ตลาดพิซซ่า 2564 อาจติดลบกว่า 15% “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” อัดโปรฯ 1 แถม 1 ยื้อยอดขาย

“เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” เปิดสถานการณ์ตลาดพิซซ่าปี 2564 อาจติดลบมากกว่า 15% หลังผ่านล็อกดาวน์ยาว 2 เดือน กำลังซื้อผู้บริโภคซึม ‘คนละครึ่ง’ ดึงลูกค้าไปร้านรายย่อยแทน แม้เปิดนั่งทานในร้านได้แล้วแต่ยอดขายยังกลับมาไม่เต็มที่ ทำให้บริษัทต้องอัดโปรฯ “1 แถม 1” รอบพิเศษ ยื้อยอดขายหวังให้รายได้ไม่ตกลงไปจากปีก่อน

“พิซซ่า” เป็นอาหารที่ผู้บริโภคนิยมสั่งเดลิเวอรี่เป็นทุนเดิม แต่การสั่งปิดนั่งทานในร้านอาหารก็มีผลกระทบไม่น้อย โดย “ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ” ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดร้านพิซซ่าปี 2564 นี้คาดว่าจะติดลบมากกว่า 15% เทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าตลาด 15,000 ล้านบาทและยังคงเติบโตได้

สาเหตุมาจากการล็อกดาวน์ปิดนั่งทานในร้านที่นานกว่าเดิม เศรษฐกิจยิ่งซบเซาลง และคนตกงานจำนวนมากจนขาดกำลังซื้อ ทำให้ร้านพิซซ่ารายย่อยทยอยปิดตัวไป ปีนี้จึงนับได้ว่าวิกฤตยิ่งกว่าปีก่อน

ส่วนเดอะ พิซซ่า คอมปะนีเอง รายได้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ติดลบไปประมาณ 10-15% หนักที่สุดในช่วงปิดห้ามนั่งทานในร้าน แม้ว่ายอดขายฝั่งเดลิเวอรี่จะเติบโตขึ้นถึง 50-60% แต่ยังชดเชยยอดขายหน้าร้านที่หายไปไม่ได้ทั้งหมด

 

เปิดนั่งทานในร้าน แต่ลูกค้ายังซบเซา

หลังจากภาครัฐอนุญาตให้นั่งทานในร้านอาหารได้ ภาณุศักดิ์ระบุว่า ลูกค้ากลับเข้าร้านเดอะ พิซซ่า คอมปะนีเพียง 30% เทียบกับสถานการณ์ปกติ ทำให้เฉพาะเดือนกันยายนนี้รายได้รวมยังติดลบ 3-4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
สาเหตุคือ ถึงแม้ว่าจะเปิดศูนย์การค้าได้ เปิดร้านอาหารได้ แต่ยังมีผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ไม่กล้ากลับเข้าร้าน รวมถึงต้องยอมรับว่าร้านพิซซ่าอาจไม่ใช่เป้าหมายแรกเมื่อลูกค้ากลับมาทานในร้านได้

“ที่ผ่านมาเราเป็นอาหารแบบที่ส่งเดลิเวอรี่ได้ดี ทำให้เมื่อเปิดห้างได้แล้ว ลูกค้ามักจะมุ่งไปทานร้านที่ส่งเดลิเวอรี่ได้ยากก่อน เช่น บุฟเฟต์ ปิ้งย่าง ไอศกรีม ยกตัวอย่างร้านอาหารในเครือไมเนอร์คือ ซิซซ์เล่อร์ และ สเวนเซ่นส์ ยอดขายกลับมาดีมากทันที” ภาณุศักดิ์กล่าว

พิซซ่าหน้า “หน้าเบคอนเบรกแตก” และ “ขอบไส้กรอกชีสยักษ์พันเบคอน” เมนูใหม่ของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี

เดอะ พิซซ่า คอมปะนีเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ปกติยอดขายต่อบิลเมื่อทานในร้านมักจะสูงกว่าสั่งเดลิเวอรี่ประมาณ 20% ทำให้การดึงลูกค้ามาที่ร้านเป็นส่วนสำคัญ

ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายเดอะ พิซซ่า คอมปะนี แบ่งเป็นเดลิเวอรี่ 60% ซื้อกลับบ้าน 30% และทานในร้าน 10% จากช่วงก่อนเกิด COVID-19 ยอดขายจากทั้งสามส่วนนี้จะแบ่งเท่าๆ กันส่วนละ 33%

 

อัดโปรฯ 1 แถม 1 ยื้อยอดขายไม่ติดลบ

จากสถานการณ์กำลังซื้อหดตัว เดอะ พิซซ่า คอมปะนีจึงยิ่งต้องอัดโปรโมชันการตลาด โดยนำโปรฯ “1 แถม 1” ทุกหน้า ทุกขอบ ทุกสาขา ทุกวัน กลับมาเรียกลูกค้ากันใหม่ตั้งแต่วันนี้ยาวจนถึง 8 พฤศจิกายน 2564 จากปกติโปรฯ ดังกล่าวจะมีประจำเฉพาะเดือนมีนาคมของแต่ละปี ถือว่าเป็นการจัด 1 แถม 1 รอบพิเศษเฉพาะกิจ

นอกจากนี้ ยังจัดพร้อมๆ กับการออกพิซซ่าหน้าใหม่และขอบใหม่ คือ “หน้าเบคอนเบรกแตก” และ “ขอบไส้กรอกชีสยักษ์พันเบคอน” สามารถใช้โปรฯ 1 แถม 1 ได้เหมือนกัน เหมือนเป็นการอัดกิมมิกการตลาดแบบคูณสองพร้อมกัน เทหมดหน้าตักเพื่อดึงยอดขายด่วน

ภาณุศักดิ์ระบุว่า เป้าหมายรายได้ปีนี้ของเดอะ พิซซ่า คอมปะนีวางไว้ 7,000 ล้านบาท ซึ่งขอเพียงปั๊มรายได้กลับมาจน “ได้เท่ากับปีก่อน” ก็ถือว่าดีแล้ว เทียบกับสภาวะตลาดที่น่าจะติดลบดังกล่าว

 

วอนรัฐปลดล็อก ‘คนละครึ่ง’ ขยายเวลาเคอร์ฟิว

หนึ่งในปัจจัยของปีนี้ที่ทำให้รายใหญ่กระทบหนักคือโครงการ “คนละครึ่ง” ของภาครัฐ ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะรายย่อยสมัครใช้ หากเป็นร้านที่จดทะเบียนนิติบุคคลจะเข้าร่วมด้วยไม่ได้

“ช่วงที่มีคนละครึ่งคนหายเลยทันที ยอดตกเลย พฤติกรรมผู้บริโภคจะไปใช้จ่ายกับคนละครึ่งให้หมดก่อน แล้วถึงค่อยกลับมาที่ร้านเรา” ภาณุศักดิ์กล่าว “ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมจึงไม่ให้นิติบุคคลร่วม ทั้งที่เราก็จ่ายภาษีเข้ารัฐจำนวนมาก บริษัทยิ่งใหญ่ก็ยิ่งเจ็บหนักนะครับ” โดยเขาอยากขอให้ภาครัฐปลดล็อกให้นิติบุคคลสามารถร่วมคนละครึ่งด้วยได้

“ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ” ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

อีกประเด็นหนึ่งที่ขอส่งเสียงถึงภาครัฐคือ “เคอร์ฟิว” ปัจจุบันยังกำหนดเวลาที่ 21.00 น. ทำให้ร้านค้าร้านอาหารมักจะปิดเวลา 20.00 น. ส่วนนี้อยากขอให้รัฐขยายเวลาไปถึงเที่ยงคืน หรืออย่างน้อย 22.00 น. เพราะจะทำให้ร้านอาหารมีเวลาจำหน่ายเพิ่ม และสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่เลิกงานช่วงค่ำ หากต้องปิดร้าน 20.00 น. หลายคนอาจไม่สะดวกมาที่ร้าน

ภาณุศักดิ์ยังมองภาพระยะไกลหลัง COVID-19 คลี่คลายลง เชื่อว่าวิกฤตนี้จะทำให้พฤติกรรมบางอย่างของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตลอดกาล และธุรกิจร้านอาหารรวมถึงศูนย์การค้าจะต้องปรับตัวตาม

“เชื่อว่าการนั่งทานในร้านจะไม่กลับมา 100% เท่าเดิมอีกแล้ว เพราะคนเริ่มชินกับการสั่งอาหารไปทานที่บ้านหรือที่ทำงาน คนที่จะเข้าไปนั่งทานในร้านต้องมีบางอย่างที่ดึงดูดให้อยากไปจริงๆ ดังนั้น ร้านอาหารต้องปรับวิธีใหม่ เมื่อร้านมีทั้งที่นั่งและเดลิเวอรี่ในร้านเดียว หากตั้งอยู่ในศูนย์การค้า การไปอยู่ชั้นบนๆ ของห้างจะไม่สะดวก ร้านควรจะได้อยู่ชั้นล่างสุดเพื่อเดลิเวอรี่ได้รวดเร็ว” ภาณุศักดิ์กล่าวปิดท้าย