การแสดง Pictogram พิธีเปิด Tokyo 2020 ชวนนึกถึง ‘เกมซ่าท้ากึ๋น’ เกมโชว์ในตำนาน

Pictogram-Olympics-Tokyo-2020
จากเกมโชว์สู่โอลิมปิก!? หนึ่งในไฮไลต์ของพิธีเปิด Tokyo 2020 คือการแสดงชุด “Pictogram” เปิดตัวสัญลักษณ์ 50 แบบของกีฬาทั้ง 33 ประเภทที่จะทำการแข่งขัน โดยเจ้าภาพเลือกวิธีจัดแสดงสุดสร้างสรรค์ สนุก และสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่อย่างมาก เพราะพวกเขาใช้ ‘คน’ แสดงท่าทางให้เหมือนกับในสัญลักษณ์ ชวนนึกถึงเกมโชว์ระดับตำนาน “เกมซ่าท้ากึ๋น”

การแสดงชุด Pictogram ที่พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง ‘มรดก’ ที่ญี่ปุ่นได้ให้ไว้กับมหกรรมกีฬานี้เมื่อปี 1964 เพราะเป็นปีแรกที่มีการใช้สัญลักษณ์ที่เรียกว่า Pictogram เป็นภาพแบบมินิมอลที่สื่อถึงกีฬาแต่ละชนิดให้เข้าใจได้ง่าย

ความสำคัญของ Pictogram คือช่วยปลดล็อกการสื่อสาร ก้าวผ่านกำแพงภาษา เมื่อจะโปรโมตชนิดกีฬาที่แข่งขัน ทำสัญลักษณ์บนแผนที่ สถานที่จัดงานต่างๆ แค่แปะภาพ Pictogram เข้าไปก็เข้าใจได้ชัดเจน หลังจากนั้นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกจึงมีการออกแบบ Pictogram ในสไตล์ของตัวเองเสมอ

ภาพ Pictogram ในกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020

ปีนี้ก็เช่นกัน เมื่อต้นตำรับกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง จึงมีการออกแบบ Pictogram ชุดใหม่ และมีการแสดงเพื่อเปิดตัวด้วย

แต่จะให้เปิดภาพ Pictogram ใหม่ขึ้นมาเฉยๆ ก็จะไม่ ‘ว้าว’ เจ้าภาพเลยทำการแสดงสุดสร้างสรรค์ สนุก เรียกรอยยิ้มขึ้นมา โดยการให้ ‘คน’ ใส่ชุดสีน้ำเงิน-ขาวเหมือนกับตัวสัญลักษณ์ Pictogram มาออกท่าทางหน้ากล้องให้เหมือนกับในสัญลักษณ์กีฬาแต่ละชนิด! (ใครยังไม่ได้รับชม สามารถชมคลิปได้ด้านล่าง)

เกือบทั้งหมดเป็นการแสดง ‘สด’ ใช้การถ่ายทำแบบ long take ไม่มีเวลาให้นักแสดงผิดพลาดเลย (แม้จะผิดพลาดไป 1 จุดช่วงกีฬาแบดมินตัน แต่เราเชื่อว่าคนทั้งโลกไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว) เบื้องหลังความน่ารักที่ทุกคนปรบมือให้ เชื่อว่านักแสดงทั้งหมดต้องฝึกซ้อมไม่แพ้นักกีฬาในศึกโอลิมปิก เพราะท่าทางทั้งหมดจะต้อง ‘เป๊ะ’ มุมกล้องที่หมุนไปมาจะต้องถูกต้อง นี่จึงเป็นชุดการแสดงที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก

สำหรับชาวไทย หนีไม่พ้นที่เราจะต้องนึกถึง “เกมซ่าท้ากึ๋น” เกมโชว์ในตำนานของญี่ปุ่นที่เคยมีการนำมาฉายในไทยด้วย เพราะการใช้คนสวมชุดเพื่อแสดงเป็นสิ่งต่างๆ ในลักษณะนี้เหมือนกับเกมซ่าท้ากึ๋นเอามากๆ จนอดไม่ได้ที่จะคิดว่า ผู้สร้างสรรค์การแสดงอาจได้แรงบันดาลใจมาจากเกมโชว์นี้นี่เอง (ดูตัวอย่างในคลิปด้านล่าง)

เกมซ่าท้ากึ๋น หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Kasou Taisho ออกอากาศครั้งแรกในคืนสิ้นปีเก่า พ.ศ.2522 ปัจจุบันยังมีการแสดงอยู่ปีละ 2 ครั้ง ลักษณะการแสดงแบบนี้กลายเป็น “ป็อปคัลเจอร์” ที่รู้จักกันในเอเชีย หลังจากหลายดินแดนซื้อลิขสิทธิ์ไปออกอากาศ นอกจากไทยแล้วยังมีการฉายในฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์

ถือเป็นการนำการแสดงที่ไม่ต้องใช้ “ภาษา” อธิบาย มาสะท้อนเรื่องของ Pictogram สัญลักษณ์เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติเข้าใจได้อย่างดีเยี่ยม!