6 ทางรอด "โนเกียวินโดวส์โฟน"

ถ้าโนเกียไม่มีวินโดวส์โฟน 7 ของไมโครซอฟท์ ลมหายใจของโนเกียอาจค่อยๆ หมดลง แต่ถ้าไมโครซอฟท์ไม่มีโนเกีย ไมโครซอฟท์อาจช็อก หยุดหายใจเฉียบพลัน หายไปจากโลกสมาร์ทโฟน ภาวะนี้จึงทำให้เกิดดีลประวัติศาสตร์กลายเป็นความร่วมมือระหว่างยักษ์ใหญ่มือถือเบอร์ 1 ของโลกคือ ”โนเกีย” และบิ๊กซอฟต์แวร์อย่าง ”ไมโครซอฟท์” แต่ความร่วมมือนี้กลับไม่ได้สร้างความหวั่นกลัวให้กับคู่แข่ง เพราะภาพความรางเลือนของอนาคตทั้งสองชัดเจนที่ยังไม่รู้ว่าจะพากันไปรอดหรือพากันไปล่ม

แน่นอนว่าเสียงเชียร์ให้รอดนั้นดังกว่า เพราะในแง่ของผู้บริโภคแล้ว หากทั้งสองแบรนด์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับ ”โนเกียววินโดวส์โฟน” จนมีความต่างและตรงกับความต้องการ เกมธุรกิจ “สมาร์ทโฟน” ย่อมสนุกคึกคัก เป็นทางเลือกที่ 4 นอกเหนือจาก iOS ของไอโฟน RIM ของแบล็คเบอร์รี่และแอนดรอยด์ (ความจริงมีมากกว่านี้ แต่ยังอยู่ปลายแถว)

แต่โจทย์คือย่างที่รู้กันดีว่าไอโฟนเป็นผู้เปลี่ยนเกมในธุรกิจสมาร์ทโฟน
ทำไมไอโฟนถึงขาดดี เป็นสินค้าฮอต ทั้งที่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องคุณภาพ ทั้งเรื่อความอ่อนไหวต่อความชื้นที่ทำให้เครื่องพังได้ง่าย การรับสัญญาณที่อาจวืดแค่นิ้วมือบัง แต่เพราะความ Cool ในการทัชและแอพพลิเคชั่นที่ทำให้ใช้งานได้อย่างเพลิดเพลิน ยุคนี้เป็นยุคที่หลายคนบอกว่า Quality’ was out. ‘Cool’ was in.

มีเสียงคอมเมนต์กระหึ่มในโลกไอทีว่าความร่วมมือครั้งนี้ มีประโยชน์ที่เห็นชัดสำหรับทั้งสองแบรนด์คือ โนเกียได้ระบบปฏิบัติการใหม่ หรือ Operating System “วินโดวส์โฟน 7” ใหม่แทนที่ OS เดิมคือซิมเบียน ที่ดีหลายอย่างแต่ User Interface ยุ่งยาก ไม่เหมาะกับทัชสกรีน และมีเงื่อนไขมากสำหรับนักพัฒนา จนเริ่มเสื่อมถอย และผู้บริโภคเมิน ส่วนไมโครซอฟท์แม้จะถนัดพัฒนา OS แต่วินโดวส์โฟน 7 มาช้าเกินไป จนไม่มีฐานตลาดสมาร์ทโฟนมากพอ เมื่อได้โนเกียจึงเหมือนได้สปริงบอร์ดมาเพิ่มยอดผู้ใช้วินโดวส์โฟน 7 ทันที

แต่การร่วมมือกันไม่ได้จบแค่แถลงการณ์ร่วมกันเท่านั้น “มิเชล การ์เตนเบิร์ก” นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ บอกว่า ถ้าทั้งสองอยากรอด ต้องทำอีกอย่างน้อย 6 ข้อ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนโดดออกจากกองไฟลงน้ำแล้วเจอฝูงฉลามเท่านั้นเอง ซึ่ง 6 ข้อดังกล่าวคือ

  1. ต้องเร่งวางตลาดโนเกีย วินโดวส์โฟน 7 โดยด่วน
    จนบัดนี้ยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่าจะเห็นเมื่อไหร่ แม้โนเกียจะปล่อยต้นแบบออกมาแล้ว คำถามคือรางเลือนเกินไปไหมที่บอกว่าจะจำหน่ายในปีนี้ โดยเฉพาะนอกอเมริกาและยุโรป อย่างบ้านเราที่อาจเป็นปลายปี 2011 หรือต้นปี 2012 เพราะนับจากนาทีนี้ทั้งไอโฟนและแอนดรอยด์ กูเกิลเตรียมวางตลาดเครื่องใหม่ เร็วขึ้น ฟีเจอร์ดีกว่าเดิมกันทั้งนั้น
  2. แตกต่าง
    มาด่วนไม่พอ โนเกีย วินโดวส์โฟน 7 ต้องต่างจากวินโดวส์โฟนแบรนด์อื่นด้วย รวมไปถึงแอนดรอยด์ ส่วนไอโฟนของแอปเปิลนั้นไม่ต้องไปพาดพิงถึงเลย เขาต่างของเขาอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ไอโฟน 5 กำลังลือกระหน่ำว่าเข้าสู่ Mass และแอนดรอยด์กำลังเข้าสู่เกมเครื่องแรงอย่าง Dual-core รวมไปถึง Dual Screen แผนของโนเกียด้วยเครื่องหลากหลายรุ่นนั้นเพียงพอหรือเปล่า หรือควรมีเครื่องที่ดีไซน์เจ๋ง ส่วนวินโดวส์โฟนก็ต้องมี Killer Application ที่จุดพลุให้คนอยากใช้ให้ได้
  3. เตรียมDevelopers ให้พร้อมและเอาเขาให้อยู่
    สำหรับ Developers แล้วหลังจากข่าวความร่วมมือออกมา พวกเขารู้สึกว่าโลกของเขาถล่มทลาย และรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง เพราะอยู่กับโนเกียมานานถึง 15 ปี เคืองกันจนหลายคนบอกว่าไปหาแอนดรอยด์ดีกว่า โจทย์นี้คือโนเกียและไมโครซอฟท์จะเอานักพัฒนาให้อยู่ต่อไปได้อย่างไร
  4. โนเกียกับไมโครซอฟท์ต้องทำตลาดวินโดวส์โฟนทั้งตลาดบนและล่าง
    แต่โจทย์คือโนเกียจะดึงวินโดวส์โฟน ที่ต้องการสเป็กเครื่องสูงพอสมควรมาอยู่ในกลุ่มราคาถูกได้หรือไม่ภายใน 1-2 ปี ดังนั้นโนเกียต้องชัดกว่านี้ว่าจะเล่นตลาดล่างอย่างไร
  5. อย่าลืมพาร์ตเนอร์อื่นๆ
    แม้ว่าโนเกียต้องการความต่างในวินโดวส์โฟนสำหรับโนเกีย แต่ไมโครซอฟท์ก็ต้องไม่ลืมแบรนด์มือถืออื่นๆ ที่ใช้วินโดวส์โฟน 7 ด้วย ซึ่งไมโครซอฟท์วางสเป็กให้ผู้ผลิตมือถือสำหรับรันบนวินโดวส์โฟน 7 ไว้ว่าต้องมีหน่วยประมวลผลแบบ Snapdragon เครื่องมี 3 ปุ่มเท่านั้น จากเดิมมี 5 ปุ่ม แต่ถ้าไมโครซอฟท์รักโนเกียเป็นพิเศษ จนแบรนด์อื่นตีจากไปหาแอนดรอยด์กันหมด ก็เสี่ยงสูงสำหรับไมโครซอฟท์ ดังนั้นทางรอดเดียวของไมโครซอฟท์คือยอมปล่อย (วาง) ให้ผู้ผลิตเครื่องใส่ความพิเศษของตัวเองเข้าไป เพื่อให้วินโดวส์โฟน 7 ของตัวเองต่างจากแบรนด์อื่นบ้าง
  6. อย่าแตกกลุ่มมากจนเกินไป
    จากข้อ 5 การให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใส่ความพิเศษลงไปบ้าง จะทำให้เกิด OS ย่อยๆ ภายใต้วินโดวส์โฟน 7 ผลที่จะเกิดขึ้นคือแอพพลิเคชั่นบางตัวอาจใช้ไม่ได้กับทุกแบรนด์ ผลต่อมาคือไม่จูงใจ Developers เพราะพัฒนาออกมาแล้วขายได้น้อย เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับแอนดรอยด์มาร์เก็ต มาแล้ว
มูลค่าตลาดโทรศัพท์มือถือปี 2554 รวม 37,000 ล้านบาท
ฟีเจอร์โฟน 60%
สมาร์ทโฟน 40%
รูปแบบโทรศัพท์มือถือในปี 2554
โทรศัพท์พื้นฐาน 30%
QWERTY 20 %
Touch Screen 50%
ที่มา : GFK
ยอดขายสมาร์ทโฟนตลาดโลก ปี 2009-2010 (แบ่งตาม Operating System)
OS ปี 2010 ปี 2009
  จำนวนล้านเครื่อง %ส่วนแบ่งตลาด จำนวนล้านเครื่อง %ส่วนแบ่งตลาด
ซิมเบียน 111.57 37.6 80.87 46.9
แอนดรอยด์ 67.22 22.7 6.79 3.9
RIM (บีบี) 47.45 16.0 34.34 19.9
iOS (ไอโฟน) 46.59 15.7 24.88 14.4
ไมโครซอฟท์ 12.37 4.2 15.03 8.7
อื่นๆ 1.14 3.8 1.04 6.1
รวม 296.64 100 172.37 100.0
ที่มา : การ์ทเนอร์
ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในไทย (แบ่งตาม Operating System)
OS ปี 2009 ปี 2010 คาดการณ์ปี 2011
ซิมเบียน 68 44 35
แอนดรอยด์ 12 25
RIM (บีบี) 3 21 21
iOS (ไอโฟน) 12 12
อื่นๆ 29 11 7
ที่มา : GFK