“ละคร” ฮิตติดจอ ช่อง 7 กวาดเงิน ช่อง 3 ได้กล่อง

โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลัก และยังคงเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทุกบ้านต้องมี บ้านไหนมีรายได้ต่อครัวเรือนสูง ก็มีทีวีหลายเครื่อง เป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศมากที่สุด นี่คือโอกาสของธุรกิจคอนเทนต์ทางทีวี ที่มีการแข่งขันสูง Consumer Insinght ฉบับนี้มีผลสำรวจที่คอนเฟิร์มได้ว่าคนไทยกับรายการบันเทิงประเภทละครเป็นของคู่กันจากการวัดเรตติ้ง 10 อันดับแรกของรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดในปี 2553 และช่อง 7 กวาดผู้ชมไปได้มากที่สุด แม้ภาพรวมเฉลี่ยเรทติ้งช่อง 7 จะลดลง

และนี่คือเหตุผลที่ข้อมูลล่าสุดที่เนลสัน มีเดียเผยแพร่ พบว่าเม็ดเงินโฆษณามหาศาลยังคงอยู่ที่ช่อง 7 โดยเฉพาะทวงคืนตำแหน่งแชมป์จากช่อง 3 เมื่อยูนิลีเวอร์ที่เน้นสินค้ากลุ่ม Mass กลับมาซบอกช่อง 7 เหมือนเดิม

คนไทยยิ่งรวยยิ่งมีทีวีหลายเครื่องในบ้าน
รายได้ต่อครัวเรือน จำนวนเครื่องทีวีต่อครัวเรือน
ต่ำกว่า 5,000 บาท 1 เครื่อง
มากกว่า 25,000 บาท มากกว่า 2 เครื่อง
ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

เรตติ้งช่อง 3 ตีตื้น ช่อง 7 หาย

ค่าเฉลี่ยของเรตติ้งทุกรายการของแต่ละช่องในปี 2553 พบว่าช่อง 3 และทีวีไทย ได้เรตติ้งเพิ่ม โดยเฉพาะช่อง 3 จากความพยายามนำกระแสช่วยเหลือสังคมผ่านรายการข่าวในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติ และน้ำท่วม ขณะที่ทีวีไทยมีจุดแข็งเรื่องรายการข่าวและเนื้อหาสาระที่มีกลุ่มผู้ชมเฉพาะค่อยๆ มากขึ้น ส่วนช่อง 7 ช่อง 5 และช่อง 9 มีการปรับตัวด้านคอนเทนต์ไม่มากนักจึงถูกแย่งผู้ชมไปบางส่วน โดยเฉพาะช่อง 7 ที่แม้เรตติ้งรวมยังสูงกว่าทุกช่องแต่ก็ถือว่าลดลงมากเพื่อเทียบกับปี 2552

เรตติ้ง *
ปี ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 เอ็นบีที ทีวีไทย
ปี 2552 2.5 0.5 4.3 0.9 0.3 0.3
ปี 2553 2.6 0.7 3.6 0.8 0.3 0.5
*1 เรตติ้ง เฉลี่ยผู้ชมประมาณ 5-6 แสนคนต่อนาที

20 อันดับรายการทีวีที่มีเรตติ้งสูงสุด ปี 2553

สำหรับรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดของปี 2553 คือสถานการณ์ความไม่สงบในเดือนพฤษภาคม การยิงระเบิด M79 ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง สะท้อนถึงข่าวสารที่แสดงถึงความรุนแรงและขัดแย้งยังเป็นเรื่องที่ผู้ชมสนใจ แต่เมื่อเหตุกรณ์สงบละครช่อง 7ยังคงกวาดเรทติ้งได้สูงสุด จน 10 อันดับแรกเป็นของช่อง 7 ถึง 9 รายการ ละครซึ่งอยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ อัตราค่าโฆษณาสูงกว่า 4 แสนบาทต่อนาที จึงทำให้ช่อง 7 ได้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด

รายการ ช่อง เรตติ้ง
ข่าวด่วนเรื่องระเบิด M79 BTS ศาลาแดง 7 17.5
ละครคุณชายตำระเบิด 7 16.7
ละครสาวใช้ไฮเทค 7 16.6
ละครนักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว 7 16.4
ถ่ายทอดสดฟุตบอลเอเชียนคัพ (ไทย-จอร์แดน) 7 16.0
ละครพระจันทร์ลายพยัคฆ์ 7 15.6
เทพธิดาปลาร้า 3 15.0
ถ่ายทอดสดฟุตบอล FA ซูซูกิคัพ (อินโด-ไทย) 7 14.5
ข่าวด่วนความคืบหน้า M79 BTS ศาลาแดง 7 14.3
ละครแม่ศรีไพร 7 14.3

มูลค่าเม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาปี 2553

เม็ดเงินโฆษณาในปี 2553 มีมูลค่ารวม 101,032 ล้านบาท มากกว่าปี 2552 ที่มีมูลค่า 90,341 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.83% โดยทุกสื่อมีตัวเลขเติบโต ขณะที่วิทยุ และสื่อกลางแจ้ง ได้เม็ดเงินลดลง ทีวีกวาดไปมากกว่าครึ่ง ส่วนสื่อที่เติบโตสูงสุดคือสื่ออินสโตร์ ที่สะท้อนถึงแบรนด์และสินค้าต่างๆ ต้องการให้ ณ จุดขายเป็นจุดตัดสินใจมากที่สุด

สื่อ ปี 2553 ปี 2552 เปลี่ยนแปลง (%)
ทีวี 60,766 52,935 14.79
วิทยุ 6,114 6,168 – 0.88
หนังสือพิมพ์ 15,000 14,149 6.01
นิตยสาร 5,655 5,426 4.22
โรงหนัง 5,986 4,856 23.27
สื่อกลางแจ้ง 3,846 3,965 – 3.00
สื่อเคลื่อนที่ 2,254 1,764 27.78
สื่ออินสโตร์ 1,120 819 36.75
อินเทอร์เน็ต 290 259 11.97
รวม 101,032 90,341 11.83

ยูนิลีเวอร์ฟื้นแชมป์เม็ดเงินโฆษณาให้ช่อง 7

แม้เรตติ้งรวมของค่ายวิกพระราม 4 จะได้เพิ่มขึ้น แต่รายการเรตติ้งสูงสุดในไพรม์ไทม์ โดยเฉพาะละครเป็นของวิกหมอชิต ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาที่เกิดขึ้นในปี 2553 ช่อง 7 ยังคงครองแชมป์สูงสุด หลังจากที่ ”ยูนิลีเวอร์” กลับมาออนแอร์ที่ช่อง 7 โดยช่อง 7 ได้เม็ดเงินรวมทั้งหมดเกือบ 19,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2552 ที่ได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท ชิงกลับมาจากช่อง 3 ได้มาก โดยปี 2553 ช่อง 3 ได้ไปประมาณ 16,600 ล้านบาท

ส่วนแบ่งตลาดเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวี (ทำกราฟฟิควงกลม)
ช่อง ปี 2553 ปี 2552
ช่อง 3 27.3% 28.7%
ช่อง 5 17.6% 20.3%
ช่อง 7 31.2% 28.1%
ช่อง 9 20.2% 19.2%
เอ็นบีที 3.7% 3.7%

แบรนด์แมส สินค้าอุปโภคบริโภคแชมป์โฆษณา

10 อันดับแรกในด้านของแบรนด์และองค์กรที่ใช้งบสูงสุดของปี 2553 เป็นสินค้าที่มีลูกค้า Mass และเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรง โดยอันดับ 1-2 ในแง่ของบริษัทยังคงเป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค คือค่ายยูนิลีเวอร์ และพีแอนด์จี

ค่ายหรือบริษัทที่ใช้งบสูงสุด
อันดับ ปี 2553 ปี 2552
1.ยูนิลีเวอร์ 7,248 5,367
2.พีแอนด์จี 2,462 1,837
3.เนสท์เล่ 1,831 1,156
4.ไบเออร์สด๊อรฟ 1,774 1,602
5.โตโยต้า มอเตอร์ 1,696 1,089
6.ลอรีอัล 1,649 1,688
7.สำนักนายกรัฐมนตรี 1,347 1,034
8.อายิโนโมโต๊ะ เซลส์ 1,306 767
9.โคคาโคล่า 1,249 1,260
10.ดีแทค 1,181 997

ปี 2554 โฆษณาล้น

หลังจากที่ปี 2553 สถานการณ์เมืองลุ่ม ๆ ดอนๆ จนมีการอั้นการใช้เม็ดเงินโฆษณา ทำให้เกือบทุกช่องเร่งปรับผังรายการ ดึงคอนเทนต์ที่ดึงเรทติ้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะช่อง 3 และช่อง 7 ยังคงเป็นคู่เอกตลอดกาล ที่ขณะนี้ช่วงไพรม์ไทม์ของทั้งสองช่อง Slot โฆษณาไม่เต็มเอียดไปแล้วล่วงหน้า 9 เดือน

ทีวีเกือบทุกช่อง มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ช่อง 7 ยังคงเดินหน้าตัดเปอร์เซ็นต์ส่วนลด 15% โดยเฉพาะรายการข่าวและขึ้นค่าโฆษณาในรายการที่ทีเดียสตูดิโอผลิต ส่วนช่อง 3 ก็ขึ้นค่าโฆษณาไพรม์ไทม์จากนาทีละ 4.5 แสนเป็น 4.8 แสนบาท แต่ยังคงมีส่วนลด 15% ส่วนช่อง 9 ก็ขยับผัง และขึ้นอัตราค่าโฆษณา 10% หรือแม้แต่ช่อง 5 ก็ยังประกาศขึ้นเฉลี่ย 5-7% เฉพาะไพรม์ไทม์ขึ้นสูงถึง 20-25% ทั้งหมดนี้หากเป็นไปตามเป้าหมายเม็ดเงินโฆษณาในปี 2554 จะเติบโตอีกไม่ต่ำกว่า 10% อย่างแน่นอน