สรุปการปรับ “นโยบายทางสังคม” ของ “จีน” ปี 2021 พลิกโฉมใหม่วิถีชีวิตคนในประเทศ

(Photo : Shutterstock)
ปี 2021 เป็นปีที่ “จีน” ออกกฎใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมวิถีชีวิตบางอย่างในสังคม ตั้งแต่การเรียน เล่นเกม การทำงาน จนถึงระบบ ‘แฟนคลับ’ ศิลปินดารา ถึงแม้ว่าการตัดสินใจหลายอย่างจะส่งผลลบต่อธุรกิจที่กำลังเฟื่องฟูก็ตาม ไปดูกันว่า ปีนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมวัฒนธรรมใดบ้างที่ประเทศจีน

 

ทลายวงการ “กวดวิชา”

นับเป็น “ระเบิดนิวเคลียร์” ลงกลางวงการ “ธุรกิจกวดวิชา” ก็ว่าได้ เมื่อจีนออกนโยบายทลายธุรกิจกวดวิชา โดยเริ่มประกาศภาพกว้างในเดือนเมษายนและมีระเบียบอย่างละเอียดตามมาในเดือนกรกฎาคม

จุดประสงค์ของนโยบายนี้คือ สกัดไม่ให้นักเรียนต้องเรียนกวดวิชากันอย่างหนัก เพื่อลดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก รวมถึงลดภาระทางการเงินของผู้ปกครองด้วย

รายละเอียดยาวเหยียดของกฎใหม่ มีตั้งแต่การปรับให้บริษัทกวดวิชาทั้งหมดต้องจดทะเบียนใหม่เป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” เพื่อมิให้มีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และหลังจากนี้จะไม่อนุญาตให้จดทะเบียนบริษัทกวดวิชาเพิ่มอีกแล้ว

(Photo : Shutterstock)

รวมถึงต่อไปนี้โรงเรียนกวดวิชาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สอนเนื้อหาซ้ำกับในโรงเรียนหลัก ห้ามเปิดการเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงปิดเทอม หากเป็นการเรียนออนไลน์ต้องมีการพัก 10 นาทีทุกๆ 30 นาทีและห้ามเรียนเกิน 21.00 น. รวมถึงห้ามใช้บุคลากรผู้สอนที่มีฐานการสอนจากต่างประเทศด้วย

เห็นได้ว่ากฎเหล่านี้เป็นการปิดประตูตายโรงเรียนกวดวิชา ทางเลือกที่โรงเรียนเหล่านี้มีเหลือคือการปรับตัวไปสอนหลักสูตรนอกวิชาต่างๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ การแสดง วิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน ฯลฯ

ก่อนหน้านโยบายนี้จะถูกประกาศออกมา ธุรกิจกวดวิชาจีนเฟื่องฟูอย่างมาก โดยมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 แสนเหรียญสหรัฐ และหลายบริษัทกวดวิชาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นนิวยอร์ก นอกจากนี้ สมาคมการศึกษาแห่งประเทศจีน เคยให้ข้อมูลเมื่อปี 2016 ว่า 75% ของนักเรียนวัย 6-18 ปีเข้าเรียนกวดวิชาหลังโรงเรียนเลิก แม้ไม่มีสถิติที่ล่าสุดกว่านี้ให้ชม แต่คาดกันว่าสัดส่วนดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

 

ลดการบ้าน ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอื่น

นโยบายนี้เป็นแพ็กเกจเดียวกับการทลายวงการกวดวิชา คือมุ่งเป้าให้เด็กเครียดน้อยลง และไปทำอย่างอื่นนอกจากคร่ำเคร่งกับการเรียนในระบบ

(Photo : Shutterstock)

โดยกฎใหม่กำหนดให้โรงเรียนห้ามสั่งการบ้านเด็ก ป.1-ป.2 ส่วนเด็ก ป.3-ป.6 สามารถสั่งการบ้านที่ใช้เวลาทำไม่เกิน 60 นาที และเด็กม.1-ม.3 ให้สั่งการบ้านที่ใช้เวลาไม่เกิน 90 นาที

เมื่อไม่มีเรียนกวดวิชา การบ้านก็น้อยลง เด็กควรจะทำอะไร? รัฐบาลระบุว่าโรงเรียนและผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกาย (เช่น กีฬา ดนตรี) อ่านหนังสือนอกเวลา และจะได้เข้านอนตามเวลาอันสมควร

 

จำกัดเวลาเล่นเกมของเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี

เมื่อเดือนสิงหาคม 2021 เกิดนโยบายใหม่ในวงการเกมจีน เมื่อรัฐบาลออกกฎกำหนดให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมออนไลน์ได้ “ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” โดยให้เล่นได้เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.00-21.00 น. เท่านั้น

การกำกับควบคุมเรื่องนี้ เป็นเพราะจีนไม่ต้องการให้เยาวชนเป็น ‘เด็กติดเกม’ นั่นเอง โดยจีนมีความพยายามควบคุมมาตั้งแต่ปี 2019 ที่เริ่มออกกฎห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมเกินวันละ 90 นาที และห้ามเล่นเกมในเวลา 22.00-08.00 น.

นโยบายใหม่นี้มีผลกระทบบ้างต่อบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดของจีนอย่าง NetEase และ Tencent เพราะราคาหุ้นร่วงลงในวันที่นโยบายประกาศออกมา แต่หลังจากนั้นก็ดีดตัวกลับขึ้นไปใหม่

 

หยุดกระแส “แฟนด้อม” มอมเมาเยาวชน

อีกหนึ่งวงการที่รัฐบาลจีนเข้าไปสอดส่องและกำกับควบคุมคือวงการ “แฟนด้อม” โดยวงการนี้ถูกรัฐเพ่งเล็งมาพักใหญ่ จากพฤติกรรมแฟนคลับที่ “บริโภคนิยม” เกินควร และพฤติกรรมของดาราศิลปินบางคนไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีสำหรับเยาวชนและไม่ตรงค่านิยมที่จีนต้องการ

แฟนด้อมจีนนั้นเป็นกลุ่มแฟนคลับที่มีพลังอย่างมาก iResearch Consulting Group เคยประเมินเมื่อปี 2020 ว่า เม็ดเงินที่เกี่ยวพันกับแฟนด้อมจีนมีมูลค่าถึง 4 ล้านล้านหยวน!

เหตุเพราะแฟนด้อมจีนนั้นมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยจะมีผู้จัดการกลุ่มแฟนคลับคอยจัดการแจกงานให้สมาชิกทำบนโซเชียลมีเดีย เช่น ไลก์ คอมเมนต์ แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับดาราศิลปิน กลุ่มแฟนคลับจะคอยติดตามดาราไปทุกที่ ซื้อสินค้าที่ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ และปั่นโหวตในทุกชาร์ต แม้ว่าจะต้องทุ่มทั้งเงินและเวลาไปมากก็ตาม

ในที่สุดรัฐบาลจีนตัดสินใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้ “เป็นพิษ” มอมเมาเยาวชน จึงออกกฎห้ามหลายประการ เช่น ห้ามแพลตฟอร์มต่างๆ จัดชาร์ตอันดับดาราศิลปินทุกรูปแบบ ซึ่งทำให้รายการประเภทประกวดไอดอลหรือนักร้องเหมือนกับถูกห้ามผลิตไปโดยปริยาย เพราะรายการเหล่านี้ย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดอันดับตัวบุคคล

นอกจากนี้ ยังห้ามเยาวชนเป็นสมาชิกกลุ่มแฟนคลับ และห้ามเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อส่งเสริมคนดัง รัฐบาลยังมีระบบสอดส่องและลบคอนเทนต์ที่ถือว่าเป็น “วัฒนธรรมอันเป็นพิษของกลุ่มแฟนคลับ” ด้วย เช่น การโต้ตอบหรือ ‘ตีกัน’ ระหว่างแฟนคลับต่างกลุ่มกัน

ในแง่ของพฤติกรรมคนดัง จากกฎที่ค่อนข้างเข้มอยู่แล้วของรัฐบาลจีน จีนยังเพิ่มกฎใหม่เข้าไปอีกคือ “ห้ามไอดอลชายในประเทศจีนแสดงออกถึงความหวานแบบหญิงสาว” เพราะถือว่าเป็นการทำลายค่านิยมความเป็นชายที่เข้มแข็งของจีน และเป็นการลอกเลียนค่านิยมแบบเกาหลีใต้

 

ห้ามการทำงานแบบ ‘996’

ตัดมาที่โลกของ ‘ผู้ใหญ่’ บ้าง รัฐบาลจีนมีการปรับสังคมครั้งใหญ่เหมือนกัน โดยเมื่อเดือนกันยายนรัฐบาลมีประกาศว่าวัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘996’ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

การทำงานแบบ 996 ของจีน คือการเริ่มงาน 9 โมงเช้า เลิก 3 ทุ่ม และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ นั่นหมายถึงการทำงาน 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหลายๆ บริษัทไม่มีการให้ค่าโอที ทั้งที่กฎหมายแรงงานจีนกำหนดไว้ว่า อนุญาตให้บริษัทกำหนดเวลางานไว้ไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้พนักงานต้องยินยอมทำงานโอทีและต้องได้รับค่าโอที

ที่ผ่านมาการทำงานแบบ 996 เคยถูกยกย่องว่าเป็นวิถีที่ทำให้จีนสร้างชาติสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ ทุกคนทุกตำแหน่งตั้งแต่โปรแกรมเมอร์หัวกะทิในบริษัทเทคชื่อดังจนถึงพนักงานเดลิเวอรีต่างเผชิญการทำงานแบบ 996 ทั้งนั้น

แต่ไม่กี่ปีมานี้ ข่าวคราวพนักงานทำงานจนเสียชีวิตในหน้าที่เพราะไม่ได้หลับได้นอน หรือพนักงานฆ่าตัวตายเพราะชีวิตการทำงานเริ่มหนาหูขึ้น ความขุ่นเคืองในสังคมสูงขึ้นจนรัฐบาลต้องหันมาบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังร่างรายละเอียดการบังคับใช้กฎเพื่อให้ระบบ 996 หมดไปจากสังคม ต้องจับตาดูว่าจีนจะจัดการอย่างไรบ้าง

 

อนาคตสังคมจีนและวิถีชีวิตของคนจีนน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภาพลักษณ์ของนักเรียนและคนทำงานชาวจีนที่คร่ำเคร่ง เรียนหนัก ทำงานหนัก แข่งขันสูง อาจจะผ่อนความรุนแรงลง ส่งเสริมให้คนจีนมีแนวโน้มสร้างครอบครัวและ “มีลูก” มากขึ้น หลังจากจีนปลดล็อกให้ประชาชนมีลูกได้ถึง 3 คนแล้ว แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไหร่เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาและต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ดังนั้น นโยบายเหล่านี้จึงสำคัญต่อการสร้างสังคมจีนที่จะยังมีเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ มาสร้างชาติ และต้องโตมาอย่างมีคุณภาพด้วย!