WHO เตือน ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เเบบ ‘ผสมสูตร’ หรือจับคู่วัคซีนต่างชนิด ที่กำลังเป็นกระเเสในหลายประเทศ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตราย เเละยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพที่เพียงพอ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยช่วยบริจาควัคซีน
Soumya Swaminathan หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การฉีดเเบบ ‘ผสมสูตร’ จับคู่ฉีดวัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายให้กับประชาชน ซึ่งหลายประเทศกำลังจะดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น ‘dangerous trend’ เพราะตอนนี้มีข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตรอยู่น้อยมากไม่ทราบถึงผลข้างเคียงที่เเน่ชัดเเละอาจเกิดผลกระทบในการฉีดวัคซีนครั้งต่อๆ ไป
“การจับคู่ผสมวัคซีนต่างชนิดเข้าด้วยกัน เป็นกระแสนิยมที่ค่อนข้างอันตราย เรายังไม่มีข้อมูลหลักฐานใด ๆ ที่จะมาสนับสนุนเรื่องนี้“
พร้อมมองว่า อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในหลายประเทศ หากประชาชนเริ่มตัดสินใจเองว่าจะฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สอง สาม สี่ ได้เมื่อไหร่และจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด
“ข้อมูลการผสมวัคซีนยังมีจำกัด บางทีมันอาจจะเป็นอาจเป็นวิธีที่ดีมากก็ได้ แต่ตอนนี้ เรามีเพียงข้อมูลการผสมด้วยสูตร เข็มที่ 1 AstraZeneca และตามด้วย Pfizer เท่านั้น”
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติด้านการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ NACI ของแคนาดา อนุญาตให้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรกและเข็มสองต่างชนิดกันได้ เเต่ยืนยันว่า ควรเป็นวัคซีน ‘ชนิดเดียวกัน’ เเละยังจำกัดอยู่แค่เพียงวัคซีน 3 ยี่ห้อเท่านั้นคือ Pfizer, Moderna และ AstraZeneca
ขณะที่ วานนี้ (12 ก.ค.) คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทย มีมติเห็นชอบให้ฉีด ‘วัคซีนต่างชนิดกันได้’ โดยประชาชนผู้ได้รับวัคซีน Sinovac เข็มที่ 1 ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็น AstraZeneca โดยฉีดเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา
สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า “ไทยจะเป็นประเทศเเรกในโลกที่ใช้วัคซีนโควิด ผสมสูตร Sinovac+AstraZeneca”
อย่างไรก็ตาม เเม้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบทั้ง 2 เข็มเเล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ ‘เดลตา’ ที่กำลังระบาดทั่วโลก ทางองค์การอนามัยโลก จึงยังคงกระตุ้นให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
“สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือต้องให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต”
ด้าน Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ระบุว่า ยังคงมีความไม่เท่าเทียมในการ
กระจายวัคซีนในประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน
โดยเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย ร่วมบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศยากจน เพื่อกระจายวัคซีนเข็มเเรกให้มากที่สุด แทนที่จะเดินหน้าทำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือ Booster Shot เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าแนวคิดนั้นสิ่งจำเป็นในเวลานี้หรือไม่
สำหรับตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จากทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน เเละยอดผู้เสียชีวิตก็กลับมาเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้ง หลังลดลงตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุหลักๆ มาจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโควิด ‘สายพันธุ์เดลตา’ ที่ระบาดหนักในพื้นที่มากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก
- ไฟเซอร์ กำลังพัฒนาวัคซีน ‘เข็ม 3’ สู้สายพันธุ์ ‘เดลตา’ โดยเฉพาะ เตรียมขออนุมัติใช้ในสหรัฐฯ
- ผลวิเคราะห์ชี้ 5 ใน 6 ประเทศที่มีการ ‘ติดเชื้อโควิดสูง’ ได้รับ ‘วัคซีนจีน’
ที่มา : Reuters , CNBC , Global News