วงการคอนเทนต์สะเทือน! Google ปรับอัลกอริธึมครั้งใหญ่ ดักจับ “บทความ SEO” ไร้ประโยชน์

คอนเทนต์ บทความ SEO Google
Google กำลังจะปรับเปลี่ยนอัลกอริธึมครั้งสำคัญในการจัดอันดับเว็บไซต์เมื่อค้นคำในเสิร์ชเอ็นจิ้น โดยจะเริ่มหักคะแนน “บทความ SEO” ที่ไร้ประโยชน์จริงต่อมนุษย์ผู้อ่าน เพราะเป็นคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นเพื่อเพิ่มคะแนนในระบบ SEO เท่านั้น เริ่ม 4 วงการแรกที่จะนำร่องก่อนในสัปดาห์หน้า

Google จะมีการปล่อยอัปเดตอัลกอริธึมครั้งสำคัญในชื่อ The Helpful Content Update ตั้งเป้าหมายตรวจสอบและตัดคะแนนเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่ไร้ประโยชน์หรือไม่น่าพึงพอใจสำหรับมนุษย์ เพราะเป็นคอนเทนต์ที่สร้างมาให้ตรงกับความต้องการของบอทเก็บคะแนนจากเสิร์ชเอ็นจิ้นเท่านั้น

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา วงการคนทำคอนเทนต์จะมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่าการผลิต “บทความ SEO” ป้อนเข้าไปในเว็บไซต์ บทความเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับคนอ่านจริงเท่าไหร่นัก แต่เป็นการอัด “คีย์เวิร์ด” และวิธีเขียนให้ตรงตามที่บอทเก็บคะแนนของเสิร์ชเอ็นจิ้นต้องการ เพราะเมื่อเว็บไซต์นั้นๆ มีบทความที่ได้คะแนนจากบอทสูงหลายบทความ เว็บไซต์จะได้รับการจัดอันดับสูง อยู่ในหน้าแรกของการเสิร์ชบน Google ทำให้การทำบทความ SEO ได้รับความนิยม

ดังนั้น ถ้าหาก Google มีการปรับอัลกอริธึมได้จริง สามารถตรวจสอบแยกแยะได้ว่าบทความไหนทำมาเพื่อให้บอทอ่าน ไม่ได้ให้มนุษย์อ่าน นับได้ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการผลิตคอนเทนต์บนเว็บไซต์อีกครั้งหนึ่ง

Google แจ้งว่าที่ต้องปรับเปลี่ยนอัลกอริธึมในครั้งนี้ เพราะต้องการจะช่วยให้ผู้ใช้งานหรือคนที่เสิร์ชหาข้อมูลได้รับ “คอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูง” ทางแพลตฟอร์มต้องการให้รางวัลกับคอนเทนต์ที่มีประโยชน์กับมนุษย์

ขณะที่บทความ SEO ที่ทำมาให้บอทอ่านมากกว่ามนุษย์อ่าน ระยะหลังก็เริ่มจะถูกวิจารณ์จากผู้ใช้ เพราะเมื่อเสิร์ชคำค้นใดๆ ไปก็มักจะคลิกไปเจอบทความที่น่าหงุดหงิดใจเหล่านี้

อัลกอริธึมใหม่ของ Google จึงพยายามจะตัดคะแนนเว็บไซต์จำพวกนี้ และช่วยสนับสนุนเว็บไซต์ที่มีประโยชน์จริงมากขึ้น “นี่เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะลดคอนเทนต์คุณภาพต่ำ และทำให้การค้นหาคอนเทนต์ที่มีประโยชน์และเป็นต้นฉบับแท้จริงทำได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ใช้เสิร์ชเอ็นจิ้น” Google แถลง

 

คอนเทนต์แบบไหนที่จะโดนตัดคะแนน

อัลกอริธึมใหม่นี้ยังไม่แจ้งชัดเจนว่าลักษณะเฉพาะแบบไหนที่จะทำให้ถูกมองว่าเป็นบทความ SEO เพื่อตอบสนองบอทมากกว่ามนุษย์ แต่ Google มีการให้ตัวอย่างเหมือนกันว่า บทความแบบไหนที่ถ้าตรวจเจอจะถูกหักคะแนนแน่นอน

ตัวอย่าง: ถ้าคุณเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่เรื่องหนึ่ง คุณน่าจะเคยคลิกไปเจอบทความที่เป็นเพียงการรวบรวมรีวิวจากเว็บไซต์อื่นๆ มาอีกทีหนึ่ง โดยไม่มีการวิเคราะห์หรือเพิ่มมุมมองของตนเข้าไปใหม่เลย บทความแบบนี้จะถือว่าไม่มีประโยชน์ เพราะคนเสิร์ชก็หวังว่าจะได้อ่านอะไรใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่ออัปเดตอัลกอริธึมนี้แล้ว ผู้เสิร์ชก็จะได้เห็นข้อมูลที่เป็นต้นฉบับ มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ถูกดันขึ้นมาในอันดับที่สูงขึ้น ผู้เสิร์ชจะมีโอกาสได้เห็นข้อมูลใหม่ๆ มากขึ้น

ส่วนวงการคอนเทนต์ที่จะเริ่มใช้อัลกอริธึมแบบใหม่ก่อนนี้จะมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ

  • บทความที่เป็นการสอนออนไลน์
  • บทความด้านศิลปะและบันเทิง
  • บทความด้านการช้อปปิ้ง
  • บทความที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี

เหตุผลที่เป็นวงการเหล่านี้ก่อน เพราะถือเป็นวงการที่มีคอนเทนต์ที่ทำมาสำหรับเสิร์ชเอ็นจิ้นมากที่สุด และจากการวิเคราะห์ของ Google พบว่าการเปิดอัปเดตอัลกอริธึมในคอนเทนต์เหล่านี้ก่อนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับบทความการสอนออนไลน์ ไม่ได้หมายถึงการสอนหลักสูตรการเรียนอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่หมายถึงบทความใดๆ ที่เป็นการสอนบางสิ่งบางอย่าง

 

“บทความ SEO” จะลดคะแนนของทั้งเว็บไซต์

การอัปเดตครั้งนี้ยังไม่ได้มีผลเฉพาะตัวบทความชิ้นนั้นๆ ชิ้นเดียวด้วย แต่จะมีผลกับคะแนนของทั้งเว็บไซต์ ถ้า Google พบว่าเว็บไซต์ของคุณมีบทความไร้ประโยชน์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก ทั้งเว็บไซต์จะได้รับผลกระทบ

Google ไม่ได้บอกเกณฑ์อย่างชัดเจนว่า ถ้ามีสัดส่วนบทความขยะมากเท่าไหร่ต่อจำนวนบทความทั้งหมดถึงจะทำให้เว็บไซต์ถูกลดอันดับในการเสิร์ช แต่ที่บอกชัดๆ ก็คือ ถึงแม้ว่าเว็บไซต์ของคุณจะมีบางบทความที่ถือว่ามีประโยชน์ต่อคนอ่านอยู่ แต่ถ้ามีบทความขยะเป็นสัดส่วนที่มากอย่างมีนัยยะอยู่ด้วย ก็จะถูกลดอันดับแน่นอน

ทางป้องกันแก้ไขก็คือ เว็บไซต์ควรจะลบคอนเทนต์ที่ไร้ประโยชน์ออกแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะถูกลดอันดับ

Photo : Shutterstock

Google ยังแชร์เคล็ดลับในการทำ “คอนเทนต์เพื่อมนุษย์ผู้อ่าน” ด้วย ‘checklist’ เหล่านี้ ที่คนทำคอนเทนต์สามารถถามตัวเองก่อนจะปล่อยบทความอะไรออกมา ดังนี้

  • คุณมีกลุ่มผู้อ่านของเว็บไซต์หรือธุรกิจของคุณที่จะเล็งเห็นประโยชน์ในคอนเทนต์เหล่านี้ เมื่อคลิกตรงเข้ามาชมเว็บไซต์ของคุณหรือไม่?
  • คอนเทนต์ของคุณแสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความเชี่ยวชาญ เป็นข้อมูลปฐมภูมิ และมีความลึกในความรู้เหล่านั้นจริงหรือไม่? (ตัวอย่างเช่น ความเชี่ยวชาญที่มาจากการใช้สินค้าหรือบริการเหล่านั้นจริง หรือรีวิวจากไปเยี่ยมชมสถานที่เหล่านั้นมาจริง)
  • เว็บไซต์ของคุณมีจุดประสงค์หรือเรื่องราวที่ให้น้ำหนักเป็นพิเศษไหม?
  • หลังจากอ่านคอนเทนต์ของคุณแล้ว จะมีผู้อ่านคนใดไหมที่รู้สึกว่าตนเองได้อ่านมาเพียงพอแล้วเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ และทำให้ผู้อ่านบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ?
  • จะมีผู้อ่านคนใดไหมที่อ่านคอนเทนต์ของคุณแล้วรู้สึกได้รับประสบการณ์ที่พึงพอใจ?

 

เริ่มสัปดาห์หน้า บทความภาษาอังกฤษโดนก่อน

การอัปเดตใหม่เหล่านี้จะเริ่มต้นสัปดาห์หน้า และใช้เวลาราว 2 สัปดาห์จึงจะอัปเดตได้ครบถ้วนสมบูรณ์ จากนั้นต้องรอดูผลลัพธ์ต่อไปอีก 2-3 สัปดาห์ว่าอัลกอริธึมใหม่จะเห็นผลแค่ไหน

และแน่นอนว่า การอัปเดตจะเริ่มจากเว็บไซต์ภาษาอังกฤษทั่วโลกก่อน ส่วนการขยับไปปรับปรุงที่ภาษาอื่นๆ Google จะทยอยขยายไปในอนาคต

Source