สัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์-เปิดประเทศ หนุน ‘ตลาดบัตรเครดิต’ ฟื้นตัวรับโค้งสุดท้ายของปี คนเริ่มใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยว จองโรงเเรมมากขึ้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าทั้งปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเตะ 2.85 แสนล้าน ลูกค้าใหม่ 3.5 แสนราย รุกปล่อยสินเชื่อออนไลน์จับกลุ่มฟรีเเลนซ์ เน้นใช้ดาต้าทำการตลาด พัฒนานวัตกรรม-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ดึงลูกค้า
ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่ตามปกติเเล้วจะมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงอื่นๆ โดยนโยบายคลายล็อกดาวน์เเละการเปิดประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกหมวด ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะดีขึ้นโดยเฉพาะหมวดช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ท่องเที่ยว และโรงแรม
ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ผ่าน ‘ดาต้า’
สำหรับ ‘ตลาดสินเชื่อ’ ในไตรมาสสุดท้ายนี้ ก็มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจคือ สถาบันการเงินทั้งหลายหันมาปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้ ‘ข้อมูลทางเลือก’ ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อกันมากขึ้น
สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 รวมทั้งต้องการความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ และช่วยตอบสนองความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ
ช้อปออนไลน์เเรงต่อเนื่อง คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยว
โดยธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้ง บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิต โลตัส วีซ่า มีผลประกอบการตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2564 เติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 199,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 54,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 128,000 ล้านบาท
หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+62%)
2.ประกันภัย (+15%)
3.ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%)
4.ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+7%)
5. ร้านสะดวกซื้อ (+6%)
หากพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรในเครือของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ พบว่า ยอดใช้จ่ายหมวดช้อปออนไลน์ เดลิเวอรี่ ประกันภัยออนไลน์ จะเติบโตสูง ขณะที่หมวดใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ของใช้ในบ้าน ยาและสุขภาพ ยังคงมียอดใช้จ่ายต่อเนื่อง
“ส่วนหมวดท่องเที่ยว เดินทาง และร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบในเชิงลบ เเต่จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์ในยอดใช้จ่ายโดยการจองตรงกับโรงแรมในบางจังหวัดท่องเที่ยว”
ฟีเจอร์ใหม่ดึงดูดลูกค้า
เมื่อผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีการปรับกลุยทธ์เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น พร้อมการนำเอานนวัตกรรมใหม่ ๆ มายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ
ทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาบริการใหม่ในแอปพลิเคชัน UCHOOSE อย่าง
- U Cash บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอป โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์
- UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอป
- UMall นำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าจากพันธมิตรของบริษัท
- การเปิดช่องทางบริการใหม่ทาง Krungsri Consumer Line OA และ Facebook
- การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัตร Krungsri NOW บัตรเครดิตสำหรับชีวิตดิจิทัลที่มอบเครดิตเงินคืน 5% สำหรับการใช้จ่ายออนไลน์
- บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียง พัฒนา AI มะนาว ที่ให้บริการลูกค้าไปเเล้วกว่า 3.2 ล้านสาย เเละบริการสอบถามข้อมูลบัญชีบัตรผ่านทาง FB Messenger
- บริการ ‘เเตะเพื่อจ่าย’ อำนวยความสะดวกในการใช้บัตร
อ่านเพิ่มเติม : เทรนด์ Virtual Card มาเเรง กรุงศรี ส่ง ‘บัตร NOW’ จับใจคนรุ่นใหม่ กระตุ้นใช้จ่ายด้วย ‘เเคชเเบ็ก’
ขยายต่ออาเซียน
กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังจะผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ปและพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด พร้อมกับหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และล่าสุดที่เวียดนาม “โดยจะมีการปรับเเผนผ่อนชำระเพิ่มเติม รุกธุรกิจคาร์ฟอร์เเคช สินเชื่อรถยนต์”
การดำเนินงานจะควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และการดูแลช่วยเหลือลูกค้าและพนักงานที่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ 7,000 ล้านบาท กว่า 1 แสนราย
“จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างๆ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาดว่าทั้งปี 2564 จะหนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท เติบโต 3% ยอดสินเชื่อใหม่ 76,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท”
- ‘โควิด’ ดันยอดใช้เน็ตคนไทยพุ่ง 10 ชม./วัน พร้อมเปิดใจใช้อีคอมเมิร์ซสูง 76.6%
- เจาะลึก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ปี 64 ที่ผู้ขายต้องรู้ เพื่อทำความเข้าใจ ‘ลูกค้า’ ให้มากกว่าลูกค้าเข้าใจตัวเอง