เติมเซนส์คอนซูเมอร์โปรดักต์

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของโนเกียทั่วโลกค่อยๆ หายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่ในไทย โนเกียในไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ดึงคนจากแวดวงอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคมาเสริมทีมมากขึ้น ตั้งแต่ระดับบิ๊กสุดของโนเกียในไทย อย่าง ”ชูมิท คาร์พูร์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ที่แม้จะอยู่โนเกียมานาน แต่แบ็กกราวด์ของเขาคือคอนซูเมอร์โปรดักต์จากค่ายพีแอนด์จี และเวลานี้ทีมการตลาดของโนเกีย กำลังถูกเสริมทีมจากศิษย์เก่ายูนิลีเวอร์

ล่าสุดโนเกียได้ผู้บริหารดูแลทรัพยากรบุคคลจากยูนิลีเวอร์มาเสริมทีม จากเดิม HR ของโนเกียไทยเป็นผู้บริหารเดียวกับที่ดูโนเกียเวียดนามแต่เมื่อบุคลากรขององค์กรเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง ตามเกณฑ์แล้วจะมี HR ประจำของบริษัทท้องถิ่นนั้นเอง และโนเกียก็เลือกคนจากคอนซูเมอร์โปดักต์ ซึ่ง ”ชูมิท” บอกว่าแม้โนเกียจะเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี แต่การผสมผสานบุคลากรจากต่างอุตสาหกรรมนั้นเป็นผลดี และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ HR มาจากยูนิลีเวอร์ เพราะตัวเขาเองก็มาจากพีแอนด์จีเช่นกัน

“นนทวัน สินธวานนท์” หัวหน้าฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์ บอกว่า ในทีมการตลาดของโนเกียเอง ยังมีทีมที่มาจากยูนิลีเวอร์อีก 4-5 คน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่ายูนิลีเวอร์เหมือน School ของการตลาด ซึ่งมีความเข้าใจและเชี่ยวชาญเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างดี

ความต้องการเสริมเซนส์การตลาดของโนเกีย เริ่มมาจากบริษัทแม่โนเกีย ตั้งแต่ปลายปี 2010 โนเกียสำนักงานใหญ่ฟินแลนด์ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะใน Nokia Leadership Team Member เริ่มจากให้ซีอีโอคนเก่าออกพร้อมเงินตอบแทนอีกกว่า 100 ล้านบาท และจ้างซีอีโอใหม่คนแรกไม่ใช่ชาวฟินแลนด์ คือ Stephen Elop อดีต President Business Division ของไมโครซอฟท์ เขาเป็นชาวแคนาดา ที่รู้จักตลาดอเมริกาอย่างดี

ในวันที่ 1 มกราคม 2011 เพิ่งได้ Jerri DeVard ชาวอเมริกันมาเป็น Executive Vice President, Chief Marketing Officer ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตลาดและแบรนด์ ที่ทำตลาดอยู่ในอเมริกามานาน 25 ปี ตั้งแต่ เวอไรซอน คอมมิวนิเคชั่นส์ ซิตี้ กรุ๊ป เรฟลอน

อีกคนที่น่าสนใจคือ Jo Harlow เกิดที่เคนตัคกี้ สหรัฐอเมริกา แม้เธอจะร่วมงานกับโนเกียมาตั้งแต่ปี 2003 แต่เพิ่งอยู่ในทีมผู้นำของโนเกียเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 ดูแลผลิตภัณฑ์ Smart Device โดยก่อนที่เธอจะมาโนเกีย เธอมีประสบการณ์ทำตลาดให้กับรีบอคและพีแอนด์จี ส่วนในโนเกียเธอเคยดูแลตั้งแต่ซิมเบียน การตลาดรวมของมือถือโนเกีย

การมีผู้เชี่ยวชาญตลาดในอเมริกาอยู่ในทีมผู้บริหารระดับสูง คือสัญญาณที่โนเกียส่งให้รู้ว่าปรับตัวเพื่อบุกตลาดอเมริกา หลังจากที่ส่วนแบ่งในอเมริกาหายไป โดยเฉพาะในตลาดสมาร์ทโฟน ส่วนโทรศัพท์มือถือธรรมดา ก็กลายเป็นแบรนด์แก่ คนรายได้น้อยใช้ และการมาของ Jerri DeVard มีการคาดการณ์กันว่าโนเกียจะใช้งบมีเดียในอเมริกามากขึ้นจากที่ไม่ถึง 5% ที่ใช้งบทั่วโลก 278.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2009