ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลกอย่าง ‘ไฟเซอร์’ (Pfizer) กำลังพัฒนาวีคซีนป้องกันโควิด ‘เข็มที่ 3’ หรือ Booster Shot กระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับ ‘สายพันธุ์เดลตา’ โดยเฉพาะ เตรียมขออนุมัติใช้งานกับทางการสหรัฐฯ ภายในเดือนหน้า
เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา (Delta) หรือ B.1.617.2 ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย ตอนนี้กำลังแพร่ระบาดหนักในกว่า 98 ประเทศ รวมถึงไทย
ก่อนหน้านี้ ‘ไฟเซอร์’ ได้ร่วมมือกับ ‘ไบโอเอ็นเทค’ ของเยอรมนี พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยหนักได้ประมาณ 95% เเต่ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล เปิดเผยเมื่อ 5 ก.ค. ว่า “ประสิทธิภาพการป้องกันของวัคซีนไฟเซอร์นั้นลดลงมาเหลือเพียง 64% เมื่อเจอเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา”
Mikael Dolsten หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของไฟเซอร์ อ้างอิงข้อมูลหลักฐานจากทางการอิสราเอล ระบุว่า ผู้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มเเล้วนานเกิน 6 เดือน ยังมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
โดยยืนยันว่า เเม้การฉีด ‘Booster Shot’ ด้วยวัคซีนสูตรเดิมนั้น จะยังสามารถต้านทานโควิดทุกสายพันธุ์ที่รู้จักในตอนนี้ เเละมีการป้องกันสูงกว่าการฉีด 2 เข็ม ราว 5-10 เท่า เเต่ทางบริษัทกำลังพัฒนาวัคซีน Booster Shot สูตรใหม่เพื่อจัดการสายพันธุ์เดลตา
“จากค้นพบเหล่านี้ สอดคล้องกับการวิเคราะห์การทดลองเฟส 3 ของบริษัท นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราถึงพูดและเชื่อมาตลอดว่ามีความเป็นไปได้ที่จำเป็นต้องฉีดเข็ม 3 ภายใน 6-12 เดือนหลังจากฉีดครบ 2 เข็มแล้ว”
- ซีอีโอ Pfizer เผยอาจต้องฉีดวัคซีนโควิด ‘เข็มที่ 3’ เพิ่มใน 6-12 เดือน และอาจต้องฉีดประจำทุกปี
- WHO เผย ‘โควิดพันธุ์เดลตา’ เลือกกลุ่มเปราะบางได้ดีกว่า และเป็นอันตรายถึงชีวิตมากขึ้น
โดยหากได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแล ทางไฟเซอร์–ไบโอเอ็น เทคจะเริ่มทดลองทางคลินิกให้เร็วที่สุดภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเตรียมขออนุมัติใช้งานต่อทางคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคน ยังตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการฉีด Booster Shot
Eric Topol ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ระดับโมเลกุลและผู้อำนวยการสถาบัน Scripps Research Translational ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มองว่าการลดลงของภูมิคุ้มกัน จะส่งผลให้เกิดการเพิกเฉยต่อส่วนประกอบอื่นๆ ที่สำคัญในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงเซลล์หน่วยความจำ B ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ เมื่อต้องเผชิญกับไวรัส โดยเขาเน้นว่า “เรื่องนี้จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันให้ได้”
ทั้งนี้ ไฟเซอร์คาดการณ์ยอดขายวัคซีนของบริษัทในปีนี้ทะลุ 2.6 หมื่นล้านเหรียญ เเละกำลังมองหาวิธีที่จะเพิ่มการผลิต โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้ 3 พันล้านโดสภายในปีนี้ และ 4 พันล้านโดสในปีหน้า
จากข้อมูลของ IQVIA Holdings ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก และวัคซีนเข็มต่อไปเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาจมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.57 เเสนล้านเหรียญในปี 2025