BIDC 2021 แจก 19 รางวัล “ดิจิทัล คอนเทนต์” คนไทยสุดครีเอทีฟ ดันตลาดบูม 39,000 ล้าน

BIDC 2021 แจก 19 รางวัลผลงาน “ดิจิทัล คอนเทนต์” ยอดเยี่ยม ร่วมผลักดันอุตสาหกรรม เกมฝีมือคนไทย “Kingdoms Reborn” มาแรงกวาด 4 รางวัล ชี้ตลาดได้อานิสงส์ช่วง COVID-19 เติบโต 10-15% มูลค่าตลาดปี 2564 คาดสูงแตะ 39,000 ล้านบาท โชว์ฝีมือบนเวทีโลกมากขึ้น ผู้ประกอบการ-ศิลปินไทยผลิตงานทรัพย์สินทางปัญญาออกตลาดเพิ่ม

ภาครัฐร่วมภาคเอกชนจับมือกันจัดงาน Bangkok International Digital Content Festival 2021 หรือ BIDC 2021 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 และเป็นครั้งที่สองที่งานจัดในรูปแบบออนไลน์ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ (Webinar) เกี่ยวกับอุตสาหกรรม “ดิจิทัล คอนเทนต์” รวม 23 หัวข้อ พร้อมมอบรางวัล BIDC AWARDS 2021 ให้ผู้ประกอบการไทย (ดูรายชื่อผู้ชนะได้ด้านล่างบทความ)

รวมถึงงานนี้จะมีการจัดเจรจาธุรกิจอออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีการจับคู่มากกว่า 300 คู่ คิดเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท

อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์ของไทยนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย นายก สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า มูลค่าตลาดดิจิทัล คอนเทนต์ปี 2563 อยู่ที่ 34,200 ล้านบาท เติบโต 10.1% จากปีก่อนหน้า ส่วนปี 2564 เชื่อว่าจะยิ่งเติบโตสูงขึ้น โดยคาดว่าจะโต 15% ทำให้ปีนี้มีเม็ดเงินหมุนเวียน 39,000 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์ปี 2565 จะโตต่อเนื่องอีก 15% ขึ้นไปแตะ 45,000 ล้านบาท

สาเหตุการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ได้อานิสงส์จากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้คนยิ่งอยู่หน้าจอและใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น

ตารางงาน BIDC 2021 และหน่วยงานรัฐ-เอกชนที่ร่วมกันจัดงาน

“นพ ธรรมวานิช” นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กล่าวว่า แม้ว่าบางส่วนของอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มภาพยนตร์ ละครไทย ที่ไม่สามารถออกกองได้ในช่วงนี้ มีผลต่อเนื่องทำให้งานออกแบบ CG ชะลอลง แต่เนื่องจากผู้ประกอบการไทยรับงานจ้างผลิตให้กับต่างประเทศมาก ปัจจุบันคิดเป็น 40% ของงานในมือทั้งหมดแล้ว และเทรนด์ของอุตสาหกรรมนี้ทั่วโลกเติบโตปีละ 10% ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก

ขณะที่บางธุรกิจ COVID-19 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทีเดียว “เขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์” นายกสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) ระบุว่า ก่อนเกิดการระบาด อีเลิร์นนิงยังไม่เป็นที่สนใจในไทย แต่ตั้งแต่ปีก่อนอีเลิร์นนิงมีการเติบโต 20% ปีนี้คาดว่าจะโตอีก 25% เนื่องจากกลายมาเป็นบทบาทสำคัญของการเรียนตั้งแต่ในโรงเรียนจนถึงศูนย์ฝึกอาชีพ

 

คนไทยสร้างสรรค์สูง อนาคตเห็นงาน IP ไทยมากขึ้น

“กฤษณ์ ณ ลำเลียง” นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) มองว่าอุตสาหกรรมนี้แข็งแกร่ง เพราะคนไทยมีบุคลากรด้านครีเอทีฟที่แข็งแรง และมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นของภูมิภาคนี้ สอดคล้องกับนพจาก TACGA ที่ให้ข้อสังเกตว่างานที่ชนะรางวัล BIDC 2021 ปีนี้จำนวนมากไม่ใช่งานเฉพาะในไทยแต่อยู่ในระดับโลกแล้ว

นพยังชี้ทิศทางอนาคตว่าน่าจะได้เห็น งานทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของคนไทยมากขึ้น เช่น อนิเมชันคนไทย จะเห็นการลงฉายในระบบสตรีมมิงต่างประเทศเร็วๆ นี้

“เนนิน อนันต์บัญชาชัย” นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) กล่าวตรงกันว่า ทั้งภาครัฐและสมาคมมีความพยายามผลักดันให้คนไทยพัฒนาเกมที่เป็น IP ของเราเองมาโดยตลอด ซึ่งประสบผลสำเร็จในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะมีเกมน้ำดีฝีมือคนไทยชนะรางวัลระดับนานาชาติเฉลี่ยปีละ 1-3 เกม ยกตัวอย่างเกมที่โดดเด่นของปีนี้คือ Kingdoms Reborn เพิ่งเปิดลงสตีมแต่ทำรายได้ไปแล้วเกือบ 100 ล้านบาท

 

สำหรับการมอบรางวัล BIDC AWARDS 2021 ผู้ชนะมีทั้งหมด 19 รางวัลจาก 5 สาขา ดังนี้

สาขา Emerging Technology and Education (สนับสนุนโดยสมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ หรือ BASA)
  • Best Student’s Animation Technical Project Award : ผลงาน FAST WEIGHTS (ฟาส เวท) จาก อภิสิทธิ์ สมบุญใจ (ICT Silpakorn)
  • Best Student’s Animation Art & Design Project Award : ผลงาน Little Miss Dungjai (ลิตเติ้ล มิส ดั่งใจ) จาก พริ้ม สุรพักตร์ภิญโญ และ ปัทมา หอมรอด
  • Best Student’s Game Project Award : ผลงาน PARASITE จาก กันภัย รูปทอง (ICT Silpakorn)
สาขา Character (สนับสนุนโดยสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย หรือ DCAT)
  • Character of the Year Award : ผลงาน Warbie Yama (วอร์บี้ ยามะ) จาก บริษัท อาร์วามะ จำกัด
  • Best Corporate Character of the Year Award (มาสคอตองค์กร) : ผลงาน ZONZON (ซนซน) จาก บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด
  • Most Popular Character in Social Media Award : ผลงาน Bear Please หรือ หมีขอ จาก คมสัน ฟักสกุล
Warbie Yama ผลงานชนะรางวัล Character of the Year
สาขา e-Learning (สนับสนุนโดยสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย หรือ e-LAT)
  • e-Learning for School Award : AR Education เทคนิคและอาชีวะ จาก บริษัท อินฟินิตี้ เดฟ จำกัด
  • Virtual Class Room Platform Innovation Award : ผลงาน ห้องเรียนอาชีพออนไลน์ จาก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

(มี 3 รางวัลที่ไม่มีผู้เข้ารอบสุดท้าย คือ Reality Media for Special Education Award, AI Innovation For Learning Award และ Innovation Online for Learning for Seniors Award)

สาขา Animation and Visual Effect (สนับสนุนโดยสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย หรือ TACGA)
  • Best VFX In TV Commercial Award : ผลงาน BTS Past & Present (บีทีเอส พาส แอนด์ พรีเซ้นท์) จาก บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่

  • Best VFX in Motion Picture Award : ผลงาน The Yin Yang Master’s (เดอะ หยิน หยาง มาสเตอร์) จาก บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด
  • Best VFX in Thai Drama Award : ผลงาน ภาพยนตร์ซีรี่ส์ “อินจัน” จำนวน 13 ตอน จาก บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น สตูดิโอ จำกัด
  • Best Animated Short Award : ผลงาน A Town Where We Live จาก บริษัท อิ๊กกลู สตูดิโอ จำกัด
  • Best Motion Design Award : ผลงาน Okinawa Symphony จาก บริษัท ดีไซนด์ คิท จำกัด
  • Best Animated Content Award : ผลงาน หนุมานนักรบมนตรา จาก Riff Studio (ริฟ สตูดิโอ)

สาขา Game & Interactive (สนับสนุนโดยสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย หรือ TGA)
  • Game of the Year Award : ผลงาน Kingdoms Reborn จาก บริษัท เอิร์ธไชน์ จำกัด
  • Best of Game Design Award : ผลงาน Kingdoms Reborn จาก บริษัท เอิร์ธไชน์ จำกัด
  • Best of Visual Art Award : ผลงาน Dash Dash World จาก บริษัท โมชั่นเอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด
  • Best of Sound Award : ผลงาน Kingdoms Reborn จาก บริษัท เอิร์ธไชน์ จำกัด
  • Developer Choice Award : ผลงาน Kingdoms Reborn จาก บริษัท เอิร์ธไชน์ จำกัด

(มี 1 รางวัลที่ไม่มีผู้เข้ารอบสุดท้ายคือ Best of Storytelling Award)