Halo Effect จากไอโฟน บีบี ถึง Mainstream

ตลาดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มบริการ Non-voice เป็นบริการนอกเหนือจากการโทร คือการใช้อินเทอร์เน็ต อีเมล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ส่งข้อความที่ไม่ใช่แค่ SMS แต่คือการแชต ปัจจุบันแบ่งลูกค้าได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มระดับบน ที่ใช้สมาร์ทโฟนในราคาแพงกว่า 15,000 บาท เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อพร้อมจ่ายค่าบริการรายเดือนในระบบโพสต์เพด เฉลี่ยเกิน 600 บาทต่อเดือน กลุ่มนี้ถูกกระตุ้นความต้องการใช้บริการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จากปรากฏการณ์ของไอโฟน ในการใช้งานมัลติมีเดีย และแบล็คเบอร์รี่ หรือบีบีจากการใช้อีเมล และแชตผ่านเครือข่ายบีบีเอ็ม ทั้งที่เป็นเครื่องหิ้ว และเครื่องที่ค่ายมือถือจำหน่ายพร้อมแพ็กเกจเอง

ตลาดบนนี้ยังถูกขับเคลื่อนจาก Market Structure คือผู้ให้บริการ ทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ที่สร้างจุดแข็งและความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างทำให้ทั้ง 3 มีที่ยืนในตลาด มี Product Differenceตอบสนองลูกค้าที่มีความต้องการหลากหลายได้ ซึ่งกลุ่มตลาดบนนี้ต้องยกเครดิตให้เอไอเอสที่สามารถกวาดตลาด Non-voice ประเภทแชต และอีเมลได้ด้วย ”บีบี” ส่วนทรูมูฟปักธงในตลาดนี้ได้ด้วย ”ไอโฟน” ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรายแรกในไทย และเสริมทัพด้วยแอพพลิเคชั่นไทยๆ ส่วนดีแทคยังตามทั้งทรูมูฟและเอไอเอส ขายได้ด้วยแบรนด์ และราคา

กระแสไอโฟนและบีบีแรงจนทำให้ยอดการใช้ Non-voice สูงขึ้น แม้ค่าบริการและราคาเครื่องจะสูงแต่ผู้บริโภคพร้อมจ่าย เพื่อรับกับไลฟ์สไตล์ใหม่ที่มือถือไม่ใช่แค่ไว้โทร แต่คือการคีย์แป้นพิมพ์ และทัชเพื่อสื่อสารไร้เสียง จนกลายเป็น Halo Effect ไปยังสมาร์ทโฟนอื่นที่ราคาถูกกว่าขายได้ และไลฟ์สไตล์นี้ได้ขยายมายัง Mainstream ในที่สุด

Non-voice สำหรับกลุ่ม Mainstream เป็นกลุ่มที่กำลังเติบโต ด้วยพฤติกรรม ”แชต” หลังจากกลุ่มบนจุดประกายให้กลุ่มระดับกลางถึงล่างสนใจ ”สมาร์ทโฟน” จากไอโฟน แบล็คเบอร์รี่ หรือบีบีมาที่ ”สมาร์ทโฟน” ต่ำกว่า 5 พันบาทภายใน 2 ปี “ถูกและหลากหลาย” จึงได้ใจกลุ่ม Mainstream

นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายที่ส่งสัญญาณได้เร็วขึ้น ทั้ง GPRS EDGE Wi-Fi และ 3G พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายถูกขับเคลื่อนเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต และเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้คนอยากพูดคุยกับเพื่อนผ่านอุปกรณ์มือถือ คอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นได้รับการพัฒนาจนน่าสนใจกว่าในอดีต

การทำตลาด Non-voice จึงขยับเข้าสู่ Mainstream ที่เป็นลูกค้าพรีเพดที่มีอยู่กว่า 90% ของลูกค้ามือถือ และเริ่มเข้มข้นตั้งแต่ปลายปี 2553 โดยมีผู้เล่นหลักคือเอไอเอส และดีแทค สำหรับทรูมูฟยังคงเน้นเอาดีทางด้านโพสต์เพด ยังไม่ลงมา Mainstream เต็มตัว เครดิตในตลาดนี้จึงเป็นของเอไอเอสที่ถือว่าออกตัวแรงและชัดด้วย ”แชต” ใช้กลยุทธ์โปรโมชั่นเพื่อเจาะพฤติกรรมลูกค้าเป็นหลัก เลิกการออกซิมใหม่และบ่อยๆ เหมือนเดิม ส่วน ”ดีแทค” ก็หาทางออกจนเจอ เจาะ Segmentation ด้วยซิมบีบี แชตไม่อั้นเหมือนกัน เน้นไปเลยที่ลูกค้าพรีเพด และบีบี เพราะดีแทคยังอยู่ในช่วงที่ต้องดึงลูกค้าเข้ามาในระบบให้มากที่สุด และซิมคือโปรดักส์ที่ดึงเข้ามาได้ง่ายที่สุด