Soft Power วัฒนธรรมเกาหลีเบ่งบานหลังกระแสสุดฮิตของ ‘Squid Game’ ล่าสุดแอปฯ สอนภาษา “Duolingo” มีผู้ใช้จากสหรัฐฯ และอังกฤษเข้าเรียน “ภาษาเกาหลี” พุ่งทะยาน
หลัง Squid Game ซีรีส์เกมเอาตัวรอดเพื่อชิงรางวัลมหาศาลเกิดกระแสฟีเวอร์ทั่วโลก ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีได้รับแสงสปอตไลท์จากโลกตะวันตกมากขึ้น ล่าสุดคือเรื่อง “ภาษาเกาหลี” ที่มีผู้สนใจเรียนสูงขึ้น
สำนักข่าว Reuters รายงานกระแสในสถาบันติวเตอร์ พบว่าผู้เรียนสนใจเรียนภาษาเกาหลีสูงขึ้นมาก “ตอกย้ำความคลั่งไคล้ไปทั่วโลกของวัฒนธรรมเกาหลี ตั้งแต่อุตสาหกรรมบันเทิงจนถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง”
แอปพลิเคชัน Duolingo ซึ่งเป็นแอปฯ ฝึกเรียนภาษาต่างๆ พบว่า มีผู้เรียนอเมริกันสนใจเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้นราว 40% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการเติบโตค่อนข้างจะราบเรียบ
ขณะที่ผู้เรียนชาวอังกฤษสนใจภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้นถึง 76% และแม้ว่าข้อมูลจะยังไม่เป็นทางการ แต่ Duolingo คาดว่าขณะนี้ภาษาเกาหลีเป็นภาษาอันดับ 2 ที่มีการเติบโตของผู้เรียนมากที่สุดรองจากภาษาฮินดี ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะแรงบันดาลใจจากซีรีส์ Squid Game
“ภาษาและวัฒนธรรมนั้นสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ และหลายครั้งที่เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในวัฒนธรรมป๊อปของโลกก็มักจะมีอิทธิพลต่อเทรนด์การเรียนภาษานั้นๆ ด้วย” แซม ดาลซีเมอร์ โฆษกของ Duolingo กล่าว
คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีนั้นไม่ใช่เรื่องชั่วครู่ชั่วคราวอีกต่อไปแล้ว วัดได้จากกระแสสัปดาห์นี้ พจนานุกรม Oxford English Dictionary เพิ่งจะเพิ่มคำทับศัพท์จากภาษาเกาหลีลงในสารบบถึง 26 คำ เช่น คำว่า “hallyu” (ฮัลลิว) ซึ่งในที่นี้แปลว่า คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี และมักจะใช้ในนิยามถึงความสำเร็จของป๊อปคัลเจอร์ของเกาหลีที่นิยมไปทั่วโลก
ซุนฮยอนวู ผู้ก่อตั้ง Talk To Me แพลตฟอร์มอี-เลิร์นนิ่งด้านภาษาเกาหลี บอกกับ Reuters ว่า ตอนนี้เขามีลิสต์ผู้เรียนที่รอต่อคิวอยู่อีกหลายพันคน ผลมาจากกระแส Squid Game ที่ยังฮิตไม่ขาดสาย และเขามองว่าปัจจุบัน “การเรียนภาษาเกาหลีกลายเป็นกิจกรรม ‘คูลๆ’ ไปแล้วเมื่อเทียบกับในอดีต”