GTH ดวงไม่ต้อง ของเขาแรง

ถ้ามีใครมาบอกว่าหนัง “ดัง” เป็นเรื่องของ “ดวง” เพราะในบางบทบาทของคนทำหนังจะต้องรับหน้าที่เทพธิดาพยากรณ์ ทำนายความต้องการของคนดูในปีถัดไป คงจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เถียงขาดใจ เพราะทุกอย่างที่พวกเขาทำไป ไม่ได้หวังพึ่งดวง

เจ้าของทำเนียบหนังร้อยล้าน 4 เรื่อง ไม่นับรวม “แฟนฉัน” หนังรุ่นพี่ที่นำร่องมาก่อนใครในสมัยที่ยังเป็นกลุ่ม 365 ฟิล์ม ก่อนจะเกิดการรวมตัวเป็น “จีทีเอช” และประเดิมด้วยการส่งหนังติดทำเนียบร้อยล้านได้ตั้งแต่ปีแรก จาก “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” จากนั้นเว้นว่างมาหลายปี และกลับมาทวงตำแหน่งค่ายหนังร้อยล้านอีกครั้งแบบดับเบิ้ล จาก “ห้าแพร่ง” และ “รถไฟฟ้า มาหานะเธอ” ที่ออกฉายในปีเดียวกัน คือ 2552

และล่าสุดกับ “กวนมึนโฮ” ที่มาโกยเงินคนไทยไปอีกครั้ง ยังไม่นับหนังอีกนับ 10 เรื่อง ที่กวาดรายได้เกิน 50 ล้านบาทอีกด้วยนั้น

ต้องเรียกว่า นี่คือบทพิสูจน์ความสำเร็จ ที่มาพร้อมคำถามในใจของใครหลายคนที่ว่า พวกเขาทำหนังอย่างไร ทำไมถึงโกยเงินกันจัง

“ความสำเร็จของเรา มันมีที่มานะ ไม่ใช่ว่าฟลุ้ก ทุกครั้งที่เราคิดโปรเจกต์ขึ้นมา เราคิดแล้วคิดอีก ทวนแล้วทวนอีก แล้วการผ่านบอร์ดครั้งหนึ่งของเราก็ไม่ใช่ว่าง่าย ต้องได้ไฟเขียวจากกรรมการ 6 ใน 8 คน แล้วพอถึงตอนทำเราก็ทำมันอย่างตั้งใจสุด แก้ไขให้ดีที่สุด” คำเปิดใจของ วิสูตร พูลวรลักษณ์ นายใหญ่แห่งค่ายหนังไซส์เอ็ม อย่าง “จีทีเอช” ที่สรุปรวบยอดเบื้องหลังความสำเร็จ ก่อนจะสาธยายต่อถึง 3 กฎเหล็กในการทำหนังสไตล์จีทีเอช

“หนึ่ง คือ ต้องสดใหม่ อันนี้สำคัญมาก ไม่มี ไม่ได้ ถ้าให้คะแนน ผมให้ข้อนี้มากสุด อาจจะครึ่งหนึ่งเลยก็ได้ คือคุณจะทำหนังซ้ำๆ ซากๆ จำเจ ไม่ได้ มันต้องมีรสชาติที่คนรู้สึกว่า เออ มันแปลกดีว่ะ”

จากสดใหม่ที่ว่า มาถึงเรื่องของไอเดีย ที่เน้นว่า ต้องดี จะมาเป็นสตอรี่ บิ๊กไอเดีย หรือจะมาเป็นพล็อตก็ได้ ถ้าดีจริง แล้วบวกเข้ากับความสดใหม่ เรียกว่า เตรียมตัวเข้าเส้นชัยได้แล้ว

“ถ้าไอเดียดีด้วย สดใหม่ด้วย เหลืออีกข้อเดียวนี่จบเลย คือ คุณภาพ” วิสูตรว่าอย่างนั้น

เมื่อมีไอเดียดี ตัวเรื่องมีความสดใหม่ สิ่งที่เหลือคืองานโปรดักชั่นทั้งหมด ที่ทุกคนต้องพุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน คือ ทำมันให้เป็นงานที่ดี ที่มีคุณภาพ ต้องทำด้วยความตั้งใจ จากนั้นผลของน้ำพักน้ำแรง จึงมีสิทธิจะไต่ขึ้นชั้น “งานที่สมบูรณ์” ได้

แต่นั่นก็แค่ “สิทธิ” ในการเป็นผู้ท้าชิง ส่วนจะได้เป็นแชมป์หรือไม่ “คนดู” คือ ตัวแปรสำคัญ

สิ่งที่เชื่อและพยายามบอกทีมงานทุกๆ คนมาตลอด คือ ต้องตอบโจทย์สำคัญให้ได้ว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำหนังตามรสนิยมคนดูได้ พร้อมๆ กับที่เดินนำเขาไปด้วย

โดยเจ้าตัวบอกอย่างไม่ลังเลเลยว่า “หนังตลาดที่ขายได้ คือ เป้าหมายของจีทีเอช”

เพียงแต่ว่า หนัง (ที่เขาว่า) เป็น “หนังตลาด” ซึ่งประทับด้วยโลโก้ตัวหนังสือสามตัวแต่ต่างฟอนต์กันของค่ายนี้ ไม่ใช่ตลาดแบบอะไรก็ได้ แต่จะต้องเป็น “ตลาดอย่างมีคุณภาพ”

“จริงๆ เราก็อยากทำหนังตลาดนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้คนดูเดินเข้ามาชี้หน้าด่าเรา ว่า โห! ตลาดมากเลย คือโอเค เราตลาดจริง แต่เราตลาดอย่างมีคุณภาพไง เราไม่ใช่ตลาดแบบอะไรก็ได้ จำนวนหนังต่อปีที่เราทำออกมาได้เลยไม่เยอะ

ผมจะพูดเสมอว่า เราไม่ต้องทำอะไรหรอก เราแค่จับรสนิยมคนดูให้ได้ก็พอแล้ว อย่าไปฝืนรสนิยมคนดู อย่าทำเป็นอวดเก่ง

ไม่ใช่ว่า คนดูเขาชอบแบบนี้เราก็หนีไปทำแบบนั้น หรือ เขาชอบแบบนั้นเราก็ดันหนีมาทำแบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นมันไม่มีทางที่จะไปเจอกันได้”

ยกตัวอย่างเช่น จะขายก๋วยเตี๋ยว และรู้ว่าลูกค้าชอบก๋วยเตี๋ยวรสจัด คนขายก็ต้องทำก๋วยเตี๋ยวรสจัดมาเสิร์ฟ ให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบบนี้แหละใช่

“ถึงรสมันจะเผ็ดอย่างที่เขาชอบ แต่มันสำคัญตรงที่ก๋วยเตี๋ยวชามนั้นจะต้องแปลกไปจากที่เคยทาน อาจจะมีส่วนผสม เครื่องปรุง หรืออะไรบางอย่างที่รู้สึกว่าชามที่อยู่ตรงหน้ามันน่าสนใจ”

ความยากของเรื่องนี้ อยู่ตรงที่ว่า อะไรคือความพอดี จะปรุงอย่างไรให้น่าสนใจ แต่ไม่ได้ใหม่ ล้ำ เสียจนคนเมินหน้าหนี

เรื่องของความพอดีที่คนดูต้องการ เป็นสิ่งที่วิสูตรมองว่า อย่าไปทุ่มเวลาค้นหาให้มาก เพราะคงจะมีแต่เทวดาเท่านั้นที่จะรู้ว่าอะไรคือความพอดีของคนดู

ในเมื่อการทำหนังคือการคาดเดาตลาดล่วงหน้าหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย ว่าปีหน้าคนจะอยากดูหนังแบบไหน แต่จะไม่มีทางรู้เลยว่าที่เดา และลงมือทำไปนั้น จะถูกหรือผิด แต่เรื่องความพอดีของคนทำงานต่างหาก ที่เป็นเรื่องใหญ่ ใกล้ตัว และจัดการได้ง่ายกว่าจัดการคนดูหลายเท่าตัวนัก

“เรากำหนดหนังให้พอดีกับคนดูไม่ได้ แต่เรากำหนดความพอดีของตัวเราได้ เราจัดการได้ ถามไถ่กันในหมู่พวกเราเอง เช่น ถามคนทำงานว่าอยากทำไหม พล็อตแบบนี้รู้สึกกำลังดีไหม บัดเจ็ตไหวไหม จุดขายพอไหม แข็งแรงพอหรือเปล่า ซึ่งเราต้องว่ากันที่ความถนัด และใจที่อยากทำของคนของเราก่อน”

ส่วนใครจะพูดกันไปต่างๆ นานา ว่า จีทีเอชก็ทำหนังได้ไม่กี่แบบ ถ้าไม่หนังรัก ก็โรแมนติก คอเมดี้ หรือไม่ก็หนังผี นั้น วิสูตรเองก็ยอมรับอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจว่านี่คือทางถนัดของจีทีเอช

“มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าทำได้ดีในหลายๆ อย่างที่เป็นองค์ประกอบของเรา ทั้งในเรื่องบัดเจ็ท การเขียนเรื่อง การถ่ายทำ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เรารู้สึกว่า หนังแบบนี้มันเป็นทางที่เราคุ้น เราชิน แล้วเราก็มีความเข้าใจมัน ถ้าเทียบกับหนังที่เราไม่เข้าใจมันเลย ก็อย่างหนังแอคชั่น ที่พอแค่คิดจะทำ ก็กังวลไปหมด ไหนจะต้องลงทุนเยอะ ไหนจะต้องเซตอัพอะไรหลายๆ อย่างขึ้นมา เราก็ไม่รู้ว่าเราจะเข้าใจมันดีพอหรือเปล่า”

สไตล์การทำหนังของจีทีเอช คือ จะต้องเริ่มที่หนังที่อยากทำก่อน เมื่อระดมสมองกันจนแน่ใจว่าหนังเรื่องนี้แข็งแรงพอที่จะทำได้ และมีความเข้าใจในหนังที่จะทำมากพอแล้ว จากนั้นหน้าของคนดูจะลอยชัดออกมาเอง ว่าหนังเรื่องนั้นๆ จะทำออกมาให้ใครดู

“พอได้โปรเจกต์หนังแล้ว ผมจึงจะค่อยๆ นึกภาพหน้าตาคนดูของเราว่า คือใคร สมมติว่าเราทำหนังให้เด็กคอซองดู ต้องถามต่อว่าแล้วนักศึกษาดูไหม ถ้าดูอีกถามต่อไปว่าคนทำงานอย่างพวกยังอะดัลท์ล่ะดูหรือเปล่า ถ้ายังดูอีก นั่นแสดงว่าฐานเรื่องนี้ใหญ่แล้วนะ ซึ่งพอได้หน้าตาคนดูแล้ว การพัฒนางานหลังจากนั้นก็จะเริ่มง่าย มีกรอบชัดเจนให้ทำงาน เพราะเรารู้แล้วว่าเราจะขายใคร”

สิ่งที่วิสูตรย้ำมาตลอดในการพูดคุยกันครั้งนี้ คือ สไตล์การทำงานของจีทีเอช ที่ต้องเน้นความสดใหม่ โดยเรื่องสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ที่เคยมีคนใช้แล้วได้ผล ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้เห็นเป็นผลิตผลออกมาจากค่ายนี้

“ที่นี่เราทำหนังไม่เหมือนคนอื่น คือคนอื่นเขามักจะดูความสำเร็จในอดีต ว่าอะไรที่มันเคยแจ็กพอต อะไรที่มันเคยโดน อะไรที่มันเคยป๊อป เขาก็จะนำกลับมาทำใหม่ คล้ายๆ รีเมก เพียงแต่เปลี่ยนไอเดียใหม่ แต่มันก็จะยังเป็นความสำเร็จที่เคยทำไว้ในอดีต

ยกตัวอย่างเช่น หนังอย่างกองพันทหารเกณฑ์ ที่มันเคยดังมาก แล้วก็มีคนนึงลุกขึ้นมาบอก เฮ้ย เรามาทำหนังอย่างกองพันทหารเกณฑ์กันดีกว่า มันเคยดังมากเลยนะ คนอื่นๆ ก็เออจริง เรามาทำหนังแบบกองพันทหารเกณฑ์กันดีกว่า ซึ่งแบบนี้จะไม่มีที่จีทีเอช”

หนังที่ออกมาจากค่ายจีทีเอช จึงมีความเป็นหนังทดลองอยู่หน่อยๆ ซึ่งวิสูตรบอกว่า ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วย เพราะไม่มีทางรู้ว่าสิ่งที่ทีมงาน คิด เลือก และ ทำ คือสิ่งที่ใช่

และด้วยความสดใหม่นี่เอง ที่ทำให้หนังหลายเรื่องที่ถูกสร้างออกมาเกินจะคาดเดา แม้กระทั่งคนที่นั่งอยู่หัวโต๊ะประชุมอย่างวิสูตรเอง ในบางครั้งก็ยังนึกไม่ถึงเช่นกัน

“อย่างเรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ก่อนที่จะมาเป็นหนังอย่างที่เห็นๆ กันนั้น ตอนแรกนี่ผมดูแล้วหนักใจเลย มองว่ามันเป็นหน้าหนังที่ขายยากมากเลยนะ คือ แรกสุดเลยมันมาในชื่อ Last Train to Bangrak แล้วหน้าหนังมันกรุงเท้พ…กรุงเทพ ตอนที่เก้ง (จิระ มะลิกุล) เล่าให้ฟัง มันดูเหงาๆ ผมนึกภาพหนังหว่อง คาไว ออกมาเลย หนักใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไว้ใจทีมงาน ว่าเขาจะทำออกมาดีได้”

และทีมงานก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อโปรเจกต์เริ่มเดินหน้า จนได้เป็นบทหนังดราฟท์แรกออกมา กลับกลายเป็นว่าคนละเรื่องกับภาพที่วิสูตรคิดไว้ในหัวเลย จากหนังเหงาๆ กลายเป็นหนังสนุก ฮา ครบรส ซึ่งตรงจุดนี้ วิสูตร เอ่ยว่า นี่แหละคือเมจิกของหนัง “มันทำให้เราเซอร์ไพรส์ได้เสมอ”

“ผมจะพูดอยู่เสมอว่า หนังของจีทีเอช เป็นหนังที่ไม่มีหน้าหนัง เวลามีคนมาถามผมว่าทำหนังเรื่องอะไรอยู่ พอผมตอบไป เขาจะทำหน้า…อ้อ เหรอ…แต่จริงๆ เขานึกตามไม่ออกหรอก แล้วก็คิดในใจ ว่ามันกำลังทำอะไรวะ

หรืออย่างตอนที่เล่าให้พี่บูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ฟังว่าเรากำลังทำรถไฟฟ้ามาหานะเธอ แกก็ซื้อนะ แต่ซื้อเพราะเกรงใจ ผมดูหน้าแกก็รู้เลยว่า แกไม่ได้ซื้อร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะแกก็ยังไม่แน่ใจ ว่ามันสนุกจริงเหรอ เวิร์คจริงเหรอ

กวนมึนโฮก็เหมือนกัน ตอนแรกมันก็ไม่ใช่อย่างที่เห็น ตอนแรกมันชื่อว่า โซลเมท (Seoul-mate) พอเล่าให้ใครฟัง ก็แบบ… อืม เหรอ…หนังรักเหรอ…ถ่ายที่เกาหลีเหรอ…แล้วก็ทำหน้าแบบเฉยๆ

แต่พอมันเป็นหนังออกมาปุ๊บ คนก็อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เองเหรอ ขนาดผมเองในตอนแรกก็ยังคิดภาพในแบบที่หนังออกมาไม่ได้เหมือนกัน ผมยอมรับเลยว่าบางทีเราก็ไม่ถึง”

เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่จะชี้ชะตา ว่าจะ “ฟ้า หรือ เหว” อยู่ที่คนไม่กี่คน โดยหลักๆ คือ ผู้กำกับ และ โปรดิวเซอร์ ซึ่งจะขลุกอยู่กับหนังตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง

“สุดท้ายมันอยู่ที่มือผู้กำกับจริงๆ ว่าเขามองไว้เบอร์ไหน ตลกแค่ไหน เศร้าไปถึงจุดไหน ซึ่งโต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับกวนมึนโฮ) เขาเข้าใจในสิ่งที่เขาทำ เขารู้ว่าเขาเลือกเบอร์นี้

ผมก็ลุ้นมากเลยตอนที่ได้ดูหนังดราฟท์แรก มันชี้เป็นชี้ตายเลยนะ ถ้ามันออกมาแล้วได้ซัก 80% แล้วอีก 20% มันยังไม่เข้าที่ ผมจะโล่งใจมาก เพราะที่เหลือกลับไปแก้มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้ว แต่ถ้ามันมาแบบคาบลูกคาบดอกตายมิตายแหล่นี่ต้องเหนื่อยมาก ซึ่งก็โล่งใจมากที่ได้มาเกินคาด เหลือต้องเสริมเพิ่มอีกนิดหน่อย

ต่อให้เราได้หนังแย่ๆ มาเรื่องหนึ่งเราก็ต้องทำต่อ ถ้ามันมาแย่ เราก็ต้องแก้ให้มันแย่น้อยที่สุด แต่ถ้าเราได้หนังดีมา เราก็ต้องทำต่อให้มันดีที่สุด

ไม่ใช่ว่า เกิดได้หนังแย่มา แล้วเกิดอาการแบบ ตายแล้ว หนังเฮงซวยมาก เลิกแล้ว ถอดใจ ไม่ทำแล้วดีกว่า ถ้าอย่างนั้นมันจะยิ่งไปกันใหญ่”

และนอกจากเนื้อหนังที่ทีมงานกลั่นออกมาอย่างตั้งใจแล้วนั้น อีกสองกำลังสำคัญที่ช่วยส่งให้รายได้หนังถึงฝั่งฝันได้เร็วขึ้น คือ วลีฮิต และ เพลงดัง

ถึงแม้ว่าจะเป็นหนึ่งค่ายที่ส่งประโยคเด็ด ให้ฮิตติดหู จนใช้กันแพร่หลายในสังคมมาอยู่ตลอด ตั้งแต่ยุค “อ้วนดำ” จากแฟนฉัน มาสู่ “หล่อทะลุแป้ง” ในรถไฟฟ้ามาหานะเธอ กระทั่งล่าสุดกับ “เฮิร์ตเหรอจ๊าาาา” วลีกระแนะกระแหนที่นางเอกแซวพระเอกในกวนมึนโฮ หรือจะเป็น “คิดว่าถ่อยแล้วเท่เหรอ” และ “(ขอกอดอีกทีได้ปะ) …ก็ไม่ได้ห้ามหนิ” จากหนังเรื่องเดียวกัน

วิสูตรบอกว่าทั้งหมดมาโดย “ไม่ได้ตั้งใจ” แต่ “ไม่ได้บังเอิญ”

“เราไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อตั้งใจให้มันฮิต เพียงแต่ตอนเราทำบท เรามีกติกาว่า เราต้องทำบทให้ดีที่สุด ถ้ามันยังดีไม่พอ โปรดิวเซอร์ก็จะไม่ให้ผ่าน ซึ่งความเคี่ยวตรงนี้มันจะช่วยทำให้งานดีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งแก้ก็ยิ่งดีขึ้น”

จากคำฮิต สู่เพลงดัง ที่ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จในการโปรโมตหนังในวันนี้นั้น วิสูตรบอกว่า มันคือเรื่องจำเป็น ถึงขนาดที่ว่า “ใครไม่ทำก็โง่”

โดยทุกค่ายหนังจะให้ความสำคัญกับเพลงที่ใช้โปรโมตมาก เพราะยิ่งถ้าสามารถดันให้เพลงฮิตก่อนหนังเข้าได้ ก็จะเหมือนมีแรงส่งช่วยให้ดังตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย

“เรื่องเพลงนี่ ผมยกให้เป็นพรสวรรค์ของคุณเก้ง (จิร ะ มะลิกุล) กับ วรรณฤดี (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ โปรดิวเซอร์หนังค่ายจีทีเอช) เลยนะ อย่างคุณเก้ง ที่เอาเพลงไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอมาใช้นี่ผมให้ 5 ดาวเลยนะ เพราะ ตอนเขาเอาเวอร์ชันของวงอพาร์ทเมนท์คุณป้ามาเปิดให้ฟัง ผมส่ายหัวเลย เพลงอะไรของมันวะ ไม่เข้าใจเลย เนื้อหาก็ไม่รู้เรื่อง ร้องก็ไม่เข้าใจ แต่พอเขาเอามาทำใหม่ เปลี่ยนซาวด์มาเป็นป๊อป แล้วเอา ดา เอ็นโดรฟิน ร้องคู่กับ ป๊อป แคลอรี่ บลาบลา เท่านั้นแหละ มันกลายเป็นอีกแบบหนึ่งเลย มันเพราะอย่างประหลาดแล้วมันก็ดังมากๆ ด้วย”

โดยเขารับว่า ทั้ง คำฮิต และ เพลงดัง คือแรงส่งสำคัญที่ช่วยผ่อนแรงดันหนังเรื่องหนึ่งๆ ไปได้โข โดยเฉพาะถ้าหนังเป็นออริจินัลของคำนั้นๆ แล้วเกิดฮิต มีคนเอาไปใช้ต่อ ก็จะยิ่งดี โดยสำทับว่า

“มันคือหน้าที่ของทำงานของทุกค่ายหนังที่จะต้องเขียนบทให้มีทั้งคำฮิต แล้วก็ต้องทำเพลงให้ดัง ซึ่งทุกคนก็รู้ว่ามันสำคัญ ใครๆ ก็ทำกัน แต่เราคงไม่กล้ายกหางตัวเองขนาดนั้น ว่าเราทำแล้วฮิตกว่าคนอื่น แต่ถ้าถามว่าประโยคโดนๆ หรือการเลือกใช้เพลงหนังจนฮิตกระหึ่มนั้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็คงตอบได้แค่ว่าเพราะความใส่ใจในงาน ที่เราละเอียดกับมันทุกขั้นตอน”

ถ้ามีจีทีเอชกลายเป็นหนัง

“ถ้าเกิดจะมีคนทำหนังเกี่ยวกับพวกเราสักเรื่อง ในนั้นมันคงจะเต็มไปด้วยความไร้สาระสิ้นดี บ้าบอคอแตก ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แล้วก็อารมณ์ดีเกินเหตุ คือ บางทีผมก็คิดนะ ว่ามันจะอารมณ์ดีไปไหนกัน”

(วิสูตร พูลวรลักษณ์)

ซึมเข้าเส้น

ได้เจอกับกลุ่มแฟนคลับรุ่นเยาว์ของจีทีเอชโดยบังเอิญขณะที่เดอะแก็งค์เข้ามาถ่ายรูปและรับของรางวัล ในฐานะเจ้าของตั๋วหนังเรื่องกวนมึนโฮที่ยาวที่สุดเป็นอันดับสอง ด้วยจำนวน 111 ใบ ที่ออฟฟิศของจีทีเอช

อิม กานต์ มินท์ ตอง โป๊ย นักเรียนชั้น ม.2 จากรั้วโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง 5 สาวรีบชิงกันตอบคำถามจนฟังแทบไม่รู้เรื่อง ว่าทำไมถึงเป็นแฟนคลับจีทีเอช

“หนูดูแฟนฉันตั้งแต่ ป.1 เลยนะพี่”

“ชอบหนังจีทีเอชมาก มีทุกรสชาติ หนูดูทุกเรื่องเลย”

“บ้านฉันฯ นี่ดูมากที่สุดเลยนะ 6 รอบแน่ะ”

“ดูกี่รอบก็ชอบค่ะ ไม่เบื่อหรอก”

“โหพี่ไอ้ที่พระเอกเขาพูดว่า.. ผมรู้แต่ว่า เวลาผมอยู่กับคุณแล้ว ผม (แ_ง) โคตร มีความสุขเลย.. มันโดนมากพี่”

เซ็งแซ่จนสุดท้ายเลยขอเน้นๆ ว่าสรุปมันเป็นยังไง

“ชอบจีทีเอชจนซึมเข้าเส้นเลยพี่” คือ คำตอบของ ตอง ที่เดอะแก็งค์ช่วยกันพยักหน้าหงึกๆ