JLL เปิดข้อมูลตลาด “คอนโด” ยกเลิกไปแล้ว 5,900 ยูนิต ชะลอก่อสร้างหรือยังไม่มีกำหนดเปิดตัวอีก 6,800 ยูนิต ดาวจรัสแสงหนึ่งเดียวในตลาดอสังหาฯ คือ “คลังสินค้า/โรงงาน” ตอบรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ด้านดีดีพร็อพเพอร์ตี้สำรวจผู้บริโภครอบครึ่งปีหลัง’64 พบแนวโน้มยืดเวลาตัดสินใจซื้อบ้านเป็น 3-5 ปีเพิ่มขึ้น เหตุผลหลัก “รายได้หด-ราคาอสังหาฯ สูงเกินไป”
เก็บข้อมูลจากงานแถลงข่าวเปิดรับสมัครโครงการเข้าประกวดเวที PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 16 โดยมี “สุพินท์ มีชูชีพ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL และ “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ร่วมฉายภาพสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย
สุพินท์มองภาพรวมอสังหาฯ ไทยปีนี้ยังไม่ใช่ขาขึ้น โดยอสังหาฯ กลุ่มค้าปลีก ออฟฟิศ คอนโดฯ ล้วนอยู่ในวัฏจักรราคาขาลง เหลือเพียงกลุ่ม “คลังสินค้า-โรงงาน” ที่ยังน่าสนใจ โดยอยู่ในวัฏจักรที่การเติบโตเริ่มช้าลง แต่นับว่าดีที่สุดในกลุ่มอสังหาฯ เพราะการเติบโตอย่างมากของอี-คอมเมิร์ซซึ่งได้อานิสงส์จากการระบาด
“ถ้ารัฐบาลฉีดวัคซีนได้ 70% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นได้ในปี 2565 ขณะนี้เราพบว่านักลงทุนเข้ามาเก็บข้อมูลโครงการหรืออาคารต่างๆ ผ่านหน้าเว็บไซต์จำนวนมาก แต่เมื่อดูได้เฉพาะหน้าเว็บ ยังเข้ามาดูของจริงไม่ได้ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ก็จะยังไม่กล้าตัดสินใจ” สุพินท์กล่าว
คอนโดฯ อ่วม พับแผน-เลื่อนอื้อ
ตลาดที่ยังคงสาหัสต่อเนื่องคือ “คอนโดมิเนียม” โดยสุพินท์กล่าวว่าตลาดนี้อยู่ในสภาวะโอเวอร์ซัพพลายอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิด COVID-19 ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มไฮเอนด์และระดับกลาง เมื่อเผชิญ COVID-19 จึงเหมือนซ้ำเติมปัจจัยลบที่มีอยู่เดิม
JLL พบว่า ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีคอนโดฯ ที่แผนสะดุดแล้วทั้งหมด 12,700 ยูนิต โดยแบ่งสถานะได้ดังนี้
- ถอนตัวยกเลิกโครงการ 5,900 ยูนิต
- ชะลอการก่อสร้างโครงการ 2,500 ยูนิต
- ยังไม่กำหนดวันเปิดตัวโครงการ 4,300 ยูนิต
ด้านราคาคอนโดฯ เฉลี่ยทั้งตลาดอยู่ที่ 101,900 บาทต่อตร.ม. ส่วนคอนโดฯ ระดับไฮเอนด์กลางเมืองราคาอยู่ที่ 218,000 บาทต่อตร.ม. ซึ่งราคาปรับลงทั้งหมด ทำให้ผู้ซื้อเหลือเฉพาะกลุ่มซื้ออยู่เอง ไม่มีนักเก็งกำไร ตลาดเป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างมาก
เฉพาะตลาดคอนโดฯ นั้น สุพินท์มองว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดังที่กล่าวข้างต้น คอนโดฯ น่าจะเริ่มฟื้นได้ช่วงไตรมาส 2/65 แต่กว่าที่ตลาดจะดูดซับซัพพลายมากพอที่จะกลับมาเป็นขาขึ้น น่าจะอีก 12-18 เดือนต่อจากนั้น
คนเลื่อนแผนซื้อบ้านเป็น 3-5 ปี
ด้าน “กมลภัทร” จาก ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดข้อมูลสำรวจผู้บริโภคช่วงครึ่งปีหลัง 2564 พบว่า 71% ยังสนใจซื้อบ้าน แต่ปัจจัยลบคือผู้บริโภคที่ยังต้องการซื้อ “เลื่อนแผน” การซื้อบ้านออกไป ดังนี้
- จะซื้อภายใน 1 ปี – 13%
- จะซื้อภายใน 1-2 ปี – 26%
- จะซื้อภายใน 3-5 ปี – 39%
- จะซื้อในช่วง 5 ปีขึ้นไป – 22%
ทั้งนี้ เมื่อเทียบข้อมูลกับช่วงครึ่งปีแรก 2564 สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เพราะผู้บริโภคที่จะซื้อบ้านภายใน 2 ปีลดลงจาก 48% เหลือเพียง 39% แล้ว ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปตัดสินใจซื้อใน 3-5 ปี
เหตุผลหลัก 5 อันดับแรกที่ทำให้ผู้บริโภคเลื่อนแผนการซื้อบ้านออกไปก่อน คือ 1) รายได้ลดลง 2) ราคาอสังหาฯ สูงเกินไป 3) ไม่สามารถกู้สินเชื่อบ้านได้ 4) การเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ และ 5) ไม่มีเงินดาวน์
กมลภัทรกล่าวว่า เห็นได้ว่า COVID-19 มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจ ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการจัดการโรคระบาด และทางออกคือต้องฉีดวัคซีนประชาชนให้เร็วที่สุด
ฝั่งผู้ประกอบการ กมลภัทรมองว่าขณะนี้ต้องดูแลใน 3 ด้านเพื่อดึงลูกค้า คือ 1) สินค้าต้องตอบโจทย์ทุกส่วน ต้องใส่ใจในรายละเอียดแม้เล็กๆ น้อยๆ ที่ตรงกับความต้องการลูกค้า 2) ราคาต้องจัดโปรโมชันคุ้มค่า แม้ว่าขณะนี้ราคาเฉลี่ยอสังหาฯ ลดลง -7% YoY แล้วแต่ทัศนคติผู้ซื้อยังมองว่าสูง 3) จังหวะการทำการตลาดหรือเปิดโครงการใหม่ ต้องระมัดระวัง เช่น ช่วงนี้สถานการณ์อึมครึมมาก หากทำตลาดช่วงนี้อาจไม่มีคนสนใจมากนัก
สำหรับโครงการประกวดประจำปี PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 16 ยังจัดตามปกติ ปีนี้มีสาขาประกวดทั้งหมด 60 สาขา เพิ่มรางวัลใหม่หลายสาขา เช่น สุดยอดดีเวลอปเปอร์ภาคเหนือ สุดยอดดีเวลอปเปอร์ภาคใต้ รางวัลพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกยอดเยี่ยม เป็นต้น เปิดรับสมัครแล้ววันนี้จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2564 บุคคลทั่วไปหรือบริษัทที่สนใจสามารถเสนอชื่อโครงการได้ที่ AsiaPropertyAwards.com/nominations
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
- “แสนสิริ” 2564 เจาะตลาด “ถูก+เล็ก” รับซื้อโครงการที่ไปต่อไม่ไหว จี้รัฐผ่อนปรน LTV
- “เอพี” ครึ่งปีหลัง 2564 ลุยเปิด 26 โครงการ ฟื้นแบรนด์ “บ้านกลางกรุง” รุกคอนโดฯ สายสีม่วง