ความรู้สึกระหว่าง “แค่เหนื่อยๆ” เป็นบางช่วง กับอาการ “หมดไฟ” หรือ Burnout นั้น มีแค่เส้นบางๆ กั้นอยู่ แต่จะแยกออกได้อย่างไรว่าคุณกำลังหมดไฟกับการทำงานจริงๆ หรือแค่ต้องการการพักผ่อนสักหน่อยก็หาย
ถ้าคุณมีสัปดาห์อันเหนื่อยยากยาวนาน คุณคงรู้สึกเหนื่อยแทบขาดใจและรู้สึกเหมือนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ความรู้สึกนั้นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณต้องไปงีบสักหน่อยหรือพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์บ้าง แต่บางครั้งความรู้สึกดังกล่าวก็อาจจะเป็นสัญญาณของอาการ “หมดไฟ” ก็ได้
คุณจะแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันได้อย่างไร? “อาร์ต มาร์กแมน” ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการตลาดที่ University of Texas at Austin จะมาแนะนำการอ่าน สัญญาณ 4 อย่างที่จะทำให้แยกออกได้ว่าคุณแค่เหนื่อยหรือ Burnout จริงๆ โดยสัญญาณต่อไปนี้คือตัวแบ่งแยก ถ้าคุณอาการหนักขนาดนี้ คุณอาจต้องเริ่มปรึกษานักจิตวิทยา/จิตแพทย์เพื่อหาทางปรับสมดุลให้กับชีวิต
1.หมดแรงกระตุ้นในการทำงาน
สัญญาณแรกของอาการหมดไฟคือ คุณไม่มีแรงกระตุ้นในการทำงานให้เสร็จ ถ้าอาการหนักมากๆ คือคุณอาจจะไม่มีแรงกระตุ้นในการออกไปทำงานเสียด้วยซ้ำ คุณอาจถึงกับหวาดกลัวที่จะคิดถึงเรื่องงาน คุณพบว่าตัวเองทั้งเกลียดงานที่ตัวเองต้องทำ และเกลียดภารกิจขององค์กรที่คุณทำงานให้ คุณไม่อาจสร้างความกระตือรือร้นให้กับตัวเองได้เลย
2.หมดความสามารถที่จะ ‘ล้มแล้วลุก’ อีกครั้ง
สัญญาณต่อไปคือคุณหมดความสามารถที่จะ ‘ล้มแล้วลุก’ ความสามารถส่วนนี้หมายถึง เมื่อคุณเผชิญอุปสรรค หรือความผิดพลาดบางอย่างในการทำงาน คุณยังสามารถกลับมาสู้ต่อได้
แน่นอนว่าความผิดพลาด ข่าวร้าย หรือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมทำให้ทุกคนรู้สึกหดหู่ไปบ้าง แต่ถ้าคุณแค่เหนื่อย ความรู้สึกนี้จะดีขึ้นในเวลาต่อมา แต่ถ้าคุณรู้สึกหมดไฟ อุปสรรคที่เจออาจทำให้คุณรู้สึกโกรธหรือเศร้าได้เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน นั่นแปลว่าความสามารถที่จะปรับตัวของคุณต่ำลงแล้ว
3.ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวแย่ลง
ถ้าคุณหมดไฟ มีแนวโน้มที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานของคุณจะแย่ลง คุณพบว่ามันช่างยากเหลือเกินในการห้ามใจไม่ให้พูดจาไม่ดีใส่คนอื่น คุณปกปิดความรู้สึกเชิงลบไว้ไม่ได้ และอาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกโกรธเคือง ความรู้สึกไม่ดีที่คุณมีต่องานถูกระบายออกด้วยวิธีการเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นว่าทำให้สถานการณ์ของคุณในที่ทำงานยิ่งแย่ลงไปอีก
4.ตัดสินใจอะไรไม่ได้
Burnout ทำให้คุณตัดสินใจเกี่ยวกับการทำงานได้ยากลำบากมาก การตัดสินใจที่ดีเป็นเรื่องที่ยาก คุณจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนที่ต้องจ่ายกับประโยชน์ที่จะได้มา คุณต้องเลือกระหว่างตัวเลือกต่างๆ อย่างระมัดระวัง ตัวเลือกไหนที่มีน้ำหนักเหมาะสมมากกว่า ซึ่งอาการหมดไฟจะทำให้คุณไม่ค่อยมีสมาธิในการคำนวณชั่งน้ำหนักตัวเลือกเหล่านี้
ในการทำงานหลายอย่าง มักจะต้องใช้ ‘gut feeling’ หรือสัญชาตญาณเข้ามาช่วยตัดสินใจ เพราะข้อมูลบางอย่างที่มีคุณค่าไม่อาจระบุเป็นคำพูดลงไปในการคำนวณเลือกตัวเลือกได้ชัดเจน แต่กลับเป็นข้อมูลที่สำคัญในการเลือก อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณรู้สึกหมดไฟ ทุกอย่างรอบตัวจะดูแย่ไปหมด จนทำให้สัญชาตญาณไม่อาจช่วยอะไรคุณได้
ถ้ารู้สึก “หมดไฟ” จะทำอย่างไรดี?
หลายคนที่รู้สึก Burnout จะพบว่าอาการคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามาก ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกหมดไฟกับการทำงาน การไปพบนักจิตบำบัดสักหน่อยจะเป็นเรื่องที่คุ้มค่า ให้นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ประเมินว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
แม้ว่าคุณจะไม่ถึงกับมีภาวะซึมเศร้า แต่นักจิตบำบัดจะช่วยให้คุณค้นหาเหตุผลได้ว่าทำไมคุณจึงหมดไฟกับการทำงาน และหากลยุทธ์ช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น ทำให้คุณกลับมาลุกขึ้นยืนได้ใหม่
- ‘Burnout’ เป็นเหมือน ‘โรคติดต่อ’ ในออฟฟิศ อ่าน 5 ข้อแนะนำหยุดความคิด ‘หมดไฟ’
- “แอบงีบ” แก้ง่วงได้เจ๋งกว่าจิบกาแฟ! เคล็ดลับการเติมพลังทำงานยามบ่าย
สาเหตุหนึ่งที่แนะนำให้พบนักจิตวิทยา เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณ Burnout มีแนวโน้มสูงที่คุณจะหาทางแก้ด้วยการ “เปลี่ยนงาน” การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะช่วยคุณได้มาก แต่บางครั้งก็อาจจะมีปัจจัยอื่นที่คุณต้องพิจารณาร่วมด้วย
ปัจจัยที่ว่าก็เช่น ถ้าเกิดว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า การเปลี่ยนงานอย่างเดียวอาจจะไม่ช่วยอะไร หรือถ้าคุณแค่หมดไฟเฉยๆ แต่คุณก็อาจจะต้องการการฝึกฝนทักษะบางอย่างเพื่อจะรับมือกันงานใหม่ ตำแหน่งใหม่ บริษัทใหม่ด้วย
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาอาจช่วยให้คุณเห็นภาพได้ลึกขึ้นว่า คุณแค่ต้องการการเปลี่ยนงานไปองค์กรอื่นในอุตสาหกรรมเดิม ตำแหน่งงานเดิม หรือความรู้สึกแย่ของคุณอาจมีสาเหตุจากอะไรที่ทำให้คุณต้องเปลี่ยนไปทำงานวงการอื่นดีกว่า
ที่สำคัญ การรักษาใจให้ตรงจุดจะช่วยยกความเครียดออกจากความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย จากที่ผ่านมาคนรักหรือครอบครัวของคุณอาจต้องรับบทบาทหนักอึ้งมาตลอดเพราะพยายามจะช่วยให้คุณดีขึ้น นักจิตบำบัดจะมาช่วยรับภาระนี้แทน เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวต้องทรุดลงไปตามหน้าที่การงาน