BHG รุกตลาด LGBTQI+ ส่งโซลูชันดูแล “สุขภาพ” ปรึกษาแพทย์ส่วนตัวได้ในบ้านผ่านดิจิทัล

Borderless Healthcare Group (BHG) เปิดตลาดใหม่ “Borderless.lgbt” นำโซลูชันดูแลสุขภาพผ่านระบบดิจิทัลเจาะกลุ่ม LGBTQI+ รับคำปรึกษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงได้ในบ้านหรือที่ใดก็ได้บนโลก แก้ปัญหาเฉพาะของกลุ่มเพศวิถี/เพศสภาพที่มีผู้เชี่ยวชาญเข้าใจจำนวนไม่มาก ชี้ประเทศไทยโดดเด่นในการเป็นฮับอยู่อาศัยของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ดร.เว่ย เซียง ยู ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการกลุ่ม Borderless Healthcare Group (BHG) เปิดตัวบริการใหม่ของกลุ่มในชื่อ Borderless.lgbt เป็นโซลูชันดิจิทัลเพื่อให้คำปรึกษาด้านสุขภาพกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถรับคำปรึกษาได้ในบ้านพักของตนเองหรือที่พักใดๆ บนโลกที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้

BHG นั้นเป็นกลุ่มธุรกิจการแพทย์ที่ก่อตั้งในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีกลยุทธ์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลสุขภาพให้ลูกค้าแบบครบวงจร โดยบริษัทเข้ามาขยายธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการเปิดคลินิกเด็กหลอดแก้ว (IVF) รับแช่แข็งเก็บรักษาไข่และอสุจิ

สำหรับ Borderless.lgbt นั้นจะเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาผ่านการประชุมออนไลน์ โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกาย-จิตใจของกลุ่ม LGBTQI+

ดร.เว่ย เซียง ยู ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการกลุ่ม Borderless Healthcare Group (BHG)

ดร.เว่ยอธิบายว่า ปัญหาของกลุ่มหลากหลายทางเพศในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์มีอยู่หลายประการ โดยขอยกตัวอย่างสถิติจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ดังนี้

  • มากกว่า 50% ของ LGBTQI+ ถูกกีดกันจากระบบสุขภาพ
  • มากกว่า 50% ของคนข้ามเพศ หลังจากแปลงเพศแล้วกลับได้พบแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลร่างกายของคนข้ามเพศ
  • 1 ใน 4 ของ LGBTQI+ เลี่ยงที่จะไปพบแพทย์ เพราะหวาดกลัวการถูกเหยียดหยาม โดยเฉพาะกลุ่มเลสเบี้ยนและกลุ่มคนผิวสีจะเลี่ยงการไปพบแพทย์มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
  • มีเพียง 16% ของกลุ่ม LGBTQI+ ที่ยินยอมแจ้งแพทย์ตามตรงเกี่ยวกับเพศวิถีหรือเพศสภาพของตนเอง

นอกจากนี้ สถิติของฝั่งเอเชียแปซิฟิกก็มีแนวโน้มใกล้เคียงกัน โดย 80% ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในทวีปนี้เลือกที่จะปิดบังเพศสภาพหรือเพศวิถีของตน เนื่องจากกลัวผลกระทบทางด้านการงาน ครอบครัว ฯลฯ

ส่วนปัญหาสุขภาพเฉพาะตัวของ LGBTQI+ นั้น ดร.เว่ยกล่าวว่า คนทั่วไปมักจะมองว่ากลุ่มนี้มีปัญหาที่แตกต่างเฉพาะเรื่องการแปลงเพศ และเรื่องการติดเชื้อ HIV แต่ที่จริงยังมีปัญหาเฉพาะตัวมากกว่านั้น เช่น สุขภาพจิต ฮอร์โมนส์ สุขภาพทางเพศ เป็นต้น

จากความเฉพาะเจาะจงทั้งหมด ทำให้มีแพทย์จำนวนไม่มากที่ตอบโจทย์ LGBTQI+ ดร.เว่ยจึงวางโซลูชัน Borderless.lgbt ขึ้นเพื่อการพบแพทย์ทางไกล (telemedicine) เข้าถึงแพทย์กลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้นแม้แพทย์จะไม่ได้อยู่ใกล้บ้านหรือกระทั่งอยู่ในประเทศเดียวกัน โดยจะใช้อุปกรณ์ “สมาร์ททีวี” เป็นหลักในการติดต่อ เพราะมีจอใหญ่เหมาะกับการประชุมหลายบุคคลพร้อมกัน รวมถึงจะไม่ถูกรบกวนจากการโทรฯ เข้าเหมือนกับการใช้สมาร์ทโฟนด้วย

เมื่อเป็นระบบดิจิทัลแล้ว ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถเข้าถึงแพทย์ได้จากทุกที่ ไม่ว่าจะในบ้านพักส่วนตัว วิลล่า หรือรีสอร์ตที่มีการติดตั้งระบบไว้

ทั้งนี้ ดร.เว่ยกล่าวว่า Borderless.lgbt ต้องการจะเป็น “โซลูชัน” สุขภาพและที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้น จะไม่ได้มีเฉพาะแพทย์ แต่มีนักโภชนาการ เทรนเนอร์ออกกำลังกาย ไปจนถึงฝ่ายกฎหมาย หากจำเป็นต้องดูแลให้กับลูกค้า และจะมีล่ามหลายภาษาเข้าสายด้วย เพื่อให้บริการได้ไม่ติดขัด

ตัวอย่างปัญหาสุขภาพ มาจากความเชี่ยวชาญของกลุ่ม BHG เอง นั่นคือ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ซึ่งมี LGBTQI+ หลายรายต้องการใช้บริการ แต่ประเด็นนี้อาจต้องเกี่ยวเนื่องถึงการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายด้วย

“เราดูแลด้านสุขภาพที่ไม่ใช่เคสฉุกเฉิน เพราะหากเป็นเคสฉุกเฉินต้องไปโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุดอยู่แล้ว แต่เราจะดูแลเคสที่ต้องการการดูแลหลากหลายด้าน และดูแลต่อเนื่องไปในชีวิต อย่างการทำ IVF ไม่ได้มีแค่การฝากอสุจิหรือฝากไข่ แต่ต้องการนักโภชนาการดูแลอาหารการกินให้พร้อมก่อนไปฝาก” ดร.เว่ยอธิบาย

 

ประเทศไทยเหมาะเป็นฮับของ LGBTQI+

ดร.เว่ยยังกล่าวถึงขนาดตลาดของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยว่า มีขนาดตลาดใหญ่มาก โดยประชากรกลุ่มนี้มีกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก และเป็นผู้มีกำลังซื้อ โดยกำลังซื้อรวมคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 124.8 ล้านล้านบาท) รวมถึงมีไลฟ์สไตล์ชอบท่องเที่ยว พร้อมจ่าย และส่วนใหญ่ไม่มีบุตรหลาน ทำให้ธุรกิจบ้านพักหลังเกษียณพร้อมผู้ดูแล (Senior House) ที่เจาะคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะจะมีความน่าสนใจมาก

เจาะลึกที่ประเทศไทย ดร.เว่ยมองว่าไทยพร้อมที่จะเป็นฮับของคน LGBTQI+ เข้ามาลงหลักปักฐาน เพราะนอกจากไทยจะมีความเป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชื่อเสียงของ ‘แหล่งปาร์ตี้’ ในไทยมีอยู่เป็นทุนเดิม ซึ่งสามารถขยายให้เป็นฮับที่มากไปกว่านั้นได้ เช่น เป็นฮับด้านสุขภาพของ LGBTQI+ แหล่งบ้านพักหลังเกษียณ จนถึงการสร้างแหล่งเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เทคโนโลยี ผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค ที่เจาะกลุ่มเหล่านี้

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นทำเลที่อยู่ใกล้สองแหล่ง LGBTQI+ ขนาดใหญ่ คือ “จีน” ซึ่งคาดว่ามีผู้มีความหลากหลายทางเพศถึง 75 ล้านคน และ “อินเดีย” ที่น่าจะมีราว 70 ล้านคน เช่นกัน รวมถึงอยู่ในระยะเดินทางสะดวกของสารพัดประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, รัสเซีย จนถึงตะวันออกกลาง

ปัจจุบัน Borderless.lgbt เริ่มดำเนินการในไทยบ้างแล้ว มีคลินิกพันธมิตรที่เข้าร่วมเป็นผู้ให้คำปรึกษา และพร้อมเปิดรับพันธมิตรด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่จะติดตั้งระบบนี้ลงในอุปกรณ์ของบ้านพักหรือวิลล่าตากอากาศ เพื่อเจาะกลุ่ม LGBTQI+ โดยเฉพาะ