แบรนด์หรู Chanel เลือกซีอีโอคนใหม่ ‘Leena Nair’ ข้ามห้วยจาก Unilever ยักษ์ใหญ่ FMCG

Chanel แต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ ‘Leena Nair’ ผู้บริหารหญิงชาวบริติช-อินเดียน ลูกหม้อประสบการณ์เกือบ 30 ปีของ Unilever แม้จะเป็นการข้ามห้วยอุตสาหกรรม แต่เทรนด์การเลือกผู้บริหารจากกลุ่ม FMCG กำลังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในวงการแบรนด์ลักชัวรี

Chanel บริษัทแบรนด์แฟชั่นสุดหรู ประกาศเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2021 ว่า บริษัทได้แต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ “Leena Nair” ขึ้นมานั่งตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2022

โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ตำแหน่งก่อนหน้านี้ของเธอเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Unilever และเธอทำงานกับบริษัทนี้มานานเกือบ 30 ปี เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงานในปี 1992

ปัจจุบัน Leena Nair มีอายุ 52 ปี เป็นชาวบริติช-อินเดียน และจบการศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก XLRI Jamshedpur ในอินเดีย (เป็นสถาบันเอกชนที่สอนด้านธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย)

ในวันที่เธอขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (CHRO) เธอถือเป็นผู้หญิงคนแรก เป็นชาวเอเชียคนแรก และเป็นผู้บริหารที่เด็กที่สุดที่เคยขึ้นสู่ตำแหน่ง CHRO โดยเธอมีหน้าที่บริหารบุคคลกว่า 150,000 คนของ Unilever ทั่วโลก ขณะที่การบริหาร Chanel จะเป็นบริษัทส่วนบุคคล มีพนักงานทั้งหมด 27,000 คนทั่วโลก

 

FMCG ข้ามห้วยสู่ลักชัวรีกันเพียบ

Luca Solca นักวิเคราะห์จากบริษัท Bernstein กล่าวว่า กระแสการดึงตัวผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจ FMCG มานั่งตำแหน่งในอุตสาหกรรมแบรนด์ลักชัวรีกำลังเกิดขึ้นในระยะหลัง และโดยส่วนใหญ่จะดึงจากยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever และ P&G นี่เอง

(Photo by Andrei KirillovTASS via Getty Images)

ไม่ว่าจะเป็น Antonio Belloni จาก P&G ที่ย้ายมาเป็นกรรมการผู้จัดการให้ LVMH, Frabizio Freda ก็ย้ายจาก P&G มาเป็นซีอีโอให้กับ Estee Lauder หรือถ้านับประวัติการทำงานทั้งหมด Pietro Beccari ซีอีโอและประธานกรรมการของ Dior ก็เคยทำงานกับ Benckiser อิตาลี และ Laurent Boillot ซึ่งเป็นประธานบริษัท Hennessy ก็เคยทำงานที่ Unilever มาก่อน

รวมถึง Leena Nair ที่จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ใช้ประสบการณ์จากอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาบริหารกลุ่มลักชัวรี และเป็นชาวอินเดียคนแรกๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมนี้ จากเดิมที่ชาวอินเดียมักจะได้รับการยอมรับในกลุ่มธุรกิจการเงิน เทคโนโลยี แต่ไม่ค่อยได้เห็นในพื้นที่แฟชั่นไฮเอนด์เท่าใดนัก

สำหรับรายได้ของ Chanel ในปี 2020 ทำรายได้ไป 10,100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการขายสินค้าหลากหลายหมวด ตั้งแต่กระเป๋าหนัง เสื้อผ้า เครื่องเพชร นาฬิกาข้อมือ น้ำหอม เครื่องสำอาง แว่นตา และอื่นๆ แต่รายได้ดังกล่าวลดลง 18% จากปีก่อนหน้า แต่ถือว่ายังดีกว่าทั้งวงการลักชัวรีที่ทำรายได้ลดลงเฉลี่ย 22% เนื่องจากโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ปี 2021 นี้บริษัทน่าจะกลับมาโตดับเบิลดิจิต หลังใช้กลยุทธ์ขึ้นราคากระเป๋าหรู ยังผลให้ลูกค้ารีบพุ่งไปซื้อมาเก็บไว้ก่อนราคาจะขึ้นไปมากกว่านี้

Source: Voguebusiness, India Today, Aljazeera