เทรนด์ร้อน กีตาร์จิ๋ว…แรงฮิตปั้นได้

ชื่อของ “อูคูเลเล่” กำลังกลายเป็นชื่อฮอตฮิตติดปาก แรงฮิตของกีตาร์จิ๋วเวลานี้ไม่ได้จำกัดแค่หมู่วัยรุ่น อินเทรนด์เท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายไปยังเด็กประถม คนวัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณ เทรนด์แรงระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์นี้ ถึงขั้นต้องเข้าคิวซื้อ ไม่ได้เกิดมาแบบบังเอิญ แต่มาจากแรงปั้นของ อัษฏา อาทรไผท อดีตไฟแนนซ์หนุ่ม ที่แกะคอร์ดความสำเร็จได้ลงตัว

ร้าน “อูคูเลเล่” ในห้องกระจกเล็กๆ ขนาดสองคูหาที่ชื่อ “ริบบี บูติก” (Ribbee Boutique) ร้านขาย “อูคูเลเล่” กีตาร์ตัวจิ๋วของ “อัษฏา อาทรไผท” ที่ตั้งอยู่ในดิจิตอล เกตเวย์ มีคนเดินเข้าออกอย่างไม่ขาดสาย ห้องหนึ่งเข้าไปเพราะ “อยากได้” อีกห้องหนึ่งเข้าไปเพราะ “อยากเรียน”

แม้สินค้าข้างในร้านจะขายหมดเกลี้ยงเหลือเพียงตัวโชว์ ร้านริบบีก็ยังมีคนกลุ้มรุมกันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงเย็น ไม่ว่าจะยืนเป็นกลุ่มอยู่หน้าร้าน หรือว่าผลัดกันจะดีดอูคูเลเล่ด้นเพลงสดๆ อยู่ตรงนั้น หากร้องกันถูกคอ ประสานคอร์ดถูกใจก็แอดเฟรนด์ แอดพิน ก่อนจากลา ทำให้เห็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นสมัยนี้ที่เชื่อมต่อกันได้รวดเร็วราวกับเสียบยูเอสบี

“เสาร์นี้ หากไม่ประสงค์จะต่อแถว ชาย มาในชุดมนุษย์กบเต็มตัว หญิง มาในชุดบิกีนี…” ป้ายเชิญชวนบนกระดาษ A4 ที่หน้าร้าน สื่อถึง U900 อูคูเลเล่รุ่นขาดตลาดที่ต้องต่อคิวซื้อและความบ้าบิ่นของอัษฎา

“ผมไม่ได้ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาเลย จริงๆ ถ้าทำอะไรที่ตรงกันข้ามกับที่เราเรียนมามันจะเวิร์คมาก” อัษฏา ผู้สร้างสังคมอูคูเลเล่รุ่นใหม่และดีลเลอร์อูคูเลเล่อย่างเป็นทางการเจ้าแรกในไทย แสดงตรรกะส่วนตัวที่ชวนให้ตะแคงหัวคิด

ริบบี : ร้านอูคูเลเล่ออกตัวแรง

ปี 2552 อัษฎาเริ่มต้นธุรกิจด้วยการต่อคอนเทนเนอร์ 3 ตู้เข้าด้วยกันที่หน้าบ้านของตัวเองเพื่อเปิดเป็นร้านจำหน่ายอูคูเลเล่ชื่อ “ริบบี บูติก” เขาใช้เงินลงทุนในหลักแสนเพื่อนำเข้าอูคูเลเล่ล็อตแรกราว 300 – 400 ตัว เพื่อทดลองตลาดด้วยแบรนด์ Kala เพียงแบรนด์เดียว ทว่าใช้งบส่วนตัวเป็น “หลักล้าน” เพื่อสร้างร้านในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ “เริ่มจากขายที่หน้าบ้านก่อนเพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าจะมีใครบ้าอูคูเลเล่เหมือนเราบ้าง จริงๆ แล้วคอนเทนเนอร์นี่ก็เป็นหนึ่งในมาร์เก็ตติ้งของเรา สื่อสนใจเยอะจนผมเริ่มได้ออกทีวี” อัษฎาท้าวความให้ฟัง

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาทำธุรกิจนี้ ไม่เพียงเพราะผูกผันกับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก หากแต่ยังสังเกตเห็นช่องว่างทางการตลาดอันเกิดจากการเทียบเคียงกับความต้องการของตัวเอง โดยฤกษ์ดีเกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว อัษฎาได้เดินทางไปญี่ปุ่น และเห็นร้านจำหน่ายอูคูเลเล่หลายร้าน จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะสามารถนำอูคูเลเล่เข้ามาขายในเมืองไทยได้ เพราะเดิมก็นำเข้ากีตาร์ไฟฟ้าและแอมป์มาจำหน่ายอยู่แล้ว หลังลาออกจากงานโบรกเกอร์

“ผมเห็นเครื่องดนตรีนี้มานานเป็นสิบปีแล้ว อยากเล่น แต่หาซื้อไม่ได้ ไม่มีใครขาย เคยคิดว่าขายเองเลยดีกว่า กีตาร์ไฟฟ้าตอนนี้ก็ยกให้เพื่อนขายไป ส่วนเราหันมาจับอูคูเลเล่เต็มตัว”

ด้านชื่อร้าน “ริบบี” นั้น เกิดจากการสมาสสนธิระหว่างชื่อเล่นของอัษฎาและภรรยาที่ชื่อริบบิ้น สอดคล้องกับโลโก้ของร้านที่เป็นรูปผึ้งผูกริบบิ้น “จริงๆ ผมไม่ได้ชื่อด่องนะ มันเป็นชื่อที่เพื่อนตั้ง แต่จะให้ตั้งชื่อว่าอูคูเลเล่ชอป (Akulele Shop) มันก็ฟังดูเชย ผมเป็นคนไม่ชอบชื่ออะไรที่มันขายของขนาดนั้น ชื่อริบบีมันฟังดูไม่มีความหมาย คนน่าจะจำได้มากกว่า” อัษฎากล่าวถึงอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้คนจดจำแบรนด์ในแบบของเขา

แต่แล้วการณ์ก็มิเป็นดังคาด เมื่อปรากฏว่าช่วงสามเดือนแรกนั้น อูคูเลเล่ขายได้เฉพาะกลุ่มคนที่เอาไปตกแต่งบ้าน ผับ และรีสอร์ต ซึ่งผิดไปจากกลุ่มเป้าหมายเดิมที่อัษฎาคาดไว้ เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการจัด “มีตติ้งคนเล่นอูคูเลเล่” รวบรวมแกนนำซึ่งเป็นสุดยอดผู้เล่นอูคูเลเล่จากที่ต่างๆ มาได้ราว 20 คน จากนั้นจึงชักชวนคนเหล่านี้มาร่วม “เวิร์คช็อป” เพื่อแนะนำอูคูเล่เล่ออกสู่สังคมในวงกว้างจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

การโฆษณาประชาสัมพันธ์อูคูเลเล่ในช่วงแรก อัษฎาเลือกใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คและการเปิดเว็บไซต์ร้าน www.ribbee.com เพื่อโชว์แค็ตตาล็อกสินค้า โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่เริ่มจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของตัวเองก่อนจะมีเฟซบุ๊กของ Ribbee เกิดการบอกต่อปากต่อปาก และเกิดเป็นคอมมิวนิตี้ออนไลน์ www.ukulele.net ที่ได้รับความนิยมมากๆ ในเวลาต่อมา

“เวิร์คช็อปแต่ละเดือน เราก็จะกำหนดโจทย์ขึ้นมา แนวแจ๊สบ้าง บลูบ้าง ฟรีหมด พอเวิร์คช็อปไปได้ซักระยะ คนเริ่มพูดถึงกันในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค เริ่มเห็นว่าคนมาเยอะขึ้นเป็นหลักร้อย เราเลยจัดประกวดเล่นอูคูเลเล่ขึ้นครั้งแรกในมีนาคม ปี 2553”

เสต็ปสอง : ลุลากับสิงโต นำโชค ช่วยนำชัย

แชมป์อูคูเลเล่ปีแรกตกเป็นของ “สิงโต-นำโชค” หนุ่มนักดนตรีนอกกระแสที่ชาวแฟตเรดิโอให้สมญาว่าเป็นเจ้าพ่อ Surf Music โดยขณะที่เข้าประกวดนั้น สิงโตกำลังอยู่ในช่วงเตรียมออกอัลบั้มเป็นศิลปิน อัษฎาจึงแนะนำให้สิงโตนำอูคูเลเล่ไปเล่นในอัลบั้มด้วย ปัจจุบัน สิงโตจึงโด่งดังเป็นอูคูเลเล่ไอดอลคนสำคัญของเมืองไทย โดยในเดือนกรกฎาคมปีนี้ อัษฎาได้วางแผนพาสิงโต-นำโชคในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยไปแสดงฝีมือที่ฮาวายในงาน Ukulele Festival ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“แล้วก็มีลุลาอีกคน โตน-วงโซฟาก็เป็นเพื่อนกับผม เลยแนะนำให้เอาอูคูเลเล่ไปเล่น นี่ก็เป็นช่วงนึงที่ทำให้คนรู้จักอูคูเลเล่กันก้าวกระโดด โดยที่เรายังไม่ได้ใช้ชื่อแบรนด์ของเราโดยตรง”

จากการจัดเวทีปั้นไอดอลอูคูเลเล่ อัษฎาก็เน้นการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการเล่นอูคูเลเล่เป็นเพลง เช่น แข่งตั้งสาย ศึกชิงแชมป์เจ้าอูคูเลเล่ทองคำ ประกวดบทความเกี่ยวกับอูคูเลเล่

ความนิยมนำมาสู่ก้าวต่อมาของร้านริบบี บูติก สาขาสอง ซึ่งเริ่มเปิดทำการที่สยามสแควร์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา “มีคนต้องการอูคูเลเล่เยอะ แต่บ้านเราอยู่ไกล คงต้องเข้ามาในเมืองแล้ว และคนขายฉาบฉวยก็มีเยอะ ตั้งสายยังไม่เป็น เล่นไม่เป็น แนะนำไม่ได้ จนเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้การล่ะ โปรโมตไปก็มีแต่ทำให้คนที่ขายฉาบฉวยได้ เราก็เลยเข้ามาขายในเมืองจริงๆ จังๆ ดีกว่า ตั้งใจมาเปิดร้านแถวๆ สยามฯ อยู่แล้ว” ในเวลาต่อมา อัษฎายังเปิดโรงเรียนสอนอูคูเลเล่ในคูหาติดกันตั้งแต่ช่วงสิ้นปีและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนปัจจุบันคอร์สเต็มยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม

อัษฎาเล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ช่วงที่นับว่าพีคที่สุดของชาวอูคูเลเล่ก็คือช่วงที่จัด “Thailand Ukulele Festival” เมื่อ 12-13 มีนาคม ซึ่งมีคนมาร่วมงานนับหลายพันคน และมีการชิงแชมป์อูคูเลเล่เป็นปีที่ 2

แกะคอร์ดความสำเร็จ

“โอเค กำไรที่ได้มามันก็พอให้ผมเอาไปจัดงานใหญ่ๆ ที่พารากอนได้ แล้วมันก็หมดไป” เขาเล่าถึงอูคูเลเล่เฟสติวัลครั้งที่ผ่านมาที่จัดร่วมกับ กทม. และสยามพารากอน “งานนี้หมดไปหลายล้าน แต่เมืองไทยยังไม่มีเครื่องดนตรีชนิดไหนที่จัดเฟสติวัลขึ้นมาได้ใหญ่เท่าเรา”

อูคูเลเล่เฟสติวัลในครั้งต่อไปมาเร็วกว่าที่คิด ด้วยโปรแกรมที่กำลังจะจัดในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่สวนเบญจสิริ โดยอัษฎายังคงเป็นผู้จัดร่วมกับ กทม. “คือจริงๆ กทม.อยากจัดในสวน แต่ว่าเมื่อเดือนมีนา มันไม่ทัน”

“สปอนเซอร์ผมหาเอง หาไม่ได้เราก็จ่ายไปก่อน คือแบล็กกราวนด์เรามี ไม่อยากทำอะไรฉาบฉวย ทุกอย่างที่ผมจัดฟรีมาตลอด ไม่มีเก็บเงินเลย คือช่วงนี้เป็นช่วงที่เราต้องให้ก่อน ที่เราทำทั้งหมดนี่ก็มุ่งหวังอย่างเดียวคือให้อูคูเลเล่มันอยู่ได้ในระยะยาว เหมือนญี่ปุ่นที่เขาขายมาตั้งแต่รุ่นปู่ เมื่อ 80 ปีที่แล้ว”

เขาเล่าว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่รู้จักอูคูเลเล่มาอย่างยาว เป็นสิ่งปกติเหมือนที่ฮาวายซึ่งอูคูเลเล่เป็นเครื่องดนตรีที่มีทุกบ้าน “คนฮาวาย เขาจะมาล้อมวงเล่นกันในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ เขารักวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่เหมือนคนไทย อูคูเลเล่มันไม่ใช่อะไรที่เทรนดี้เลยนะ แต่คนไทยดันทะลึ่งไม่สนใจมันก่อน เล่นระนาดแล้วรู้สึกว่าเชย แต่คนฮาวายเค้าเล่นอูคูเลเล่แล้วไม่ได้รู้สึกว่าเชย ไม่รู้ตอบถูกใจรึเปล่า คือผมไม่ค่อยการค้า”

ไม่แน่ใจว่าตอบได้ถูกใจคนอ่านหรือไม่ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือตอบโจทย์ถูกใจคนไทยอย่างแน่นอน ด้วยตัวเลขผู้ที่หันมาเล่นอูคูเลเล่ในเมืองไทยที่อัษฎาบอกว่ามีไม่ต่ำกว่าสองสามหมื่นคนชัวร์ๆ จากเดิมที่หาตัวจับได้เพียง 20 คน โดยลูกค้าของเขามีตั้งแต่เด็กวัยเลขเดี่ยวจนกระทั่งถึงวัยเกษียณ ที่น่าประหลาดใจคือส่วนใหญ่เป็น “ผู้หญิงทำงานวัยสามสิบต้นๆ” รวมถึง “ผู้หญิงหนุ่ม” โดยกลุ่มมีจำนวนมากถึง 60%

“เป็นสัดส่วนที่เหมือนกับทั่วโลกเลยครับ เพราะว่าช่วงที่เป็นวัยรุ่น พวกผู้หญิงไม่ประสบความสำเร็จในการเล่นกีตาร์ พอมาเจออูคูเลเล่แล้วเล่นได้ ก็เลยได้รับความนิยม ช่วงหลังๆ วัยรุ่นทั้งหญิงชายก็มีเยอะคิดเป็น 30% เพราะมันเป็นกระแส ส่วนอีก 10% เป็นเด็กและคนแก่ เพราะบางคนเขาบอกว่าเอาไว้เล่นกันอัลไซเมอร์”

ปัจจุบัน ร้านริบบีนำเข้าอูคูเลเล่ 20 กว่าแบรนด์มาจำหน่าย แบรนด์ยอดนิยมได้แก่ อนุยนุย ริบบี ปาป้า ลานี่ โดยที่ร้านตั้งราคาตั้งแต่ 1,400-140,000 บาท ส่วนในตลาดทั่วๆ ไปมีตั้งแต่ราคา 900 – 20,000 บาท โดยระดับราคาที่คนไทยสะดวกใจควักอยู่ในช่วง 1,000 – 5,000 บาท ทั้งนี้ รุ่นยอดนิยมที่มีเท่าไหร่ก็ขายเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว คือ “รุ่น U900” ของแบรนด์อนุยนุย (aNueNue แปลว่า สายรุ้ง)

“ก็เพราะเราขายถูกที่สุดในโลก แค่ 3,850 บาท อย่างฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี รุ่นนี้ขายตัวละ 5,000 บาท”

เมื่อถามถึงการตั้งราคาจำหน่าย อัษฎากล่าวว่า “เหมือนผมจะทำลายราคาคนอื่นซะส่วนใหญ่ เพราะผมขายราคาเดียวกับเมืองนอกหรือไม่ก็ขายถูกกว่า สมัยก่อนเครื่องดนตรีนำเข้าจะแพงกว่าราคาที่ต่างประเทศ แต่เรามาเปลี่ยนใหม่ให้มันเท่ากัน เพราะเราเป็นตัวแทนจำหน่าย เหมือนขายเครื่องแม็ค จะมาขายแพงกว่าก็ใช่เรื่อง เราไปทำลายกฎที่มันเคยมีอยู่ คนคงเกลียดเราเยอะเหมือนกัน เพราะสมัยก่อนมีคนขายของแบบเลวๆ ขายแพง ขายของที่เล่นไม่ได้ เสียงทึบ สายแย่ ยี่ห้อไม่มี มาถึงผมก็ขายยี่ห้อดีๆ ราคาสองสามพัน เรียกว่าไปทำลายตลาดเลวๆ ตอนนี้ทุกอย่างก็เริ่มมาตามหลักนี้แล้ว เริ่มขายกันที่สองพันบาท”

อูคูตัวเลเล่ตัวที่แพงที่สุดของร้านริบบี เป็นของ “Kamaka” แบรนด์จากฮาวายที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยอัษฎาเพิ่งเริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ จึงทำให้สินค้าล็อตแรกที่จะมาถึงในอีก 1-2 เดือนนี้ เขาสามารถวางขายในราคาที่ต่ำลง เริ่มต้นที่ 20,000 กว่าบาท จากราคาเดิมที่ขายอยู่ 35,000 บาท

และล่าสุด ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ตามมาซัพพอร์ตแบบรดต้นคอคนเล่นอูคูเลเล่ ก็มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคอร์สสอนอูคูเลเล่ของโรงเรียนสอนดนตรีก็เริ่มเปิดหลักสูตร เช่น KPN ที่มีผู้เรียนมาสมัครกันอย่างล้นหลาม ทั้งเด็กประถม วัยรุ่นวัยเรียน และคนทำงาน หรือกระทั่งแอสเซสซอรี่ต่างๆ ของอูคูเลเล่ที่เริ่มมีวางขายกันอย่างคึกคัก เช่น สายอูคูเลเล่ สายคล้องคอ กระเป๋าสะพาย ตัวห้อยกุ๊กกิ๊ก เครื่องเคาะจังหวะ

สายอูคูเลเล่มีหลายวัสดุ เช่น มีส่วนผสมจากไส้แกะ มีราคาตั้งแต่ 199-300 บาท แพงสุดเป็นเอ็นชนิดฟลูโอคาร์บอน

พนักงานขายของริบบีทุกคนต้องจบปริญญาตรี เอกดนตรี และต้องเล่นอูคูเลเล่ได้

ภาคต่อ : กำเนิดโลคอลอูคูเลเล่

หากให้บรรยายสภาพตลาดอูคูเลเล่ในตอนนี้ ก็ต้องบอกว่าในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูงมาก เริ่มมีผู้นำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่หนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจของอัษฎาที่ผลิตอูคูเลเล่โลคอลแบรนด์ที่มีชื่อเดียวกับร้าน โดยให้โรงงานของแบรนด์อนุยนุยที่เมืองจีนเป็นผู้ผลิตให้ แต่ใช้สเป็กซึ่งทางอัษฎาเป็นผู้กำหนด “ใช้ชื่อยี่ห้อว่าริบบีเลย นับว่าเสียงดีในราคาที่มันควรจะเป็น ผมขาย 2,000 บาท ปกติสเป็กแบบนี้มันจะต้อง 3,000 ขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีของไทยอีกหนึ่งแบรนด์ที่ใช้ชื่อว่า “P Kulele” ซึ่งผลิตเพียงเดือนละ 10 ตัวโดย “โนช” ทั้งนี้สั่งซื้อได้ผ่านเว็บของริบบีเช่นกัน “เขาทำให้คนไทย ราคาคนไทย ใช้ไม้ไทยร่วมด้วย เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะขาม ราคาเริ่มต้นสองสามพัน แต่ถ้าเป็นเมืองนอกนี่ขายเป็นหมื่น แบรนด์นี้ก็ขายดี ต้องต่อคิวกันซื้อเหมือนกัน”

อัษฎาบอกว่าแหล่งผลิตอูคูเลเล่ที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่ฮาวาย แต่เป็นที่จีน มีสินค้าทุกเกรด ส่วนที่ญี่ปุ่นเป็นแหล่งผลิตอูคูเล่เล่เกรดดีหมด ส่วนเมืองไทยก็ผลิตได้คุณภาพดี แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตในระดับแมส

นอกจากนี้ อัษฎายังให้ความเห็นว่า “ตอนนี้มีทั้งกลุ่มคนที่เล่นจริงๆ จังๆ และก็มีอีกส่วนที่เป็นกระแสซึ่งส่วนใหญ่มาจากวัยรุ่นเพราะเห็นศิลปินเล่น สื่อต่างๆ นำเสนอ โฆษณา มิวสิกวิดีโอ ฯลฯ ผมคุยกับบรรดาผู้ผลิตแล้วเราคาดกันว่ากระแสนี้น่าจะอยู่ถึงปลายปี 2555 เพราะ ณ วันนี้ มีศิลปินที่เพิ่งซื้อไปหัดเล่นเยอะ และน่าจะทยอยกันมีผลงานที่ใช้อูคูเลเล่ออกมากัน หลังจากนั้นก็น่าจะอยู่ไปได้เรื่อยๆ เหมือนกีตาร์ มีนักเล่นหน้าใหม่แต่ไม่ได้ถึงกับเฮโลมาต่อแถวซื้อเหมือนตอนนี้ ที่เกาหลีก็ฮิตขึ้นมาเหมือนกัน แต่ฮิตแบบปกติ ที่บ้าเป็นกระแสก็เฉพาะที่เมืองไทยนี่แหละครับ มีประเทศเดียวที่ต้องต่อคิวซื้อ !!”

อูคูเลเล่ไอดอลของไทย ศิลปินมืออาชีพที่ใช้อูคูเลเล่ในอัลบั้ม
ถ้าใส่รูปด้วยก็แจ่มเลยค่ะ สีน้ำ, แป้งโกะ , นท เดอะสตาร์ 7, ครูน็อต เคพีเอ็น ฯลฯ ลุลา, เอก ชะเอม และ สิงโต-นำโชค

Jake Shimabukuro ชาวฮาวายเชื้อสายญี่ปุ่น เป็นอูคูเลเล่ไอดอลอันดับหนึ่งของโลกยูทูบ ส่วนคลิปเพลง I’m yours ของเด็กอนุบาลชาวญี่ปุ่นก็ทำให้คนไทยรู้จักอุคูเลเล่อย่างกว้างขวาง

“Uke” เป็นนิกเนมของ Ukulele คนไทยอ่านออกเสียง “อู๊ค” อันที่จริงภาษาฮาวายอ่านว่า “ยู๊ค”

Key Success กระแสอูคูเลเล่
หนึ่ง เล่นเป็นได้เร็วตั้งแต่ครั้งแรกที่จับ ไม่เจ็บนิ้ว คอกีตาร์เล็ก มีสายแค่สี่เส้น สายเปล่าก็เป็นคอร์ดได้
สอง ราคาเริ่มต้นที่ไม่แพง ราคาถูกพอๆ กับกีตาร์ทั่วไป มีช่วงราคาหลากหลาย
สาม พกพาสะดวก เสมือนเป็นแอสเซสซอรี่ชนิดหนึ่ง
สี่ ถือ เล่น สะพายแล้วให้ภาพลักษณ์ที่ดี ด้วยรูปแบบที่มีให้เลือก มากมาย ไม่ว่าจะแบบดูชิคเหมาะกับคนเก๋ๆ ไฮโซน่ารักแบบคุณหนู ดูเป็นหนุ่มสาวเท่ๆ
ห้า สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่ให้เวลาและความสนใจกับโซเชี่ยลมีเดีย เช่น ยูทูบ กล้าโชว์ได้ กล้าแสดงออก ชอบเผยแพร่และส่งต่อ
หก เกิดไอดอลในยูทูบอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เป็นสาวๆ หน้าตาดี รวมถึงมีไอดอลในโลกออฟไลน์ที่หันมาเล่นอูคูเลเล่ให้เห็นผ่านโซเชี่ยลมีเดียเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งทำให้เห็นว่าอูคูเลเล่เล่นง่าย ใครๆ ก็เล่นได้และดูดี
เจ็ด มีกิจกรรมที่รองรับกระแสขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดประกวดต่างๆ ทำให้กระแสไม่หายไปโดยเร็ว