ถ้าเป็นตลาดแอร์ “มิตซูบิชิ” ขอนะ

บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด นอกจากจะมีชื่อที่สื่อถึงตำนานและรูปแบบการทำธุรกิจร่วมทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่ยังคงไว้ดังเดิม ยังเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยเน้นกิจกรรมการตลาดที่หวือหวา แต่ก็ไม่เคยขาดที่จะออกมาสรุปผลงาน และเปิดเผยแผนการตลาดตามวาระเป็นประจำทุกปี

แม้จะออกมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทุกหมวดสินค้า แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มิตซูบิชิ ถือว่ามีความโดดเด่น เป็นที่รู้จักนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ในฐานะผู้นำตลาด ก็คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นที่เชื่อถือของลูกค้าไทยมานานปี ด้วยชื่อเสียงความทนของคอมเพรสเซอร์และคุณสมบัติด้านการประยัดไฟ ซึ่งปี 2553 ที่ผ่านมา มิตซูบิชิ ก็สามารถกลับมาครองตำแหน่งผู้นำตลาดในกลุ่มเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กได้สำเร็จอีกครั้ง

“ปีนี้เราจะให้ความสำคัญกับตลาดเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ตั้งแต่ 24,000 บีทียูขึ้นไปมากขึ้น” อนันต์ บรรเจิดธรรม กรรมการและผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและการขาย กล่าวถึงเป้าหมายสั้นๆ ของมิตซูในปีนี้

เหตุผลเนื่องมาจากมิตซูบิชิเพิ่งลงทุนไปร่วม 1 พันล้านบาท เพื่อขยายฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดนี้ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ และเริ่มผลิตสินค้ารุ่นแรกแล้วเมื่อปลายปี 2553 ที่ผ่านมา

“การผลิตเองในไทย ทำให้เราสามารถปรับลดราคาเครื่องปรับอากาศขนาด 24,000 บีทียูลงได้ถึง 50% ถือเป็นการลดราคาขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจเครื่องปรับอากาศขนาดนี้มากขึ้น” อนันต์กล่าว

ล่าสุด มิตซูบิชิ เพิ่งออนแอร์ภาพยนตร์โฆษณาเครื่องปรับอากาศดังกล่าว ภายใต้คอนเซ็ปต์การนำเสนอเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน โดยจะใช้งบการตลาดสำหรับเครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ของมิตซูบิชิโดยรวมประมาณ 750 ล้านบาท ตลอดปี 2554 นี้ เพื่อสร้างแบรนด์มิตซูบิชิให้เป็นที่รู้จักกับผู้บริโภคในวงกว้าง

อนันต์บอกว่า สำหรับเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ตอนนี้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 10% จากตลาดรวมประมาณ 1 แสนเครื่อง แต่เป้าหมายจากนี้ 5 ปี บริษัทตั้งเป้าว่าจะต้องเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 30% เพื่อขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด

ขณะที่ตลาดรวมเครื่องปรับอากาศในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 1 ล้านเครื่องนั้น ปัจจุบันมิตซูบิชิมีส่วนแบ่งมาเป็นอับดับหนึ่ง 21% ตามมาด้วยพานาโซนิค 16% แอลจี 16% และอื่นๆ 47%

ทั้งนี้นอกจากแบรนด์ญี่ปุ่นด้วยกันและแบรนด์เกาหลี ซึ่งต่างพัฒนาสินค้าในกลุ่มอินเวอร์เตอร์ส่งเข้าตลาดเช่นเดียวกับมิตซูบิชิแล้ว เป้าหมายของมิตซูบิชิก็อาจจะไม่ง่ายเสียทีเดียวเมื่อในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีแบรนด์จากจีนที่เริ่มพัฒนาสินค้าโดยชูกรีนเทคโนโลยีและส่งสินค้าอินเวอร์เตอร์เข้ามาร่วมแจมด้วยตัวเลือกราคาที่ต่ำกว่าตามสไตล์

แต่สำหรับมิตซูบิชิ โรงงานที่เดินเครื่องแล้วเต็มร้อยก็คงไม่ต่างจากความมั่นใจที่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะชิงส่วนแบ่งตลาดเป้าหมายมาได้ตามแผนที่วางไว้

เครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์
โพสิชันนิ่ง เป็นกลุ่มเครื่องปรับอากาศที่โดดเด่นเรื่องคุณสมบัติประหยัดไฟ
สภาพตลาด GFK บริษัทวิจัยและรวบรวมข้อมูลด้านการตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า วิเคราะห์แนวโน้มตลาดเครื่องปรับอากาศในปี 2554 ไว้ว่า จะเติบโตสูงเนื่องจากมีการปรับลดราคาสินค้าลงประมาณ 10% ตามอัตราภาษีสรรพสามิตที่ปรับลดลง บวกกับการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียที่มีการเปิดตัวโครงการจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา และเซ็กเมนต์อินเวอร์เตอร์ คือกลุ่มที่ได้รับการพิจารณาสูง
ราคา กลุ่มอินเวอร์เตอร์ เป็นรุ่นที่มีราคาสูงกว่ารุ่นมาตรฐานประมาณ 15-20% และมีส่วนแบ่งในตลาดประมาณ 10% แต่มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของเครื่องปรับอากาศในกลุ่มนี้เพิ่มจาก 1.28 หมื่นเครื่องเป็น 3.6 หมื่นเครื่อง และคาดว่าจะมีอัตราเติบโตเพิ่มเป็นเท่าตัว หรือเพิ่มส่วนแบ่งของกลุ่มอินเวอเตอร์ในตลาดเครื่องปรับอากาศรวมเป็น 20% ในปีนี้
คู่แข่ง เครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ค่ายอื่นที่เปิดตัวและถือเป็นคู่แข่งของมิตซูบิชิในตลาด เช่น แอลจี รุ่น อินเวอร์เตอร์ 4d ซึ่งชูจุดขายความเงียลและประหยัดไฟ 60% พานาโซนิค ซึ่งมีจำนวนรุ่นที่เป็นอินเวอร์เตอร์มากกว่าครึ่งในกลุ่มสินค้าที่วางตลาดให้เลือกซื้อ เป็นต้น
รายได้ปี 2553 ของบริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด
ยอดขายรวม 8,100 ล้านบาท (+15% จากปี 2552)
เป้ายอดขายปี 2554 9,500 บ้านบาท (+17% จากปี 2553)
ส่วนแบ่งการตลาด เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน 21% ตู้เย็น 21% พัดลม 25% พัดลมระบายอากาศ 47% ปั๊มน้ำ 55%