาคเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากด้านการผลิตบ่งชี้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไปมีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น

Photo : Shutterstock

“แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากแรงส่งในภาคการผลิต การค้า รวมถึงการเริ่มกลับมาใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ยังเผชิญความไม่แน่นอน” 

โดยมีปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่ต้องจับตามอง ได้แก่
  • ความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนที่ต่างกันในหลายประเทศ เเละความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่รวมทั้งการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส
  • การฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาภาคท่องเที่ยวอาจปรับตัวช้ากว่า
  • แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จากปัจจัยชั่วคราวทั้งฐานต่ำในปีก่อนและต้นทุนที่สูงขึ้น จากการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นและอาจกระทบต้นทุนทางการเงิน
  • การฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ถูกจำกัด โดยปัญหาการชะงักงันและสภาพคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจกลายเป็นความเสี่ยงที่กดดันการเติบโตให้ต่ำกว่าศักยภาพ และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวโดยภาพรวมของโลก