เมกะเทรนด์การเปลี่ยนแปลง Krungthai COMPASS ประเมินอุตสาหกรรม ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ในไทย คาดปี 2028 มียอดผู้ใช้เเตะ 1 ล้านคัน ในจำนวนนี้จะเป็น ‘รถไฮบริด’ ถึง 93% เเนะรัฐออกมาตรการช่วยดัน มีโอกาสต่อยอดเป็น ‘ฐานผลิต’ ของภูมิภาค
ช่วงวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจนเข้าสู่ ‘ภาวะถดถอย’ เเต่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยยอดขายสูงถึง 3.2 ล้านคันทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นกว่า 43%
ในไทยก็ได้รับความนิยมไม่น้อย โดยมียอดจดทะเบียนสูงถึง 3 หมื่นคัน ขยายตัวถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางยอดขายรถยนต์โดยรวมที่ลดลง 21%
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงปัจจัยที่สนับสนุน EV ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการ ‘ตื่นตัว’ ของภาครัฐในต่างประเทศเพื่อแก้ไขประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม
ประกอบกับความเคลื่อไหวของ ‘ผู้ผลิตรถยนต์’ รายใหญ่ที่ ‘ปรับตัว’ หันไปทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามความสนใจของผู้บริโภคที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
“เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกมีโอกาสแตะระดับ 25-45 ล้านคันได้ภายในปี 2030 จาก 10 ล้านคันในปัจจุบัน”
ตลาดไทยยังเล็ก เเต่มีเเววต่อยอด ‘ฐานผลิตไฮบริด’
สำหรับประเทศไทยนั้น มียอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่เพียง 1.9 แสนคัน หรือคิดเป็นเพียง 1% ของยานยนต์ทั้งหมด ถือว่ายังมี ‘ขนาดเล็ก’ และอยู่ในช่วงเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ
ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า ‘ข้อได้เปรียบ’ ของไทย คือการเป็นฐานผลิตยานยนต์เครื่องยนต์ ICE แบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับกลยุทธ์การทำตลาดของผู้ผลิตยานยนต์ OEM ในประเทศที่ยังคงเน้นทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดตามบริษัทแม่ในญี่ปุ่น
“ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในไทยมีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 2028 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 24% ต่อปี โดยยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด”
โดยมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค จะเป็นส่วนสำคัญให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย มีโอกาสต่อยอดเป็น ‘ฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด’ ที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในอนาคตต่อไป
- ถึงเวลา ‘โตโยต้า’ เอาจริง ลงเเข่งตลาด ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เร่งผลิต EV ให้ได้อีก 15 รุ่น ภายในปี 2025
- ‘ฮอนด้า’ ประกาศจะผลิต ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ 100% ภายในปี 2040
ผู้ประกอบการกลุ่มไหน ได้รับผลประโยชน์-ผลกระทบ ?
การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดของไทย นอกจากจะช่วยรักษาตลาดผู้ผลิตในกลุ่มเครื่องยนต์ ICE ในประเทศเเล้ว รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในระยะปานกลางแล้ว ยังส่งผลดีต่อ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม พิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ของ Krungthai COMPASS ระบุว่า ในระยะยาว การที่สัดส่วนยานยนต์ปราศจากการปล่อยมลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle : ZEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยตามกระแสเมกะเทรนด์ที่กำลังเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) นั้น “จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Powertrain และ Engine ในไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20% ของรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในตลาดทั้งหมด”
โดยสรุปเเล้ว ในระยะสั้น–ปานกลาง อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยแบบดั้งเดิม จะถูกปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมากขึ้น ทำให้ดีมานด์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยานยนต์เครื่องยนต์ ทั้ง ICE แบบเดิม ควบคู่ไปกับระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ ยังเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี กระแสเมกะเทรนด์ที่ตื่นตัวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การปรับตัวของผู้ผลิตที่เน้นไปหายานยนต์แบบปราศจากมลพิษ (ZEV) มากขึ้น รวมทั้งการเปิดรับจากผู้บริโภคที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าแบบ ZEV จะทยอยเข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งก็จะทำให้ในระยะยาวที่สัดส่วนยานยนต์ ZEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่ม Powertrain และ Engine มากที่สุด”