เป็นที่ทราบกันดีว่า แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Grab’ (เเกร็บ) วางโพสิชันตัวเองไว้เป็น ‘Super App’ รวมบริการหลายอย่างไว้ในที่เดียว หนึ่งในนั้นก็คือ ‘บริการทางการเงิน’ เเละในปีนี้ก็ได้เห็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนด้าน ‘สินเชื่อ’ เด่นชัดขึ้น พร้อมเตรียมขยายจับ ‘บุคคลทั่วไป’ ในอนาคต
วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย เล่าว่า ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของผู้ประกอบการร้านอาหารเเละพาร์ตเนอร์คนขับอย่างมาก เมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจทำให้รายได้ลดลง ขาดเงินทุนพยุงธุรกิจ เหล่านี้ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ภาพรวมของอุตสาหกรรมจะมีการชะลอตัวของยอดสินเชื่อใหม่
Grab มีไรเดอร์ (คนขับ) ผู้จัดส่งอาหารและพัสดุ และพาร์ตเนอร์ร้านค้า รวมกว่า 4 แสนราย ในจำนวนนี้ใช้บริการสินเชื่อ แกร็บไฟแนนซ์ รวมกัน 1 เเสนราย ประมาณ 80% เป็นพาร์ตเนอร์คนขับ ผู้จัดส่งอาหารและพัสดุ และอีก 20% เป็นพาร์ตเนอร์ร้านค้า
โดยสินเชื่อที่ Grab นำเสนอให้พาร์ตเนอร์คนขับและร้านค้า เป็น ‘สินเชื่อเงินสดระยะสั้น’ ระยะเวลาผ่อนชำระ 3-6 เดือน มีวงเงินสูงสุด 1 เเสนบาท อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกสูงสุด 33% ต่อปี ตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ของพาร์ตเนอร์ร้านค้า
ปัจจุบัน Grab ให้บริการสินเชื่อใน 2 รูปแบบ ได้เเก่
- สินเชื่อเงินสดสำหรับร้านค้า
ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มียอดกู้เฉลี่ย 7 หมื่น – 1 เเสนบาท พิจารณาวงเงินผ่าน Credit Scoring จากข้อมูลใน Grab เริ่มเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 64 โดยร้านค้าสามารถเลือกว่าจะผ่อนเป็นรายวัน หรือจะผ่อนเป็นรายเดือนก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีหลายร้านเลือก ‘ผ่อนรายวัน’ เพราะเป็นเงินจำนวนไม่มาก พอหมุนได้ในหลักร้อย
“เรากำลังเตรียมนำเสนอบริการผ่อนชำระสินค้ารายวัน 0% แก่พาร์ตเนอร์ร้านค้าภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อสนับสนุนร้านอาหารในการต่อยอดธุรกิจ แบ่งเบาภาระการลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ”
- สินเชื่อรายย่อยสำหรับไรเดอร์
จุดเด่นของสินเชื่อนี้ คือจะคล้ายกับการ ‘ผ่อน 0%’ ของบัตรเครดิต เเต่จะเจาะกลุ่มไรเดอร์โดยเฉพาะ เพราะหลายคนมีความต้องการอยากซื้อสินค้าต่างๆ เเต่เข้าถึงบัตรเครดิตยาก เพราะไม่มีสลิปเงินเดือน เเต่ Grab มีข้อมูลรายได้ของไรเดอร์ช่วยประเมินสถานะการกู้ได้
เป็น ‘สินเชื่อผ่อนของ’ ที่ไรเดอร์สามารถซื้อมือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆ ที่ Grab หามาให้บริการ โดยคิดดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาการผ่อน 3-6 เดือน ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มียอดกู้เฉลี่ย 1-2 หมื่นบาทตามราคาสินค้า โดยไรเดอร์นิยมซื้อเครื่องปรับอากาศ สมาร์ทโฟนเเละทีวี
ใช้ AI คำนวณสินเชื่อ
ข้อได้เปรียบของ Grab นอกจากมีจำนวนไรเดอร์เเละร้านค้าจำนวนมากเเล้ว นั่นก็คือ การคำนวณวงเงินสินเชื่อด้วย AI วิเคราะห์ข้อมูลด้านต่างๆ เป็น ‘Data Driven Lending’ อุดช่องว่างของธนาคารที่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหรือหลักฐานยืนยันรายได้ที่เเน่นอน
โดย Credit Scoring เป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการปล่อยสินเชื่อ รวมไปถึงชั่วโมงการทำงาน พฤติกรรม และรายได้ที่ได้จากบริษัท เพื่อหาวงเงินสูงสุดที่เหมาะสมให้ผู้กู้ เป็นระบบที่ช่วยให้คน “ทําดี ได้ดี”
เมื่อถามถึงความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ เขามองว่า “ไรเดอร์หลายคนไม่ได้ทำงานนี้เป็นประจำก็จริง เเต่ยอดเงินกู้ไม่ได้สูงมาก ไม่คุ้มที่จะสูญเสียช่องทางรายได้ ถ้าวงเงินเป็นล้าน เราคงไม่ได้ปล่อยกู้”
แกร็บไฟแนนซ์ เตรียมจะขยายบริการครอบคลุมทุกจังหวัดที่ Grab ให้บริการจากที่ผ่านมากระจุกในจังหวัดใหญ่เเละจะทยอยเพิ่มสินค้าในรายการผ่อนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า
“ปีนี้เราไม่ได้ตั้งเป้าเป็นตัวเลขว่าคนจะเข้ามาใช้บริการสินเชื่อเท่าไหร่ เเต่หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”
สร้าง Loyalty ภายใน เตรียมขยายสู่ ‘ภายนอก’
สำหรับ ’แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป’ เป็นกลุ่มธุรกิจที่แกร็บตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายให้บริการด้านการเงินเเบบครบวงจร ผ่าน 4 บริการหลัก ได้แก่
Grab Pay – ระบบจ่ายเงินให้ไรเดอร์ ร้านอาหาร เเละอี–วอลเล็ตของผู้ใช้
Grab Insure – ให้บริการประกันต่างๆ เป็น micro insurance
Grab Finance – ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เเละ Credit Score
Grab Invest – บริการเงินฝากการลงทุน
“ในปีหน้า Grab เราจะขยายไปด้านเงินฝาก เเละการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เพื่อให้ครอบคลุมบริการทางการเงินทุกด้าน”
โดยรายได้จากดอกเบี้ยต่างๆ มีเเนวโน้มจะเติบโตเรื่อยๆ จากตลาดที่เติบโตขึ้น ความต้องการบริการทางการเงินที่มากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะกลายมาเป็นหนึ่งในรายได้หลักของ Grab
นอกจากนี้ การออกสินเชื่อให้ไรเดอร์เเละร้านอาหาร ยังเป็นการสร้าง ‘Loyalty’ ต่อเเบรนด์ กระตุ้นให้คนต้องขยันทำงานมากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น พร้อมทั้งยังต้องมี ‘พฤติกรรมที่ดี’ ยกระดับบริการให้ถูกใจลูกค้า เพื่อไม่ให้เสียเครดิตเพื่อยื่นกู้เงิน
“แกร็บไฟแนนซ์ ยังคงให้บริการเฉพาะกับไรเดอร์และร้านค้าในระบบ แต่ในอนาคตหวังว่าจะให้บริการกับบุคคลทั่วไปภายนอกได้”
ต้องจับตามองว่าธุรกิจไฟแนนซ์ของ Grab จะขยายไปในทิศทางใด เเม้ทางผู้บริหารจะยืนยันว่า ตอนนี้ไม่ได้ตั้งใจจะมุ่งเเข่งขันในตลาดสินเชื่อ Non-Bank ก็ตาม….
- Anthony Tan ซีอีโอผู้พา Grab แจ้งเกิดดีล SPAC ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
- KTC กับความท้าทายปี 2564 ปลุกธุรกิจ “สินเชื่อมีหลักประกัน” สร้างพลังคลื่นใต้น้ำ
- เปิดตำนาน “เงินติดล้อ” ปฏิวัติธุรกิจสินเชื่อห้องแถวสีเทาๆ สู่การกู้แบบโปร่งใส