ส่องบทบาท VISTEC มหาวิทยาลัยแนวหน้าแห่งวงการนวัตกรรมไทย ส่งนักวิทย์คว้ารางวัลระดับประเทศ


6 ปีหลัง “สถาบันวิทยสิริเมธี” หรือ VISTEC ก่อตั้งขึ้น จากการมุ่งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแนวหน้าของไทยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม วันนี้ผลงานของสถาบันฯ ผลิดอกออกผล “ศ.ดร.วินิช พรมอารักษ์” บุคลากรของสถาบันได้ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2564” ด้วยผลงานการคิดค้นเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) โดยสถาบันฯ ยังมีผลงานวิจัยอีกมากที่จะพลิกวงการวิทยาศาสตร์ไทย เช่น แบตเตอรีลิเธียมไอออน หุ่นยนต์ เศรษฐกิจหมุนเวียนจากขยะอินทรีย์

คำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยน้อยเกินไป” ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงเลย วัดได้จากข้อมูลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำวิจัยเทียบเท่าเต็มเวลาอยู่เพียง 20 คนต่อประชากร 10,000 คน และถ้าคิดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยต่อจีดีพีประเทศ จะคิดเป็นเพียง 1.11% เท่านั้น

จากความขาดแคลนนักวิจัยดังนี้ กลุ่ม ปตท. และผู้ร่วมสนับสนุน จึงจัดตั้ง “สถาบันวิทยสิริเมธี” หรือ VISTEC ขึ้นเมื่อปี 2558 ตั้งอยู่ในวังจันทร์ วัลเลย์ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนเฉพาะระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และสนับสนุนนักวิจัยเป็นรายโครงการ เรียกได้ว่าพุ่งเป้าไปที่การศึกษาขั้นสูงและการวิจัย ตรงจุดความต้องการของประเทศ


สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังหาสถานที่เรียนต่อหรือทำวิจัย VISTEC จึงเป็นหนึ่งสถาบันการศึกษาที่น่าสนใจ ที่นี่จะมี 4 สาขาวิชาให้เลือก คือ 1) สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE) 2) สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE) 3) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และ 4) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST) ซึ่งตามการคาดการณ์ของ OECD Megatrends ความรู้ทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ไบโอเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล จะเป็นวิทยาการสำคัญของโลก!


ตัวอย่างการวิจัยภายในสาขาต่างๆ ที่เปิดสอน

เป้าหมายระยะยาวของ VISTEC ต้องการเป็นผู้นำการสร้างองค์ความรู้และนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ ให้กับประเทศ มีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของไทย ทำให้งานของนักวิจัยจะถูกนำไปใช้กับภาคอุตสาหกรรมจริง เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาไปสู่การเป็นประเทศผู้พัฒนานวัตกรรมได้

ผลงานด้านวิชาการของ VISTEC ยังได้รับการยอมรับ โดย Nature Index เมื่อปี 2563 จัดอันดับให้สถาบันวิทยสิริเมธีเป็นอันดับ 1 ของไทยและอันดับ 3 ของอาเซียนในด้านสาขาเคมี เป็นอันดับ 2 ของไทยในภาพรวมทุกสาขาวิชา ปัจจุบัน พฤษภาคม 2564 เป็นอันดับหนึ่งของไทยในทุกสาขาวิชา และถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12 ของโลกในหมวดมหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี

ล่าสุด อีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า VISTEC ได้สนับสนุนสร้างผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ คือการที่คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประกาศให้ “ศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์” นักวิจัยวัสดุนาโน สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผู้คิดค้น “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” (New Solar Cell and Innovative Lighting Technology for Renewable Energy Transformation) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2564 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 400,000 บาท


“ศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์” นักวิจัยวัสดุนาโนสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)

ศ.ดร.วินิช อธิบายว่า “เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ยุคใหม่และนวัตกรรมไฟส่องสว่างอนาคตเพื่อการปฏิรูปพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน” เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์แบบใหม่ วัสดุกึ่งตัวนำอินทรีย์นี้เป็นสารประกอบของคาร์บอน นำมาออกแบบใหม่ในระดับโมเลกุลให้มีคุณสมบัติเปล่งแสงได้ดี ดูดกลืนแสงได้ดี หรือนำไฟฟ้าได้ดี เป้าหมายคือนำมาใช้แทนวัสดุกึ่งตัวนำซิลิคอนที่ใช้กันในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมวัสดุใหม่ที่นำไปใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอ OLED, เซลล์แสงอาทิตย์, วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ยืดหยุ่นพับงอได้ (แบบที่ใช้ในหน้าจอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ) การวิจัยครั้งนี้ต้องใช้ความรู้ทั้งด้านเคมี วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์


ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เยี่ยมชมบูธนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น

งานวิจัยของ ศ.ดร.วินิช ไม่ใช่หัวข้อเดียวที่เกิดขึ้นในสถาบันวิทยสิริเมธี ทั้งนักศึกษาและนักวิจัยใน VISTEC ต่างเลือกหัวข้อวิจัยที่จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ยกตัวอย่างหัวข้องานวิจัยปี 2564 ด้านพลังงานมีการวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้า” พัฒนาแบตเตอรีลิเธียมไอออนให้เก็บพลังงานได้มากขึ้น อายุใช้งานนานขึ้น ซึ่งสำคัญมากในยุคนี้ที่ความต้องการใช้แบตเตอรีเติบโตสูง หรือด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มีการวิจัย “ระบบอัจฉริยะของโครงกระดูกรยางค์ล่างภายนอก” สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวตัวช่วงล่าง

ด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะมี “โครงการขยะเพิ่มทรัพย์ C-ROS” เข้าเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นงานวิจัยที่รวมความรู้แบบสหวิทยาการ ต้องการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์ไบโอเทคได้แบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ประเทศไทยเราก็จะเป็น “สังคมไร้ขยะ” ได้จริง

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัล หุ่นยนต์ ไบโอเทค ฯลฯ คือความหวังการสร้างเศรษฐกิจ “New S-Curve” ในประเทศไทย และนักศึกษา-นักวิจัยใน VISTEC ทั้งที่จบการศึกษาแล้วหลายรุ่น รวมถึงที่ยังศึกษาอยู่กว่า 300 คนขณะนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการนวัตกรรมแห่งอนาคต!