เมือง ‘หางโจว’ ศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีน ที่ตั้งของบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง ‘อาลีบาบา’ ขึ้นครองเเชมป์เมืองที่มีศักยภาพเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในจีน
Economist Intelligence (EIU) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการจัดอันดับเมืองต่างๆ ในจีน ที่มีศักยภาพจะเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในช่วงอีกไปกี่ปีข้างหน้านี้
โดยเมืองที่ติดอันดับ 1 คือ ‘หางโจว’ (Hangzhou) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจีน ในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นบ้านเกิดเเละสำนักงานใหญ่ของ ‘กลุ่มอาลีบาบา’ อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก ตามมาด้วย
อันดับ 2 – เซินเจิ้น
อันดับ 3 – กว่างโจว
อันดับ 4 – เซี่ยงไฮ้
อันดับ 5 – จู่ไห่
อันดับ 6 – ปักกิ่ง
อันดับ 7 – ซูโจว
อันดับ 8 – เหอเฝย
อันดับ 9 – หนานจิง (นานกิง)
อันดับ 10 – หนิงโป
เห็นได้ชัดว่า 10 อันดับแรก เป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกและตอนใต้ของจีน ยกเว้นเมืองหลวงอย่าง ‘ปักกิ่ง’
EIU ระบุว่า เมืองต่างๆ ในมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และเจ้อเจียง ก็มีเเนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีเช่นกัน เเม้ไม่ติดใน 10 อันดับเเรก จากนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่มากขึ้นในช่วงปี 2021-2025
โดยแผนของรัฐบาลจีนในปี 2021-2025 จะมีการเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา มากกว่า 7% ในเเต่ละปี เเสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านเทคโนโลยี เเละลดการพึ่งพาความเชี่ยวชาญ know-how จากต่างชาติ
ส่วนเมืองหางโจว หนานจิง และซูโจว คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการหลั่งไหลมาของแรงงานทักษะสูง โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมเเละเทคโนโลยีเเห่งอนาคต
ด้านเมืองเล็กๆ อย่าง ‘จูไห่’ นั้นมีศักยภาพจะเติบโตได้กว่านี้อีกมา เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเมืองกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้น ทำให้ได้รับอานิสงส์ทางเศรษฐกิจเชิงบวก
นักเศรษฐศาสตร์บางคน เตือนว่า ความรุ่งเรืองของบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกและตอนใต้ของจีน อาจทำให้เกิด ‘ภาวะสมองไหล’ ในภาคเหนือแย่ลงไปอีก (ยกเว้นปักกิ่ง) และอาจทำให้ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจทางเหนือ–ใต้รุนแรงขึ้น
- ซีอีโอ ‘JD.COM’ ประกาศลงจากตำแหน่ง หลังเกิดการจัดระเบียบ Big Tech ในจีน
- จีนปฏิวัติวงการบันเทิง! แบนดารา ‘ไม่รักชาติ’ รวมถึงดาราชายที่ภาพลักษณ์ ‘ไม่สมชาย’
Yue Su นักเศรษฐศาสตร์ของ EIU กล่าวว่า ตามกลยุทธ์สร้างมหานครเเละกลุ่มเมืองอุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนที่กำลังคืบหน้า บริษัทต่างๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการขยายของเมืองต่างๆ ในวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วย
จีนวางแผนจะขยายเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองและในเมือง ระยะทางรวมกว่า 10,000 กิโลเมตร ช่วงปี 2021-2025 ในโซนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีทางตะวันออก, พื้นที่ Greater Bay Area ทางใต้ และภูมิภาคปักกิ่ง–เทียนจิน–เหอเป่ยทางตอนเหนือ โดยตั้งเป้าที่จะ ‘สร้างงานใหม่’ ในเมืองต่างๆ มากกว่า 50 ล้านตำแหน่งในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย